จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกชายของพ่อ อย่างที่พ่อบอกลูกไปแล้วก่อนหน้านี้ในจดหมายฉบับที่แล้ว วันที่ลูกอ่านจดหมายของพ่อ-พ่อคิดว่าโลกคงเปลี่ยนไปมากแล้วจริง ๆ พ่อยังขอย้ำว่าการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น พอยิ่งวาดภาพอนาคต พ่อก็ยิ่งอดหันกลับมาถามตัวเองไม่ได้ว่า เราควรจะ ลงทุนอย่างไรกับการศึกษาเพื่ออนาคตของลูก ซึ่งเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตของพ่อเลยก็ว่าได้ และที่ยิ่งต้องใคร่ครวญให้หนักก็คือ โลกอนาคตที่ว่า เป็นโลกอนาคตที่ ถูกปฏิวัติด้วยเทคโนโลยี

อย่างที่พ่อบอกลูกไปในจดหมายฉบับที่แล้วว่า ที่จริงแล้วขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของประเทศไทยเราแต่เดิม มีการบ่มเพาะอุปนิสัยและทักษะพฤติกรรมที่กลายมาเป็น “จุดแข็ง” ของเราได้ในยุคใหม่ เช่น ความมีน้ำใจ ความกตัญญู และอิทธิบาทสี่ ที่มีเรื่องของ “ความวิริยะอุตสาหะ” หรือ Grit ที่ทางตะวันตกกำลังมองว่าเป็น “หัวใจสำคัญ” สู่ความสำเร็จในชีวิตของคน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นมรดกตกทอดที่ดีที่เรายิ่งควรจะรักษาไว้

อีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวพันกันและลูกจะต้องรู้คือการเตรียมความพร้อมสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือLifeLongLearning ในอนาคตการแพทย์ที่พัฒนาไปไกลจะทำให้เรามีอายุยืนยาวขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรวดเร็วและบ่อยครั้ง อาจทำให้อายุการทำงานของเราในแต่ละแห่งสั้นลง

คนในยุคของลูกอาจต้องเปลี่ยนอาชีพหลายครั้งในชีวิตแม้จะประสบความสำเร็จได้ดีในแต่ละอาชีพนั้นๆก็ตามลูกอาจต้องกลับไปเรียนหนังสือใหม่เพื่อนำทักษะใหม่ๆ มาใช้ประกอบอาชีพใหม่อีกหลายรอบ

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของพ่อเอง สิ่งที่ยากที่สุดในการกลับไปเรียนใหม่ในสิ่งที่เราไม่คุ้นในยุคปัจจุบันนั้น ไม่ใช่การ “ไม่มีที่เรียน” หรือ “เวลาเรียน” เพราะเทคโนโลยีเองก็มาช่วยในเรื่องการเข้าถึงการศึกษาได้มาก การเกิดขึ้นของ Massive Online Open Course หรือ MOOC เช่น Coursera edx Udacity หรือตามมหาวิทยาลัยระดับท็อปอย่าง Harvard หรือ MIT ทำให้เราสามารถเข้าไปเรียนออนไลน์ได้ฟรี หรือในราคาถูก และมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งเหมาะกับวัยทำงาน

สถิติปัจจุบันบ่งบอกว่า มีคนกว่า 56 ล้านคนได้เคยเรียนคอร์สออนไลน์เกือบจะทุกสาขาวิชาครอบคลุมกว่า 7,000 วิชา แต่อุปสรรคที่แท้จริงของการเรียนตลอดชีพ คือ Mindset หรือวิถีความคิดของเรา เช่น การขาดแรงกระตุ้นที่จะอยากเรียนรู้ ความที่ไม่อยากทิ้งสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ไม่อยากรื้อจุดอ่อน ไม่อยากเริ่มใหม่จากศูนย์ ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการที่จะทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดขึ้นได้ การมี EQ ที่ดี มีความใฝ่อยากเรียนรู้ มองโลกเป็น ลดอัตตาตัวเองได้ จึงเป็นก้าวแรกที่จำเป็นอย่างมาก

การศึกษาช่วงปฐมวัย (Early Childhood Education) คือหัวใจ แต่การบ่มทักษะพฤติกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของยุคแห่งเทคโนโลยีนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำแต่เด็ก เริ่มจากที่บ้านและการศึกษาช่วงปฐมวัยที่ดี การศึกษาทางวิชาการหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การลงทุนด้านการศึกษาช่วงปฐมวัยให้ผลตอบแทนที่สูงมากต่อทั้งตัวผู้เรียนและผลพลอยได้ต่อสังคม

การศึกษาที่มีชื่อเสียงมากชิ้นหนึ่งคืองานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลJamesHeckmanที่ศึกษาโครงการพัฒนาเด็กประถมวัยในรัฐมิชิแกนที่ชื่อ Perry Preschool โดยติดตามนักเรียนที่ผ่านโครงการ กับกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกันแต่ไม่ได้เข้าโครงการ มาเป็นเวลาประมาณ 30 กว่าปี แล้วเทียบผลความแตกต่าง ได้ค้นพบว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงมากต่อผู้ร่วมโครงการและสังคม คือ ลงไป 1 เหรียญจะได้คืนมา 7-12 เหรียญ หรือคิดเป็น IRR (Internal Rate of Return) ประมาณปีละ 10%

ที่น่าสนใจก็คือ ผลที่ได้นั้นไม่ใช่แค่ในเรื่องของการพัฒนาทักษะสติปัญญา แต่ยังมีผลดีในระยะยาวที่เกิดขึ้นกับทักษะพฤติกรรมที่ได้กล่าวในข้างต้นกับเด็กที่ได้ร่วมในโครงการ โดย EQ ที่ดีขึ้นนี้มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่กับเจ้าตัวเท่านั้น แต่มีผลดีทางอ้อมมาสู่สังคมอีกด้วย

พ่อไม่ได้อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนเพื่อกวดวิชาเก่งเลขตั้งแต่เด็กเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยดีๆแต่พ่อเชื่อในการให้ลูกได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยพัฒนาทักษะพฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนแท้จริงแล้วขนาดสิงคโปร์เองที่ได้คะแนนสอบ PISA ระดับท็อปของโลกมาตลอด ก็กำลังพยายามอย่างมากที่จะ “ละลาย” แนวคิด ที่ยึดถือแต่คะแนนและผลการเรียนเป็นหลัก เพื่อที่จะหยุดการวัดความสามารถของคนในมิติเดียว

เพราะเขาเองก็คิดได้ว่า คนที่จะเจริญก้าวหน้าได้ในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือยุค 4.0 (ซึ่งคนละเรื่องกับประเทศไทย 4.0 ที่เราได้ยินบ่อย ๆ) จะต้องมีหลายมิติ ทั้งทักษะด้าน STEM เพื่อสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้ และทางด้าน EQ ที่จะเติมเต็มส่วนที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ไม่ได้

ที่สิงคโปร์เองมีโรงเรียนสำหรับเด็กช่วงปฐมวัยที่ดีหลายแห่งเช่นโรงเรียนที่ลูกเคยเรียนก็ใช้วิธีของเรกจิโอเอมิเลีย (Reggio Emilia) ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้จากการกระทำจริง ประสบการณ์จริง สานต่อความสนใจของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไปผ่านการทำโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ด้วยกันเป็นกลุ่ม มากกว่าเน้นให้ได้เนื้อหาในตำรา

กว่าลูกจะโตจนได้อ่านจดหมายนี้ ระบบการศึกษาคงเปลี่ยนไปมาก บ้านเราพูดกันบ่อยเรื่องปฏิรูปการศึกษาของไทย แต่พ่อคิดว่าการศึกษาไทยอาจต้องถูกเปลี่ยนมากกว่านั้น “เป็นการปฏิวัติมากกว่าแค่การปฏิรูป” และการให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านการศึกษาระดับปฐมวัยคงจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

แล้วลูกเห็นอย่างไรอนาคตเป็นอย่างที่พ่อคาดไว้บ้างไหม?