Digital Centrality (1)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

กลุ่มเซ็นทรัล กับยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้ชื่อข้างต้น เป็นโมเดลซึ่งดำเนินไปอย่างคึกคัก เป็นบทเรียนทางธุรกิจที่ควรติดตาม กลุ่มเซ็นทรัล เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอาเชียน ภายใต้การนำของธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 3 โดย ทศ จิราธิวัฒน์ ได้จุดกระแสที่น่าตื่นเต้น ประกาศยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งใหญ่ ครั้งใหม่ ภายใต้ชื่อ Digital Centrality ขึ้นอย่างเป็นการ เป็นงานครั้งแรกเมื่อประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา (จากการแถลงข่าวประจำปี ปรากฏใน www.centralgroup.com เป็นประเด็นสำคัญในหัวข้อ -กลุ่มเซ็นทรัลประกาศศักยภาพความยิ่งใหญ่ นำทัพขยายการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เมื่อ 2 มีนาคม 2560) จากนั้นได้ตามมาด้วย ความพยายามในแผนการขยับปรับเปลี่ยนอันกระฉับกระชั้นอย่างน่าสนใจมาก ๆ

ผมเองเป็นคนหนึ่งได้ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มเซ็นทรัลอย่างต่อเนื่อง เคยนำเสนอแผนการเกี่ยวข้องของกลุ่มเซ็นทรัลมาบ้าง ก่อนหน้านั้น (ข้อเขียนเรื่อง “ลมหายใจค้าปลีก Online Shopping (3)” ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม 2559) และแล้วหลังจากนั้นไม่ถึงปี เมื่อแผนการใหม่-Digital Centrality เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นต้อง update เรื่องราวอีกครั้ง อันเนื่องมาจากกลุ่มเซ็นทรัลได้ปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างมากมายพอสมควร

“ปี 2558 เป็นจุดตั้งต้นสำคัญ ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลออนไลน์ (Central Online Group) ขึ้นมาใหม่ มีฐานะเป็น 1 ใน 9 ธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล โดยมีบริษัทแห่งหนึ่งเป็นแกน–บริษัทออฟฟิตเมท (ก่อตั้งปี 2537 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัทรัพย์ฯ เมื่อปี 2553) ได้เปลียนชื่อมาเป็น บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ในเวลาเดียวกัน พร้อมกันนั้น ได้เปิดบริการค้าปลีกออนไลน์ภายใต้แบรนด์อันเป็นตำนานสำคัญ—www.central.co.th” เรื่องราวที่เคยนำเสนอไว้ข้างต้น (จากเรื่อง “ลมหายใจค้าปลีก Online Shopping (3)”) มาบัดนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม

Advertisment

กลุ่มธุรกิจใหม่ข้างต้น เคยเรียกว่ากลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลออนไลน์ ได้เปลี่ยนชื่อไปแล้วเป็น กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ (อ้างจาก www.centralgroup.com) ทั้งนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาท บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ไปจากแผนการเดิมมากทีเดียว เป็นผลจริงจัง มาจากดีลสำคัญที่เกิดขึ้น เมื่อกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านมา

“ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 มีมติอนุมัติจำหน่ายหุ้นสามัญในบริษัท เซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ

Advertisment

บริษัท ตามแผนการดำเนินงานของบริษัทที่ได้มีการชี้แจงในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เรื่องยุติ ดำเนินธุรกิจออนไลน์แบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C : Business to Customer)…” สาระสำคัญในหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯของซีโอแอล กล่าวถึงดีลสำคัญซึ่งมีขึ้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 โดยระบุผู้ซื้อ คือบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ จำกัด (บริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัล) ด้วยราคาประมาณ 22.72 ล้านบาท

ภาพปรากฏชัดขึ้นมากขึ้น ต่อจากนั้น (อ้างจากข้อมูลนำเสนอ COL Opportunity Day 2Q 2017 ณ The Stock Exchange of Thailand เมื่อ 6 กันยายน 2560) ซีโอแอลกล่าวถึงแผนการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจสำคัญ ด้วยการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทเซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น ซึ่งซีโอแอลถือหุ้น 99.99% ซึ่งมีผลต่อเนื่องมายังบริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด ด้วย ในฐานะที่บริษัทเซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น ถือหุ้นอยู่ 49% ทั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการโอนธุรกิจ online shopping คืนไปให้กลุ่มเซ็นทรัล และซีโอแอลได้ยุติบทบาทดูแล online shopping websites โดยเฉพาะ www.central.co.th ไปแล้วตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2560

ดีลข้างต้น มีผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปสู่ดีลสำคัญอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับบทบาทบริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์

“บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท (ถือหุ้นร้อยละ 49) และบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ จำกัด (ถือหุ้นร้อยละ 51) แจ้งว่าได้ทำการซื้อกิจการบริษัท ซาโลร่า (ประเทศไทย) จำกัด ในอัตราร้อยละ 100”

ดีลสำคัญซึ่งซีโอแอลเคยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯไว้เมื่อปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2559) ซึ่งเป็นดีลมีความลึกลับพอประมาณ

“บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด แจ้งว่า ไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าการซื้อกิจการได้เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงในสัญญาซื้อขาย โดยการครอบครองกิจการครั้งนี้บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด จะได้รับสิทธิทั้งหมดในการควบคุมและดำเนินกิจการของบริษัท ซาโลร่า (ประเทศไทย) จำกัด” (เอกสารอีกฉบับหนึ่งที่ซีโอแอลแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น)

Zalora กิจกรรมในเครือ Global Fashion Group บุกเบิกโดย Kinnevik แห่งสวีเดน และ Rocket Internet แห่งเยอรมนี สำนักงานอยู่ที่ Luxemburg บุกเบิกเครือข่ายธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่นออนไลน์ในภูมิภาคที่เรียกว่า Emerging market โดย Zalora เป็นชื่อที่ใช้เฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ได้เปิดบริการอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2555 ทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไทย

ดังนั้นบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ จำกัด ในฐานะเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทใหม่เป็นเจ้าของกิจการ online shopping ทั้งบริษัทเซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น (รวมทั้ง www.central.co.th) และบริษัทซาโลร่า (ประเทศไทย) (รวมทั้ง ww.zalora.co.th) ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทซาโลร่า (ประเทศไทย) มาอยู่ภายใต้เครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัลไม่นาน ได้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นก่อนหน้าดีลข้างต้นเสียอีก (4 พฤษภาคม 2560) โดยได้ปรับเปลี่ยนชื่อ (Rebranding) จาก Zalora Thailand เป็น LOOKSI (จาก www.zalora.co.th เป็น www.looksi.com)

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองห้างเซ็นทรัล ฉลองครบรอบ 70 ปี ได้มีการกล่าวถึงแผนการ “ไร้รอยต่อกับประสบการณ์ช็อปปิ้ง 24 ชม.” ให้ความสำคัญทั้งเว็บไซต์ www.central.co.th และแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ (แอปพลิเคชั่น Central Official ปรับปรุงใหม่ ผู้ใช้สามารถอัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับสินค้า โปรโมชั่น ฯลฯ จำแนกตามเพศของผู้ใช้งาน รวมถึงดาวน์โหลด e-Coupon) “ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างประสบการณ์ช็อปปิ้งในห้างและการช็อปปิ้งออนไลน์ผสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน (Omni channel)” (70 ปี ห้างเซ็นทรัล ชูธง “ผู้นำห้างระดับเวิลด์คลาส” …ด้วยประสบการณ์ช็อปปิ้ง บุกทุกช่องทาง …12 กรกฎาคม 2560)

และแล้วความเคลื่อนไหวก้าวใหญ่ ๆ อีกก้าวตามมา กลุ่มเซ็นทรัลแถลงความร่วมมือ กับ JD.com เครือข่ายธุรกิจการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่ใหญ่ที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งกิจการฟินเทค (fintech) ในเครือข่ายด้วย (JD Finance) ถือเป็นโครงการร่วมลงทุนครั้งใหญ่กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างจากกลุ่มเซ็นทรัลประกาศร่วมทุนกับ บ.ยักษ์ใหญ่ JD.com และ JD Finance มุ่งสู่ความเป็นผู้นำตลาดออนไลน์ของประเทศไทย 15 กันยายน 2560 –www.centralgroup.com)

JD.com เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของจีนแผ่นดินใหญ่ เติบโตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ (ก่อตั้งเมื่อปี 2541) จนสามารถเข้าตลาดหุ้น NASDAQ สหรัฐ (ปี2557) ถือว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโลก (ถูกจัดอยู่ใน Fortune Global 500) ไปแล้ว

ในเอกสารแถลงข่าวนั้น กลุ่มเซ็นทรัลได้กล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญที่น่าสนใจ ไม่ว่า “ความแข็งแกร่งในด้านธุรกิจค้าปลีก (Physical stores network)” เน้นย้ำอีกครั้งถึงแผนการหลอมรวมเข้ากับระบบออนไลน์ที่เรียกว่า Omni channel รวมถึงแผนการพัฒนา “ระบบการชำระเงินที่สะดวกขึ้น ด้วยทางเลือกที่หลากหลาย” กับ “ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับวงการค้าปลีกจากฐานลูกค้า The 1 card” ควรแก่อรรถาธิบาย ขยายความ เพิ่มเติมเป็นอย่างยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง