เปิดประวัติ “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด ว่าความ 19 ปี กล้าท้าชนชูวิทย์

ประวัติ ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด
ภาพจากเพจ ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ

เปิดประวัติ ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายคดีดัง หนุ่มไฟแรงมากความสามารถ ผู้ท้ากล้าชนชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

วันที่ 27 มีนาคม 2566 ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักกับ ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายที่มีชื่อเสียงมีกระแสให้ได้ติดตามอยู่ตลอด เขามักจะปรากฏตัว-และชื่อ อยู่ในคดีใหญ่ คดีดัง ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เคยว่าความให้ประชาชาชน ก่อนจะมีชื่อเสียงในคดีดังทั้งในโลกโซเชียล และคลุกวงในกระบวนการยุติธรรม

ทนายษิทรา กระโดดเข้าเป็นทนายในคดีใครเป็นเจ้าของหวย 30 ล้านบาท ที่อยู่ในหน้าสื่อต่อเนื่องนานนับปี ก่อนจะชี้ว่า ร้อยตำรวจโทจรูญ วิมูล อดีตข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ่อพลอย เป็นเจ้าของสลากที่ถูกรางวัล ไม่ใช่ครูปรีชา ใคร่ครวญ ข้าราชการครูชำนาญการ ที่เป็นคนนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลจำนวน 30 ล้านบาท

จากนั้นโหนตัวเข้าสู่คดีที่นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ผู้ต้องหาในคดี “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่หายตัวไปจากบ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ถูกพบว่าเป็นศพอยู่บริเวณภูเหล็กไฟ นับเป็นที่ยืดยื้อในหน้าสื่อทุกแขนง และเป็นข่าวดังของโทรทัศน์แทบทุกช่องทาง ต่อด้วยเข้าไปมีส่วนร่วมในคดีดังที่สุดในรอบปี 2565 เมื่อเกิดเหตุเมื่อดาราสาวระดับนางเอก แตงโมนิดา เสียชีวิตจากการตกจากเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคีดยังยืดยื้อ จนถึงทุกวันนี้

ล่าสุด ทนายษิทรา กระโจนเข้าคลุกคดีใหญ่สะเทือนขวัญวงการการเมือง และวงการธุรกิจสีเทา รวมทั้งพัวพันกับนักธุรกิจระดับประเทศ กลายเป็นปมร้อนแรง ปะทะกับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมือง และเจ้าของธุรกิจโรงแรม ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่การแฉนักธุรกิจจีนสีเทา และลามไปถึงหัวหน้าพรรคซึ่งจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเป็นเกมเดิมพันขนานใหญ่ในฤดูเลือกตั้ง 2566

“ประชาชาติธุรกิจ” ทำความรู้จักกับ ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด หมอความผู้มีส่วนพัวพันในคดีดังนับ 10 คดีในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา

ประวัติ ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด

ชื่อจริง ษิทรา เบี้ยบังเกิด (ตั้ม) อายุ 42 ปี เป็นที่รู้จักกันในวงการว่า ทนายตั้ม เป็นชาวอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเลขามูลนิธิทีมงานทนายประชาชน จบมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล จบปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราคำแหง จบเนติบัณฑิตไทย และจบปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต รุ่นที่ 19 มหาวิทยาลัยเกริก

ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด
ภาพจากเพจ ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ

อาชีพทนายความ

ษิทรา เบี้ยบังเกิด อยูู่ในวงการทนายความมาแล้วเกือบ 20 ปี เขาเริ่มเข้าสู่วงการอาชีพทนายในปี 2547 เริ่มจากการให้คำปรึกษาช่วยเหลือทางกฏหมายให้กับผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านกฏหมายฟรี ตามชุมชน งานบุญ และตามโรงเรียนต่าง ๆ ก่อนรวมทีม ในชื่อ “ทีมงานทนายประชาชน”

หลังจากเข้าวงการ 10 ปี ทนายตั้มเริ่มมีชื่อเสียง ในปี 2556 จากคดีน้องภัทร สาวโรงงานที่ตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน ถูกรถสิบล้อชนแล้วหนี จนสาวโรงงานคนดังกล่าวพิการ ต่อมามีทำคดีดังในหน้าสื่ออีกหลายกรณี อาทิ

  • ปี 2557 ทำคดีน้องจีโน่ ถูกวัยรุ่นใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาก่อนหลบหนี เป็นเหตุให้จีโน่ถึงแก่ความตาย
  • ปี 2559 คดีสามี ภรรยา ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ระบุว่าถูกตำรวจ สภ.บางโทรัด จ. สมุทรสาคร 8 นาย บุกค้นตัวที่ปั๊มน้ำมัน ก่อนยัดยาเสพติด ชิงสร้อยคอทองคำ และเงินสด
  • ปี 2560 คดีหวย 30 ล้าน โดยช่วยเหลือ ร.ต.ท. จรูญ วิมล ที่ถูก นายปรีชา ใคร่ครวญ ยื่นฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์
  • ปี 2560 คดีอ้างสิทธิเป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลค่า 30 ล้านบาท
  • ปี 2564 เป็นทนายความให้นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ผู้ต้องหาในคดี “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่หายตัวไปจากบ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ถูกพบว่าเป็นศพอยู่บริเวณภูเหล็กไฟ
  • ปี 2565 ช่วยสืบสาเหตุคดีการเสียชีวิตของดาราสาว แตง โม นิดา
  • ปี 2565 เปิดประเด็นและเป็นทนายผู้เสียหาย กรณีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำอนาจาร
  • ปี 2566 ร่วมเป็นทนาย และเปิดเผยปมชู้สาวกรณีอดีตรองนายกรัฐมนตรี มีความสัมพันธ์กับภรรยาผู้อื่น

ชี้แจงเงิน 3 แสน ที่ชูวิทย์โพสต์ภาพใบเสร็จรับเงิน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 มีนาคม 2566  นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม แถลงโต้กลับ พร้อมเปิดเผยหลักฐานกรณี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพใบเสร็จรับเงิน 3 แสนบาท ในชื่อของบริษัทนายษิทรา โดยระบุว่าเป็นค่าแถลงข่าวออกสื่อ และกล่าวหาว่านายษิทราเป็นตัวแทนเว็บพนันออนไลน์

นายษิทรากล่าวว่า ย้อนกลับไปปี 2547 หลังเรียนจบเนติบัณฑิตและเป็นทนายความได้ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ประชาชนทางกฎหมายโดยไม่เสียเงิน และได้ช่วยเหลือครอบครัวหนึ่งก่อนได้รับคำชมว่า “สมกับเป็นทนายประชาชน” ก่อนจะนำมาทำเสื้อ และตั้งมูลนิธิคอยให้คำปรึกษาและบรรยายข้อกฎหมาย กระทั่งตนมามีชื่อเสียงจากคดีหวย 30 ล้านบาท และคดีของลุงพล ไชยพล วิภา

ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ตนไม่มีงานเลยเป็นเวลา 6 เดือน จนครอบครัวต้องลำบาก ก่อนเปลี่ยนแนวคิดหันมาทำธุรกิจเปิดบริษัทษิทราลอว์เฟิร์ม เป็นเวลา 1 ปี มีคดีความนับพันคดี

นายษิทรากล่าวว่า มีคดีที่เรียกเก็บเงินจริง แต่ไม่ใช่ทุกคดี เว้นแต่เป็นคดีที่ต้องต่อสู้กับผู้มีอิทธิพล ซึ่งลูกความต้องมีกำลังจ่าย และตนจะถูกฟ้องร้องแน่ โดยเงินดังกล่าวจะไปใช้กับทุกคนที่จะถูกฟ้อง ไม่ใช่เพียงตนเท่านั้น เช่น คดีความขัดแย้งในครอบครัว “อดีตรองนายกฯ ย.”

และคดีที่เรียกเก็บเงินคือ คดีของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือช่อ ที่มีปัญหากับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งตนเป็นคนแถลงให้ ต่อมาตนถูกฟ้องร้องอีก 3-4 คดี จำไม่ได้ว่าเรียกเงินไป 3 หรือ 4 แสนบาท ดังนั้น จึงคิดค่าแถลงข่าวและการติดตามเรื่องโดยทำในรูปแบบของใบเสนอราคา

นายษิทรากล่าวอีกว่า ภาพที่นายชูวิทย์โพสต์ (โพสต์ใบเสนอราคา) เป็นเหตุการณ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ มี นายตี้ ที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันมาปรึกษาตนว่ามีญาติกดโทรศัพท์ตัวเองโอนเงิน 40 ล้านบาทเข้าเว็บพนัน จึงต้องการให้ตนตามเรื่องกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แต่เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนายตำรวจใหญ่

จึงเรียกเงินค่าฟ้องร้อง และเก็บเพิ่มอีก 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ตกลงกัน และผู้เสียหายจึงไปพบ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ แทน ทำให้ใบเสนอราคากลายเป็นที่มาของการแฉครั้งนี้ ยืนยันตนไม่ได้ไถเงิน ส่วนคดีอื่นๆ ที่ไม่เก็บเงิน เช่น คดีพอร์ส Yes Indeed ที่ทำผิดสัญญาค่ายเพลง ซึ่งตนก็ถูกฟ้องแต่ไม่ได้เรียกเก็บเงิน

“การเรียกเงินของผม ยอมรับเลยว่าแพง แต่ทำไมแพงแล้วคนเยอะ ปีที่ผ่านมามีคนมาปรึกษา 1,500 เคส ผมรับไม่ถึงสิบ แต่ละคดีคิดแพง เพราะผมเอาจริงเอาจัง ถึงไหนถึงกัน จะบอกว่าค่าปรึกษาผม ถ้าคนโทรมาปรึกษาผมคิดตังค์นะ ผมมีลูกน้อง มีบริษัท เดือนนึงบริษัทมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ถ้าโทรมาปรึกษาลูกน้องครั้งนึง 20 นาที 1,000 บาท แต่ถ้าโทรหาผม 20 นาที 1,500 บาท ถ้ามาหาผมที่สำนักงาน 3,000 บาทในการเจอผม คุยกับผมครึ่งชั่วโมง นี่คือวิชาชีพ ผมไม่ได้ทำธุรกิจสีเทา ไม่ได้ทำอาบอบนวด ผมโปร่งใส

“ผมเพิ่งเปิดสำนักงานปี 2565 การใช้ชีวิตดีๆ ให้ลูกมีความสุขแล้วผิดไหมล่ะ ผมยอมรับว่าผมมีเงิน การมีเงินคือจะพาลูกเมีย ครอบครัวไปเที่ยว ซื้อของดีๆ ให้เขาใช้ ทำเพื่อครอบครัวผมแล้วผิดไหม ไม่ได้เอาเงินไปเลี้ยงอีหนูนะ ผมทำงานแลกมา ผมเหนื่อย เดือนนึงไปเที่ยวต่างประเทศสักครั้ง ผมผิดหรือเปล่า

“พี่ชูวิทย์เล่นประเด็นนี้ โพสต์ทางเฟซบุ๊กชูวิทย์ จริงๆ มันควรเป็นเพจคุณภาพ แต่เอาภาพลูกความผมที่นำใบเสนอราคาให้พี่ชูวิทย์เล่นมาโพสต์ ดูแล้วกระจอกมากเลย ไม่ใช่งานของประเทศชาติแล้ว เพจคุณภาพหายไปแล้ว พี่ชูวิทย์ต้องเล่นเรื่องใหญ่ๆ สิ มาเล่นเรื่องแบบนี้ไร้สาระ ถ้าจะมาตรวจสอบภาษี ษิทราลอว์เฟิร์มถูกต้องหมด ยื่นภาษีทุกเดือน ตรวจสอบได้เลย ผมบอกบัญชี บอกทุกคนว่าทำให้ถูกต้อง” นายษิทราระบุ

นายษิทรายืนยันว่า ไม่ได้เงินจากการแฉเรื่องนายชูวิทย์ รับเงิน 6 ล้านบาท เพียงแต่ทราบข้อมูลมา ทั้งนี้ยืนยันว่าจะยังเรียกเก็บเงินต่อไป เพียงแต่ต้องเปลี่ยนถ้อยคำจาก “ค่าแถลงข่าว” เป็น “ค่าดำเนินการติดตามเรื่องและเงินสำหรับการฟ้องร้อง”

ชี้แจงเงิน 3 แสน
ภาพจากเพจ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

ยืนยันว่าไม่ได้หลอกใช้สื่อและไม่กลัวว่าสื่อไม่มานำเสนอข่าวให้ตัวเอง เพราะที่ผ่านมาพูดกับลูกความแล้วว่าตนเองจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด จึงไม่เคยแจ้งสื่อมาก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้เวลาแจ้งหมายข่าวจะระบุด้วยว่าคดีไหนได้รับเงินหรือไม่ ที่ผ่านมามีทั้งคนจนและรวยที่มาปรึกษาแต่ไม่ได้เก็บเงินทั้งหมด

นายษิทราระบุว่า ส่วนเรื่องการเปลี่ยนรูปลักษณ์และรสนิยมการใช้ชีวิตของตัวเองก็เพราะมีฐานะมากขึ้น อยากให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ถือเป็นเรื่องผิดแปลก เพราะตัวเองยืนยันว่าทำธุรกิจโดยสุจริต ยอมรับว่าลูกความเคยมอบของขวัญนอกจากเงินให้เป็นเสื้อราคา 2 หมื่นบาท

ธุรกิจของทนายตั้ม

ธุรกิจของ ษิทรา เบี้ยบังเกิด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า “ทนายตั้ม” เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 4 แห่ง ยังเปิดดำเนินกิจการอีก 1 แห่ง ซึ่งก็คือ บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จำกัด

โดยบริษัทดังกล่าว ได้ก่อตั้งหรือจดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2561 ทุน 1 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ 1 อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ชั้นที่ 24 ห้องเลขที่ 2409 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยประกอบธุรกิจ กิจกรรมทางกฎหมาย มีชื่อนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เป็นกรรมการรายเดียว

โดยจากการตรวจสอบผู้ถือหุ้นพบว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2565 พบว่า นายษิทราและภรรยาคือนางปทิตตา เบี้ยบังเกิด มีสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากันที่คนละ 45% หรือรวมกัน 90% และอีก 10% เป็นหุ้นของ น.ส.ปิณฑิรา การิวัลย์

ขณะที่งบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มีรายได้รวม 1,807,000 บาท รายจ่ายรวม 1,374,661 บาท เสียภาษีเงินได้ 19,853 บาท กำไรสุทธิ 412,502 บาท

ส่วนอีก 3 บริษัทของทนายตั้ม ประกอบด้วย บริษัท อเมทิส สกินแคร์ จำกัด ประกอบกิจการค้าเครื่องสำอางอุปกรณ์เครื่องมือ และเครื่องใช้เสริมความงาม, บริษัท เอสที.อินเตอร์ 2016 จำกัด ประกอบกิจการโรงแรม ถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่า “ร้าง” และบริษัท มอนสเตอร์บายส์ จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายบัตรที่พักบัตรร้านอาหาร และบริการอื่น ๆ แจ้ง “เลิกกิจการ”