แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 เริ่มใช้ 1 ต.ค. 65 ชี้วัดรายได้ต่อหัว 3 แสนบาท

เศรษฐกิจ
Mladen ANTONOV / AFP

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 65 ระยะ 5 ปี ถึงปี 2570 ดัชนีชี้วัดรายได้ประชาชาติต่อหัว 300,000 บาท ลดช่องว่างความเหลื่อนล้ำ คนจน-คนรวย ต่ำกว่า 5 เท่า

วันที่ 31 ส.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่แปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2566-2570

ขณะนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้ผ่านการรับทราบของรัฐสภาแล้ว โดยที่ประชุมวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 และ 25 ส.ค. 65 ตามลำดับ

Advertisement

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 65 ได้รับทราบร่างแผนพัฒนาฯ ที่ได้มีการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้แก้ไขในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่รัฐสภาได้รับทราบไปแล้ว เช่น การปรับปรุงเนื้อความให้มีความถูกต้อง การจัดเรียงลำดับของเนื้อหาของแผนฯ การปรับปรุงตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายย่อย และสถานการณ์ให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกันระหว่างหมุดหมาย และสอดคล้องกับแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

“หลังจากนี้จะเหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ นายกรัฐมนตรีนำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศให้ใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า เมื่อแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เริ่มมีผลบังคับ จะเป็นแผนระดับชาติที่รัฐบาลยึดเป็นกรอบการผลักดันการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า มีเป้าหมายหลัก 5 ประการ ได้แก่ 1.ปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2.พัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ 3.มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4.เปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และ 5.เสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

Advertisement

“มีตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนที่สำคัญ ได้แก่ รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 300,000 บาท จากปี 2564 ที่ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 227,000 บาท ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 จากปี 2563 อยู่ที่ 0.6501” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นอกจากนี้ ความแตกต่างของความเป็นอยู่ หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า จากปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ต่ำกว่า 100