การเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์ จากเชื้อเพลิงสู่รถยนต์ไฟฟ้า

charging-stations
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในวงการรถยนต์กำลังสร้างความน่าตื่นเต้นในหมู่ผู้บริโภคและธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์ไปทั่วโลก ซึ่งผมคาดว่าคงจะมีหลาย ๆ ท่านที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้และคงจะเริ่มมีการวางแผนที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับการใช้งานเป็นรถคันที่ 2 และเมื่อยี่ห้อรถยนต์จากประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ บริษัทในวงการต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้

ยี่ห้อรถยนต์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Toyota กำลังต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ผู้บริโภคต้องการ ทั้งนี้รถยนต์ไฟฟ้าของ Toyota ไม่สามารถที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาสู้แข่งได้ทันในตลาดและยังไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คาดหวัง อาจเป็นเพราะขาดความหลากหลายหรือเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทันสมัยเท่ากับคู่แข่งการตัดสินใจของ Toyota ที่จะเลื่อนไปในทิศทางของรถยนต์ไฮโดรเจนอาจเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลง

ทาง Toyota ประกาศออกมาว่าจะข้ามขั้นของรถยนต์ไฟฟ้าไปเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจน ที่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดอย่างมาก เมื่อไฮโดรเจนเชื่อมต่อกับออกซิเจนในเซลล์เชื้อเพลิง มันจะสร้างไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลลัพธ์จากกระบวนการนี้คือน้ำ (H2O) ที่ไม่มีก๊าซที่เป็นปัญหาต่อสภาพอากาศ

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทาง BMW ก็มีการประกาศออกมาว่าจะมุ่งสู่การพัฒนารถที่ใช้ไฮโดรเจนเช่นเดียวกัน ทั้งยังแสดงถึงการทุ่มเทของบริษัทในการพัฒนาแหล่งพลังงานที่สะอาด จะเห็นได้ว่าการแข่งขันในตลาดรถยนต์ยุคปัจจุบันนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของการขับเคลื่อนเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนและไม่สร้างผลกระทบให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นรถไฮโดรเจนหรือรถไฟฟ้าต่างก็มีความสามารถในการลดการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเมื่อเทียบกับรถที่ใช้เชื้อเพลิง การเลือกใช้รถไฮโดรเจนหรือรถไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของผู้ใช้งานและพื้นที่ที่ใช้บริการ แต่จุดประสงค์หลักของคนที่เลือกใช้รถยนต์ประเภทนี้เป้าหมายหลักผมมองว่า คือต้องการจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมัน เพราะค่าไฟถูกกว่าค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

ผมจะมาพูดถึงยอดจองรถยนต์ EV ในประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมามีการขายไป 13,314 คัน อันดับ 1) BYD Dolphin 3,175 คัน อันดับ 2) BYD Seal 3,008 คัน อันดับ 3) Neta V 2,013 คัน อันดับ 4) BYD Atto 3 1,592 คัน อันดับ 5) MG 4 Electric 1,007 คัน

จากยอดด้านบนนั้นคุณจะสามารถเห็นได้ว่ายอดจองรถยนต์ EV ที่มีการเพิ่มขึ้นในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาสามารถบ่งบอกถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภค เพราะมีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

สุดท้ายนี้ หากใครที่ยังตัดสินใจไม่ได้และมีความลังเลกับการจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ผมแนะนำว่าให้คุณลองโดยการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า EV มาขับก่อนสักครั้ง โดยปัจจุบันก็มีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ให้คุณเช่ารถ EV ไปใช้งานได้ เช่น แอปพลิเคชั่น EVme คุณสามารถเลือกเช่ายี่ห้อรถที่คุณชอบเพื่อดูว่ารถไฟฟ้าในรุ่นที่คุณชอบนั้นมีความเหมาะสมกับการใช้งานของคุณหรือไม่ อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็สามารถเพิ่มทางเลือกที่จะช่วยในการตัดสินใจให้กับเราได้