สภาล่ม ส.ว. เล่นเกม ขวางญัตติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไทย

ประชุมสภา

สภาไทยล่มอีกครั้ง ก่อนเข้าญัตติแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว.ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ อ้างว่าไม่รู้ว่าญัตติถูกเลื่อนขึ้นมาพิจารณา

วันที่ 25 มกราคม 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งเป็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ปรากฏว่า นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา ได้ใช้สิทธิหารือว่า ในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ที่มีการให้เลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมานั้น ไม่มีตัวแทนของ ส.ว.เข้าประชุมด้วย และจากการตรวจสอบวาระการประชุม ไม่มีวาระร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ทั้งที่ตามวาระจะต้องพิจารณาต่อจากร่างพิธีสารอาเซียน และจะต่อด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน

แต่การประชุมในวันนี้กลับมีการถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ออกไป จึงเสนอญัตติขอให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นเรื่องด่วนว่าการถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ออกไปนั้นเป็นไปโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวนได้ชี้แจงนายสมชายว่า ญัตติวันนี้เป็นวาระพิเศษ จึงไม่มีร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ อยู่ในระเบียบวาระ อีกทั้งฝ่ายค้านบอกว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ เป็นเรื่องยาว 40 มาตรา และคาดว่าจะมีการอภิปรายมาก หากเป็นเช่นนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่จบ จนต้องไปลงมติในวันอื่น ซึ่งหลายฝ่ายเห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวาระออกไป และบรรจุระเบียบใหม่

ส่วนที่นายสมชายขอให้ลงมติว่าการถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ออกไป ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมหรือไม่ ตนขอเรียนว่า ไม่มีการถอนร่างออกไป เพียงแต่ใช้อำนาจประธานรัฐสภา บรรจุวาระขึ้นมาใหม่ และร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ก็ยังอยู่

อย่างไรก็ตาม นายสมชายยืนยันที่จะให้ที่ประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ซึ่งนายชวนต้องให้ลงมติ ท่ามกลางการลุกขึ้นประท้วงของฝ่ายค้าน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า นายชวน วินิจฉัยญัตติที่ไม่ใช่ญัตติ จะเป็นการกระทำไม่ชอบในระบบรัฐสภาไทย และจะเป็นที่น่าอับอาย ถ้าประธานรัฐสภายังให้ลงมติ

ตนและฝ่ายค้านเห็นว่า เป็นญัตติที่ไม่ชอบ รัฐสภาไม่ควรกระทำเรื่องนี้ เราจะไม่ร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น การตรวจสอบองค์ประชุมสามารถทำได้ แต่วัตถุประสงค์เพียงต้องการล้มองค์ประชุมโดยใช้วิธีไม่ชอบ รวมทั้งจะขอกล่าวหานายชวนด้วยว่าให้ความร่วมมือด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน ส.ว.ไม่ปรากฏตัวในที่ประชุม จนทำให้ห้องประชุมฝ่าย ส.ว.ค่อนข้างโล่ง ด้านวิปรัฐบาลส่งสัญญาณไปยัง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลว่า ไม่ให้กดแสดงตนเพื่อลงมติกับญัตติดังกล่าว ท้ายที่สุดนายชวนต้องสั่งปิดประชุมร่วมรัฐสภา