วาระร้อน บิ๊กป้อม รักษาการนายกฯ เซตกำลัง 4 เหล่าทัพ ตั้งหลักอำนาจใหม่

ประวิตร
รายงานพิเศษ

เหมือนมีอำนาจเต็ม ทำหน้าที่ได้ครอบจักรวาล สำหรับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่แทน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี “ตัวจริง” ชั่วคราว

ภายหลังต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จากปมนายกฯ 8 ปี

ก็เพราะ กติการักษาราชการแทนนายกฯ ในกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 มาตรา 41 บัญญัติว่า

“ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน”

สำทับด้วย มาตรา 48 วรรคหนึ่ง “ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน”

Advertisment

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หมอกฎหมายรัฐบาล ประทับตรา ลงยันต์ด้วยวาจาไว้ว่า รักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย “เหมือนกับนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง”

และรักษาการนายกฯ มีอำนาจในการยุบสภา “ทำได้ แต่จะไปทำทำไม ทำได้เหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง”

ดังนั้น ช่วงที่ พล.อ.ประวิตร ถืออำนาจสูงสุด จึงมี ภาระ-เผือกร้อน แรงกดดันทางการเมืองที่ต้องตัดสินใจ

บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่ จัดโผ 4 เหล่าทัพ

ในช่วงปลายปีงบประมาณ วาระสำคัญคือการแต่งตั้ง-โยกย้าย ทั้งข้าราชการตำรวจ และข้าราชการทหาร รวมถึงข้าราชการพลเรือน แทนคนที่จะเกษียณอายุราชการ นับเป็น “เผือกร้อน” ด่านแรกที่ พล.อ.ประวิตร

Advertisment

แม้ในกรณีปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ความเป็นจริงในทางการเมือง ไม่ว่าโผตำรวจ-โผทหาร อาจถูกจัดวางกันไว้แล้วเสร็จสรรพ

โดยที่ พล.อ.ประวิตร การันตี เมื่อ 26 สิงหาคม 2565 ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายทั้งทหาร-ตำรวจก็ให้เป็นไปตามขั้นตอน

“การแต่งตั้งโยกย้ายทั้งทหาร-ตำรวจก็ให้เป็นไปตามขั้นตอน จะไม่รื้อโผที่ พล.อ.ประยุทธ์วางไว้”

ดังนั้นในการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มี พล.อ.ประวิตร นั่งเก้าอี้ เป็นประธานการประชุมแทน พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีมติ 6 ต่อ 0 ให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคงและกิจการพิเศษ (นรต.38) อาวุโสอันดับ 2 ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 13 แบบไม่พลิกโผ

ทั้งที่การคั่วเก้าอี้ ผบ.ตร. มีแคนดิเดตถึง 3 คน โดยคู่แข่งสูสี “บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.ดูแลงานป้องกันปราบปราม (ปป.) พก “เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชั่น” สถาบันเดียวกับ พล.อ.ประวิตร-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กระทั่งมีข่าวลือ ข่าวปล่อย ป.ที่ 4 เข้ามาขอ “รื้อโผ”

เผือกร้อนเรื่องการตั้ง ผบ.ตร.พ้นมือ พล.อ.ประวิตรไปอีกหนึ่งเปลาะ

ยังมีเรื่องบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ซึ่งตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ 3 ตำแหน่ง จากการเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนนี้ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)

จะต้องผ่านบอร์ด 7 เสือกลาโหม รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ก่อนส่งรายชื่อทั้งหมดไปยังทำเนียบรัฐบาล ซึ่งยังมีคลื่นใต้น้ำภายในกองทัพวิ่งเต้น-อลหม่าน แม้ว่าตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม 2551 ปิดทางฝ่ายการเมืองล้วงลูก ทำให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะพี่ใหญ่-พี่ชายที่แสนดี ทำอะไรมาก
ไม่ได้

โผเบื้องต้น – ตำแหน่งสำคัญๆ ก่อนไปถึงมือ พล.อ.ประวิตร อาทิ กองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ยังนั่งตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไปจนเกษียณปี 2566 แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวถูกเปลี่ยนตัว พล.อ.เจริญชัย สินเธาว์ (ตท.23) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทบ พล.ท.ภูวนารท ชมพูบุตร (ตท.22) รองเสนาธิการทหารบก เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.สุสรรค์ หนองบัวล่าง (ตท.23) มทภ.1 เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ.

กองทัพเรือ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ (ตท 22) ผู้ช่วย ผบ.ทร.เป็น ผบ.ทร. พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ (ตท.23) เสธ.ทร.เป็น รอง ผบ.ทร. พล.ร.ท.อดุง พันธ์เอี่ยม (ตท.23) เจ้ากรมสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทร. พล.ร.ท.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง (ตท.24) เสธ.ทร.

กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ (ตท.22) รอง ผบ.ทอ. เป็น ผบ.ทอ. พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ (ตท.22) ผู้ช่วย ผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทอ. พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล (ตท.24) เสธ ทอ. เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ (ตท.23) ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพอากาศ เป็น เสธ.ทอ.

พปชร.ขอเก้าอี้รัฐมนตรี

เผือกร้อนต่อมา คือ แรงกดดันภายในพรรคพลังประชารัฐ กลุ่ม ส.ส.ใต้ ในนาม “กลุ่มด้ามขวาน” ถือโอกาสในยุคที่ พล.อ.ประวิตร มี “อำนาจเต็ม” กดดันให้มีการปรับเก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม.)

เพราะก่อนหน้านี้ โควตาของพรรคพลังประชารัฐ ว่างลง 2 เก้าอี้ จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิบัติการ “ปราบกบฏธรรมนัส” ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ออกจาก รมช.แรงงาน

ผ่านมาเกือบปี พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ตั้งรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาแทน

ขณะเดียวกัน 2 รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล กำลังประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ มี 2 รัฐมนตรี ในรัฐบาลที่มีคดีอยู่ในชั้นศาล

คนแรกคือ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีรุกที่ป่าเขาใหญ่

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังไม่มีใครแจ้งมา ปกติที่ผ่านมาหากจะมีการปรับ ครม.ในเวลาที่เหมาะสม นายกรัฐมนตรีจะแจ้งมายังหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล

“แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งหรือส่งสัญญาณอะไรมาเลย ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐต้องการให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ปรับ ครม.นั้น ก็เป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ”

คนที่สองคือ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 14 กันยายน 2565 เนื่องจากผู้ถูกร้องเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ทำให้เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคล้ายกับ “อนุทิน” ว่า ยังไม่อยากพูดล่วงหน้า เพราะยังไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร ขอให้รอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไรก็จะมีคำตอบด้วยตัวของมันเอง

“ขณะนี้ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ข้อตกลงโควตาตำแหน่งรัฐมนตรียังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการร่วมรัฐบาลผสม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ 2 กฎหมายลูกคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้ผ่านที่ประชุมรัฐสภา และผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองแล้ว แต่มี ส.ส. และ ส.ว. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร อาจต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

“วิษณุ” หมอกฎหมายคนเดิม กล่าวว่า “ยังมีเวลาอีกเยอะ พอดีพอร้าย คำวินิจฉัยเรื่อง 8 ปี อาจจะออกมาก่อนก็ได้ ส่วนกฎหมายลูกพรรคการเมืองขณะนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว”

ยังไม่นับสถานการณ์ม็อบที่เริ่มคุกรุ่น ตัวอย่างเช่น คณะหลอมรวมประชาชน นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ประกาศยกระดับ เขี่ย 3 ป.พ้นกระดานว่า เรากำลังจะออกแบบวิธีการจัดการชุมนุม อาจจะเข้าไปจัดกิจกรรมในเมือง หรือมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และจะมีให้ถี่ขึ้น กระจายให้มากขึ้น อาจไปต่างเมือง ก่อนกลับเข้ามา กทม.อีกครั้ง โดยในสัปดาห์หน้า เราจะเข้าไปย่านใจกลางเมือง ส่วนจะเป็นจุดใดนั้นจะแจ้งให้ทราบกันต่อไป

นี่คือสถานการณ์-เผือกร้อน รอ พล.อ.ประวิตร สะสาง

อำนาจเก่ารักษาอำนาจ

“สุขุม นวลสกุล” นักรัฐศาสตร์ ผู้เกาะติดการเมืองไทยมายาวนาน เคยเป็นที่ปรึกษา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ วิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ว่า ถ้าพูดถึงความเชื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็เปิดทางไว้แล้วว่าทำได้ แต่งตั้งโยกย้ายได้-ยุบสภาได้ แต่เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร ไม่กล้า เพราะว่าใครทำปั๊บก็แน่ใจได้ว่ามีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญแน่ ทำให้ปมที่ตกเป็นจำเลยเพิ่มขึ้น ดังนั้นคงไม่ทำ

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสั่งให้พ้นตำแหน่งโดยศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่ารัฐบาลรักษาการก็คงไม่อยู่ยาว เพราะยังไงก็ไม่ยาว รัฐบาลจะครบเทอมในมีนาคม 2565 และอาจจะมีการยุบสภาเร็วก็ได้ เป็นรักษาการเพื่อยุบสภา เพราะไม่มีอะไรที่เป็นทางออกที่ดีไปกว่านี้แล้ว

“รัฐบาลตกเป็นรองทุกอย่าง ดังนั้นคาดกันอยู่ว่า เสียงรัฐบาลสู้ฝ่ายค้านไม่ได้แน่ในสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) แค่นี้สภาสูง (วุฒิสภา) ก็ระส่ำแล้ว สิ่งเดียวที่จะทำให้ ส.ว.โหวตนายกฯใหม่ คือ สัญญาณยุบสภา เพื่อตั้งหลักกันใหม่ ดังนั้น การโหวตนายกฯคนใหม่คงต้องเกิดจากการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่”

อาจารย์สุขุมวิเคราะห์ต่อว่า “พรรคพลังประชารัฐไม่มีทางที่จะได้เปรียบในเกมเลือกตั้ง แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจมีตัวใหม่หรือเปล่า เพราะอำนาจเก่าก็พยายามจะรักษาอำนาจไว้ อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อไปไม่ได้แล้ว รัฐบาลก็จะหมดอำนาจการต่อรองไปเยอะ”

“พูดง่าย ๆ ถ้าคิดกันแบบ ภาษาคณิตศาสตร์ 3 ป.เหลือแค่ 2 ป.ก็ต้องเบาลง ตอนนี้ 3 ป.เหลือแค่ ป.เดียว ก็ยิ่งเบาลงหนักไปอีก”

“อำนาจต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะสูงขึ้น อย่างน้อยที่สุดพรรคร่วมรัฐบาลก็หาเสียงไม่ไว้หน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว ไม่เกรงใจพรรคพลังประชารัฐแล้วตอนนี้”