ประยุทธ์ มั่นใจได้นักท่องเที่ยว 10 ล้านคน-อนุมัติเติมเงินบัตรคนจน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งข้อความถึงคนไทย เปิดประเทศ ดึงนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน นักลงทุน 7 หมื่นล้าน แจ้งเพิ่มความช่วยเหลือ เติมเงินบัตรคนจน ปรับหลักเกณฑ์การช่วยคนน้ำท่วม และให้แบงก์รัฐ ร่วมช่วยเยียวยา

วันที่ 22 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความ ในเฟซบุ๊ก ส่งข้อความถึงคนไทย เริ่มต้นว่า…

สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยเฉพาะการ “ปิดประเทศ” ส่งผลให้รายได้หลักจากการท่องเที่ยวลดลงไปอย่างมาก แต่ก็ทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้เราเริ่มใช้นโยบาย “เปิดประเทศ” อย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่ประสบความสำเร็จอย่างดี

จนขยายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ และมาสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน ส่งผลให้การขับเคลื่อน การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เดินหน้าได้อย่างเต็มกำลัง และผมมีความยินดีที่ได้รับรายงานว่าท่ามกลางวิกฤตพลังงานของโลก นโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล ยังคงสามารถสร้างรายได้ การค้า การลงทุน ได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จาก 2 ด้านหลัก คือการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดังนี้

1. การขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ

Advertisment

จากการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และการเจรจาทางการค้าของผมในฐานะนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะรัฐบาล ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 65 มีต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย จำนวน 323 ราย โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน ตามลำดับ มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 73,635 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC มีเงินลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ในช่วงเดือนเดียวกัน พบว่า มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเกือบ 28,925 ล้านบาท

ซึ่งการขยายตัวการลงทุนอย่างมากในปีนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจาก

1. นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก
3. การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อรองรับ และจูงใจการลงทุนจากต่างชาติ
4. การดำเนินงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค ให้แล้วเสร็จตามแผน และพร้อมรองรับการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
2. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

โดยตั้งแต่ 1 ม.ค. – 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 5.8 ล้านคน มีอัตราการเดินทางเข้ามาเฉลี่ย 46,000 คนต่อวัน หรือประมาณเดือนละเกือบ 1.5 ล้านคน ทำให้เชื่อได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแบบ “V-Shape” คือกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ High Season ในช่วงปลายปีนี้ น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยตามเป้าหมาย 10 ล้านคน

Advertisment

โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่ช่วงการเปิดประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง มีการใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 55,000 บาท ต่อคน (ในช่วงไตรมาสที่ 1 สูงถึง 77,000 บาท เนื่องมาจากการพักค้างระยะยาว) ทำให้อัตราเข้าพักโรงแรมต่างๆ เริ่มฟื้นตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงการขยายสิทธิเราเที่ยวด้วยกันของนักท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลถึงสัดส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 75%

นอกจากนั้น อีกหนึ่งโครงการของรัฐบาล ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้เข้าประเทศ นั่นคือมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ตั้งแต่เริ่มโครงการ มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยแล้ว 43 เรื่อง เกิดรายได้หมุนเวียนในเศรษฐกิจประมาณ 8,560 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศและคุ้มค่า โดยเงินลงทุนสร้างภาพยนตร์ทั้งหมดได้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำทั่วประเทศ และเป็นการสนับสนุน Soft Power ของไทยต่อชาวโลกอีกด้วย

ปัจจัยทั้งสองประการ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆของรัฐ และการควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ และนโยบายช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาค่าครองชีพ ทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ 11 เดือนของปีงบประมาณ 65 (ต.ค. 64 -ส.ค. 65) ได้มากถึง 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าประมาณการถึง 117,898 ล้านบาท หรือ 5.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.8% ซึ่งผลการจัดเก็บรายได้แสดงถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น การกำหนดนโยบายที่สอดคล้อง สอดรับกับสถานการณ์ รวมทั้งตัวเลขการบริโภคและการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล

ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคน เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน องค์กรธุรกิจเอกชนทุกขนาด ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน จนเราผ่านพ้นวิกฤตหลายครั้งมาได้ และเดินหน้าพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ในเดือนหน้า เรามีงานใหญ่และสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ที่จะสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ในการต้อนรับผู้นำประเทศชั้นนำทั่วโลกสู่สยามเมืองยิ้ม ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเราจะดำเนินภารกิจนี้ได้สำเร็จลุล่วง ด้วยความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคนในการเป็นเจ้าบ้านที่น่าประทับใจเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาอย่างแน่นอนครับ

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยทธ์ โพสต์ข้อความด้วยว่า ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (18 ต.ค.65) รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด และวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน จึงได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาโครงการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มต่อไป อีก 3 เดือน (ต.ค. – ธ.ค.65) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ค่าครองชีพสูงขึ้น

โดยอนุมัติวงเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม จากเดิมในอัตรา 45 บาท/คน/ 3 เดือน เป็น 100 บาท/คน/ 3 เดือน วงเงินรวม 302.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะได้รับสวัสดิการนี้ ประมาณ 5.5 ล้านราย

ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้ทุกกระทรวง สำรวจหลักเกณฑ์เงินช่วยเหลือเยียวยา และความช่วยเหลือรูปแบบอื่นๆ สำหรับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการยกระดับความช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ

1. เพิ่มวงเงินช่วยเหลือ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยให้ได้มากที่สุด

2. ปรับหลักเกณฑ์ หรือกระบวนการทำงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงประชาชนได้ทันท่วงที

3. ระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งนักเรียนอาชีวะและจิตอาสา ในการซ่อมแซมบ้านเรือน สถานที่ราชการ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน-ถนน-สะพาน-ไฟฟ้า-ประปา ตลอดจนวัดวาอาราม เพื่อให้ทุกชุมชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีธนาคารของรัฐอีกหลายแห่ง ที่ได้ผนึกกำลัง ร่วมสนองนโยบายรัฐบาล ยื่นมือให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งพี่น้องเกษตรกร คือ

1. ธนาคารออมสิน ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10% – 100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% และให้กู้เงินฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก

2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดโอกาสให้ลูกค้าเงินกู้ที่ประสบภัยสามารถขอลดเงินงวดลง 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนลูกค้าที่ประกันภัยที่อยู่อาศัย ก็สามารถติดต่อขอรับความคุ้มครองตามความเป็นจริง ไม่เกินกรณีละ 30,000 บาทต่อปี

3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า โดยเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับใช้สร้าง หรือซ่อมแซม ที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิต ที่ได้รับความเสียหาย วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท

อีกทั้ง มีธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งสิ้น 21 มาตรการ

ซึ่งผมได้สั่งการให้แต่ละองค์กร รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งติดต่อช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ประสบภัยโดยทันที

อีกประเด็นที่มีประชาชนสอบถามผมโดยตรง ระหว่างลงพื้นที่อุทกภัย จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งผมขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องติดตามความคืบหน้าเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ตามโครงการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ฤดูการผลิต 2565/2566 ใช้งบประมาณ 112.32 ล้านบาทนั้น

ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ผมได้รับรายงานจากคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย ว่าได้อนุมัติเงินช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 112.32 ล้านบาท โดยส่วนแรก 56.16 ล้านบาทได้แจกจ่ายไปแล้ว สำหรับอีก 56.16 ล้านบาทที่เหลือ อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจัดสรรงบประมาณกลาง ตามขั้นตอน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรในการรับซื้อใบยาได้ ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2566 ครับ”