จดหมายแห่งอนาคต (ฉบับสุดท้าย) ยุทธศาสตร์ชาติในโลกใบใหม่

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

เราได้คุยกันถึงการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสมัยของพ่อ ตามจดหมายที่พ่อเขียนมา 25 ฉบับแล้ว แต่ยังมีคำถามที่พ่อคิดอยู่ตลอด และคนรุ่นพ่อต้องพยายามตอบให้ได้ก็คือ ในโลกที่กำลังพลิกผันเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ เราควรจะ “ปั้น” อนาคตของประเทศไทยอย่างไร ? เพื่อวันที่ลูกอ่านจดหมายนี้ ลูกถึงจะสามารถพูดได้ว่าคนรุ่นพ่อได้ช่วยปูทางสู่อนาคตที่ดีไว้ให้เรา

คำตอบก็คือ ตัวพ่อเองก็ยังไม่มีคำตอบ และคิดว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง เราต้องยอมรับว่าการจะคาดการณ์อนาคตไปไกลถึง 10-20 ปีข้างหน้านั้นเป็นเรื่องยากมาก สิ่งที่เรารู้มีบ้างแต่น้อย สิ่งที่ไม่รู้มีมากและบางครั้งเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง เราจึงจำเป็นต้องมี “ยุทธศาสตร์” ไม่ใช่ “แผน” ที่ปรับได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

จากความรู้และความไม่รู้ของพ่อในวันที่เขียนจดหมายนี้ คิดว่ายุทธศาสตร์ของประเทศควรตั้งอยู่บนหลักการกว้าง ๆ 3 ข้อ

1.cooperation and coordination ร่วมกันทำคือสร้าง แย่งกันทำคือทำลาย

ถือเป็นข้อแรกเกี่ยวกับการลงมือปฏิบัติ เพราะไม่ว่าแผนจะสวยงามบนกระดาษแค่ไหน สุดท้ายก็อยู่ที่การลงมือทำ และเมื่อต้องลงมือทำก็ต้องมีการร่วมมือ สื่อสาร ประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ถึงจะปั้นและสร้างนโยบายบนกระดาษให้ขึ้นมาเป็นรูปร่างได้ นี่เป็นเรื่องที่ฟังดูง่าย แต่ความจริงแล้วยากมากในทุกองค์กร

แต่ยิ่งหนักในระดับนโยบายของประเทศ เพราะบ่อยครั้งสิ่งที่เราจะเห็นคือ “C” ผิดตัว คือ เราต้องการ coordination และ cooperation แต่มักจะได้ (unproductive) competition คือ ทั้งคนและหน่วยงาน ต่างคนต่างทำ ไม่สื่อสารกัน ไม่ประสานงาน และดีไม่ดี แข่งกันเอง แย่งกันเด่น

ผลก็คือ มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันแต่ขาดความสมบูรณ์ เสมือนได้บ้านที่มีห้องรับแขกมาหลายห้องแต่ไม่มีห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน เป็นบ้านที่ตั้งโชว์ได้อย่างสวยงาม แต่เข้าไปอยู่จริงไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน ทางออกของปัญหานี้ก็ไม่ใช่การกระโดดเข้าหาการรวมศูนย์อำนาจ หรือ centralisation เพราะการรวมศูนย์นั้นเสี่ยงต่อการเกิดการผูกขาดทางความคิด ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติและการลงมือทำตามมา เพราะพอสั่งงานลงมาจากศูนย์อำนาจ แต่ละหน่วยงานราชการก็ต่างคนต่างทำเช่นเดิม เสมือนแทนที่จะมีหลายหมอให้ความเห็นกัน ก่อนส่งต่อให้อีกหนึ่งทีมลงมือรักษาติดตามผล กลายเป็นว่ามีหมอคนเดียววินิจฉัยโรค แล้วมีหมอผ่าตัดหลายคนยืนออแย่งกันทำการผ่าตัดไปกันคนละทิศละทาง

แนวทางที่ดีกว่า คือ อาจมีหน่วยงานกลางที่มีกำลังคนเพียงพอขึ้นตรงกับตัวนายกรัฐมนตรี คอยติดตามเก็บข้อมูล ทำการประเมินผลว่าการดำเนินนโยบายเป็นไปตามแผนหรือไม่ ติดที่ใด และมีการศึกษาผลกระทบของนโยบายว่าออกมาตามที่คาดไว้หรือไม่ อย่างไร โดยควรมีการประกาศผลการศึกษาออกมาให้ภาคประชาชนได้ทราบพร้อมกับเปิดรับข้อเสนอแนะ

2.open eyes, open mind คือ การเปิดตาดูโลกความจริง เปิดฟังความคิดที่แตกต่าง

ถือเป็นหัวใจของการอยู่รอดในโลกที่มีทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความกำกวม (มักเรียกย่อว่า VUCA) การปฏิบัติการลงมือทำให้นโยบายเดินหน้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากเดินหน้าไปผิดทางแล้วไม่รู้ตัว อาจยิ่งเสมือนถอยหลังลงคลอง สมัยพ่อมีสูตรหนึ่งที่มักได้ยินกันบ่อย ๆ ในกลุ่มเทคโนโลยีว่าให้ fail fast, learn faster คือ ลองทำเร็ว ล้มเร็ว เรียนรู้เร็วยิ่งกว่า แต่การจะรู้ได้ว่าเรากำลังทำผิดอย่างไร ก็ต้องมีสองปัจจัยที่สำคัญ

ปัจจัยแรก คือ data ข้อมูลการประเมินผลว่านโยบายเรากำลังได้ผลที่ต้องการหรือไม่ เช่น “อยากลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แต่เมื่อได้ลงมือทำจริงแล้ว ครูได้ใช้เวลานั้นไปช่วยเพิ่มความรู้เด็กจริงไหม ? อยากให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย แล้วการลงทุนจากต่างประเทศมาจริงไหม อย่างไร

การลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือลงทะเบียนคนจนนั้น มีคนไม่จนหลงเข้ามาและมีคนรายได้น้อยจริงตกหล่นไปมากแค่ไหน เรามีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยที่น่าเชื่อถือพอที่จะนำมาใช้กับนโยบายได้หรือยัง วิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยพัฒนาฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ คือ เปิดให้คนได้เข้าไปลองใช้ เข้าไปศึกษา เพื่อหาทางช่วยกันพัฒนาข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจัยที่สอง คือ การเปิดใจยอมรับผิดและปรับปรุง การหาและเปิด data ว่ายากแล้ว พ่อว่าข้อนี้ยิ่งยากกว่า เพราะยิ่งคนเก่งยิ่งเป็นระดับหัวหน้า ยิ่งอาจมี ego สูง จะยอมรับผิด ยอมเสียหน้า ย่อมเป็นเรื่องยาก แต่นี่เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในยุคของ VUCA เพราะไม่มีใครที่จะมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องหมดตั้งแต่เริ่ม การยอมรับว่าบางนโยบายอาจผิดพลาดแล้วให้ปรับปรุงหรือเปลี่ยนทางเดินใหม่ได้อย่างยืดหยุ่นและว่องไวนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

3.resilience ล้มแล้วต้องลุกได้

ข้อสามพ่อว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและขาดไม่ได้ที่สุด คือ เรื่องของการมี resilience ซึ่งขอแปลแบบไม่ตรงตัว ว่า คือ ภูมิคุ้มกันหรือความสามารถในการลุกขึ้นยืนใหม่หลังล้มลงไป แม้เราจะมีข้อสอง คือ เรียนจากความผิดพลาดไปแล้ว แต่หากประเทศหรือบางส่วนของสังคมไม่สามารถลุกขึ้นยืนใหม่หลังจากที่ล้มลงได้ เราก็ติดหล่มไปต่อไม่ได้ ทั้งนี้ เรื่องของ resilience ของประเทศนั้นมีหลายมิติ แต่ที่พ่อสนใจและให้ความสำคัญที่สุด คือ เรื่องของ “คน” ซึ่งผูกกับเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่าง สมมติเราเดินหน้าในนโยบายพัฒนาขีดความสามารถทางด้านอุตสาหกรรมสำเร็จ แต่ผลที่ตามมา คือ เราต้องลดคน ใช้หุ่นยนต์แทนที่แรงงานจำนวนมาก เพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีโลก หากคนเหล่านี้ “ถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลา” เฉย ๆ ไม่สามารถปรับตัวและหางานในโลกใหม่ได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปัญหาสังคม ถึงวันนั้น แม้ว่ารัฐบาลอาจจะรู้ตัวว่าต้องปรับนโยบาย ก็อาจจะทำได้ยากในสภาวะที่กระแสสังคมและการเมืองตึงเครียดและไม่มั่นคง

พ่อเพิ่งได้ไปคุยกับคนที่เคยเป็นหัวหน้า center for future ready graduates ของมหาวิทยาลัย NUS ที่สิงคโปร์ มีหน้าที่ฝึกและพัฒนานักศึกษาให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต ประเด็นที่น่าสนใจมากก็คือ การศึกษาของเขาพบว่าการขาดทักษะใหม่ ๆ นั้นเป็นเพียงแค่ 20% ของปัญหา อีก 80% เป็นเรื่องของ mindset หรือทัศนคติและมุมมองโลก คนจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง การที่ต้องออกจากสิ่งที่ตัวเองคุ้น การที่ต้องเริ่มต้นใหม่เมื่ออายุมากแล้ว

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือระบบโค้ชและพี่เลี้ยงที่สามารถให้การสนับสนุนได้ทั้งในเรื่องจิตใจและการปรับมุมมองชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่จำเป็นอย่างมาก

เน้น CORe เตรียมพร้อมอนาคต

ในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่ว่ายุทธศาสตร์ชาติจะหน้าตาเป็นเช่นไร พ่อมองว่าจะขาดสามหลักการที่ย่อง่าย ๆ ว่า CORe (cooperation, open mind, resilience) นี้ไปไม่ได้ ที่สำคัญ คือ หลักสามข้อนี้ไม่ใช่แค่ใช้ได้ในระดับชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้แม้แต่กับตัวเราเอง cooperation เตือนให้เราไม่ลืมความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ที่นอกจากจะทำให้เรามีพลังมากขึ้นหลายเท่าแล้ว ยังทำให้งานสนุกขึ้นด้วย open eyes and open mind เตือนให้เรามี “สติ” เปิดตาดูโลกความเป็นจริง เปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา และ resilience ทำให้เราลุกขึ้นได้ทุกครั้งที่ล้มและกลับมาเดินหน้าได้แกร่งกว่าเดิม นี่คือหลักในการดำเนินชีวิตของพ่อด้วยเช่นกัน

วันนี้พ่อขอจบจดหมายแห่งอนาคตไว้ที่ฉบับนี้ แต่ขอเตือนว่าแม้จดหมายนี้คือฉบับสุดท้าย แต่อาจไม่ใช่ “เวอร์ชั่น” สุดท้าย เมื่อโลกเปลี่ยน พ่อคงเรียนรู้อะไรที่แตกต่าง และอาจเขียนจดหมายถึงลูกใหม่

จนถึงวันนั้น…ขอให้อยู่ในปัจจุบันและสนุกกับอนาคต

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”