“ประยุทธ์” กู้วิกฤตรัฐวิสาหกิจ โชว์ “ธรรมาภิบาล” ล้างบัญชีขาดทุน

การแก้ไขปัญหาขาดทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง มูลค่าสินทรัพย์นับรวมกันนับล้านล้านบาท ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะสามารถปั๊มชีพจรเต้นอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในอาการหน้าเป็นห่วง 3 ปีที่มาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช. ในนาม “ซูเปอร์บอร์ด”-คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ถึงปัจจุบัน ได้มีมติให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ออกจากการแก้ไขปัญหาองค์กร (แผนฟื้นฟู) และมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดกำกับ-ติดตามต่อไป

สำหรับรัฐวิสาหกิจอีก 6 แห่ง ได้แก่ 1.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรืออิสลามแบงก์ 2.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 5.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ 6.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังคงต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต่อไป ทั้งนี้คาดว่าอิสลามแบงก์จะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งที่ 2 ที่จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ต่อจากเอสเอ็มอีแบงก์

สำหรับการแก้ปัญหาอิสลามแบงก์นั้น ยังต้องรอการออกกฎหมายไอแบงก์เพื่อปลดล็อกให้กระทรวงการคลังถือหุ้นในไอแบงก์เกิน 49% เพื่อ “เพิ่มทุน” เท่ากับที่ขาดทุนอยู่ 1.8 หมื่นล้านบาท และหาพันธมิตรเพื่อให้ไอแบงก์ “อยู่รอด”

ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้กฎหมาย 1 มาตรา โดย คนร.ได้เร่งการแก้กฎหมายให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป การแก้กฎหมายจึงเป็น “หัวใจ”

ขณะที่รัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง ล้วนแล้วมีปัญหาที่เรื้อรัง-แก้ไขยาก อาทิ ปัญหาขาดทุนของบริษัทการบินไทย แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น แต่เนื่องจากระบบการบริหารจัดการไม่ดีทำให้การบริหารราคาไม่ดีตามไปด้วย โดยให้เร่งนำระบบ revenue management system (RMS) และ etworkmanagement system (NMS) มาใช้

Advertisment

ปัญหาหนี้แสนล้านของ ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ดินมักกะสัน เนื้อที่ 3.9 หมื่นไร่ เพื่อนำมาแก้หนี้ของ ร.ฟ.ท.จำนวนหลายแสนล้านบาท โดยจะนำมาเชื่อมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งขณะนี้ คนร.ได้ตั้งสำนักบริหารทรัพย์สินเพื่อบริหารที่ดินของ ร.ฟ.ท. รวมถึงปัญหาการปฏิรูปเส้นทางของ ขสมก. เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน

ปัญหาดังกล่าวทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ ตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาล โดยให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอรูปแบบธุรกิจของรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ การบินไทย ร.ฟ.ท. และ ขสมก. เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน-หนี้สิน อย่างยั่งยืน

“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงผลงาน 3 ปีที่ผ่านมา ว่า คนร.รวมศูนย์บริหารจัดการทุกอย่างภายใต้ระบบ ใช้กฎหมายปกติ ไม่ใช้อำนาจพิเศษ เริ่มเห็นความสำเร็จ เราคุยเรื่องนี้กันมา 3 ปี ปัญหาหมักหมมมานาน แก้เร็วไม่ได้ แต่จะมีข่าวดีการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจอีก 6 แห่งตามมาซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ คาดหวังว่า จะแก้ปัญหาในรัฐวิสาหกิจ ให้สำเร็จด้วยธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน แม้เปลี่ยนรัฐบาล