“ไชยันต์” ขีดเส้นโรดแมปสุดท้าย เงื่อนตายเลือกตั้ง-บิ๊กตู่คุมโหวต “ยุบสภา”

สัมภาษณ์พิเศษ

ตัวแปรการเมืองที่จะทำให้โรดแมปขยับออกไปจาก ก.พ. 2562 ยังมีอยู่รอบทิศ

ทั้งปัจจัยกฎหมายลูก 2 ฉบับ อันได้แก่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. ซึ่งผูกติดกับโรดแมปเลือกตั้ง

ยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย ยังไม่รู้ว่าท้ายที่สุดจะผ่าน-ไม่ผ่าน คว่ำ-ไม่คว่ำ

ความเป็น-ความตายการเมืองจึงอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ แถมเป็นช่วงเวลาที่คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล และคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) กำลังดิ่งสุด ๆ

Advertisment

“ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร” นักรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโรดแมปเลือกตั้ง ก.พ. 2562 เป็นโรดแมปสุดท้ายของ คสช.หรือไม่ ข่าวรัฐประหารซ้อนมีน้ำหนักมากแค่ไหน ก่อนที่ สนช.จะโหวตคว่ำ 7 กกต.ในวันต่อมา

Q : การเลือกตั้ง ก.พ. 2562 จะเกิดขึ้นหรือไม่

น่าจะต้องเลื่อน คงไม่เป๊ะขนาด ก.พ. 2562 หากคิดในแง่ พ.ร.ป.ส.ส. กับ ส.ว. อันหนึ่งผ่าน อันหนึ่งไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านสองอันก็ดูน่าเกลียด เหตุที่ไม่ผ่าน พ.ร.ป.ส.ส.ก็ไม่ค่อยมี แต่ พ.ร.ป.ส.ว. มันเป็นเหตุผลที่น่ากังวล เพราะเหลือตัวเลือกน้อยมาก ควรแก้กลับไปแบบเก่าให้มี 20 กลุ่ม ถ้าร่างใหม่ก็ต้องบวกเวลาไป 6 เดือน ไม่คว่ำเลยก็จะบวกลบคูณหาร อาจเลื่อนได้บ้าง

เพียงแต่ทางรัฐบาลจะปรึกษา กกต.ในการประกาศวันเลือกตั้งหรือไม่ แล้ว กกต.จะใช้ชุดไหนจัดเลือกตั้ง ชุดใหม่ยังไม่ลงตัวอาจเสียเวลาไปอีก

Advertisment

ยังไม่รู้ว่าหลังเลือกตั้งจะจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ มีแนวโน้มอีนุงตุงนัง กว่าจะผ่านกระบวนการเลือกนายกฯคนใน ปล่อยให้ ส.ส.เสนอชื่อนายกฯกันเองในสภา จนเสนอเต็มที่แล้วยังหานายกฯไม่ได้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปลดล็อกนายกฯคนนอก

ถ้าปลดล็อกไม่ได้ คือไม่มีเสียง 250 เสียงมาสนับสนุนให้ปลดล็อก เพราะพรรคการเมืองที่ไม่อยากให้มีนายกฯคนนอกอาจจะคุมเสียงได้เกิน 250 เสียง เมื่อเลือกนายกฯคนในไม่ได้ ปลดล็อกเอาคนนอกไม่ได้

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดว่าต้องจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในกี่วัน รัฐบาลยังเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนสภาก็เป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างหัวมังกุท้ายมังกร อยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก

Q : หากถึงทางตัน จะทำอย่างไร

ต้องว่าด้วยประเพณีการปกครอง ดูรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ๆ ที่เคยใช้ หรือดูประเพณีการปกครองของอังกฤษ สรุปได้ 2 ทาง คือยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ หวังว่าตัวเลขที่นั่งของแต่ละพรรคที่เปลี่ยนไป สามารถปลดล็อกคนนอกได้ ถ้าดูในประเพณีหรือประวัติศาสตร์การปกครองไทย พบว่านายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถยุบสภาได้

คือสมัย 14 ตุลา ช่วงท่านสัญญา (ธรรมศักดิ์) เป็นนายกฯ แล้วมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติค้างอยู่ ท่านก็ไปยุบได้ พล.อ.ประยุทธ์เสนอยุบสภาในฐานะนายกฯ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอำนาจยุบสภาอยู่ที่นายกฯ หรือจะสร้างธรรมเนียมขึ้นมาใหม่ ให้ประธานสภาเสนอยุบสภา

หรือถ้าไม่ยุบสภา แต่ใช้ประเพณีการปกครองของอังกฤษ เสนอชื่อคนที่ได้คะแนนมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ อาจจะไม่ถึง 376 เสียง ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แต่เป็นคนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด อาจเป็นคนใน หรือคนนอกก็แล้วแต่ คนนั้นก็ได้เป็นนายกฯรัฐบาลเสียงข้างน้อย

Q : การตีความแบบนี้จะไม่สร้างความอลหม่าน

อลหม่านสิ นายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ว่าในยามคับขัน เราต้องตีความให้เดินหน้าไปได้ ตีความว่านายกฯยุบสภาได้ก็ยุบสภาไป หรือไม่ยุบสภาก็ให้มีนายกฯเสียงข้างน้อย อังกฤษ เดนมาร์ก ก็มีนายกฯเสียงข้างน้อยซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่อยู่ยาก

Q : เท่ากับว่ารัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญ

รัฐบาลอยู่ในสภาวะไม่สามารถตัดสินใจ แต่รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลเตรียมสถานการณ์ให้พร้อมเรียบร้อย ครั้นประกาศการเลือกตั้ง แต่หากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ในแง่นี้ความรับผิดชอบอยู่ที่เขาที่ทำให้เกิดปัญหา รัฐบาลนั้นต้องรับผิดชอบ ต่อให้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งต้องพิจารณาตรงนี้ให้ดี

Q : กระแสข่าวที่ คสช.เตรียมการเรื่องพรรคทหารไม่ทัน จึงทอดเวลาเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ น้ำหนักจึงน้อย

ช่วงที่มีข่าวว่าเตรียมพรรคทหารไม่ทันคือช่วงที่ คสช.ขาขึ้นอยู่แล้ว ไม่ต้องเตรียมพรรคอะไรมากหรอก พรรคขนาดกลางก็เตรียมพร้อมไปในทางคนนอกก็ได้ แต่ตอนหลังขาลงวุ่นวายหมดแล้ว ต่อให้เตรียมพรรคทหารพร้อมก็เสียวไส้ ของอย่างนี้ไม่แน่หรอก ก.พ. 2562 ยังเหลือเวลาอีกปี อะไรก็เกิดขึ้นได้ กระแสความนิยมก็เปลี่ยนได้อยู่ดี

Q : ให้น้ำหนักกับคำพูดของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ยอมรับว่า ประชาชนเริ่มเบื่อ คสช.มากแค่ไหน

ในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหารท่านดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ปัจจุบันท่านเป็นทหารเกษียณ แต่กองทัพยังสนับสนุนอยู่ การรัฐประหารทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ ผู้นำทหารที่ยังบัญชาการทัพอยู่ก็สามารถขับเคลื่อนพลมาทำรัฐประหารได้ ถ้าเขาอยู่ในอำนาจนาน และมีแนวโน้มนำพาประเทศเสียหาย กองทัพต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของกองทัพ

กองทัพไม่มีความจำเป็นจะเอาหน้าตา ภาพลักษณ์ ไปผูกกับทหารที่เกษียณแม้แต่นิดเดียว ถ้าทหารเกษียณนำพากองทัพล่ม กองทัพไม่ยอมล่มด้วย แม้กอดคอกันไป ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน แต่จะลากกองทัพลงไปด้วยไม่ได้หรอก กองทัพไม่ยอมเด็ดขาด

Q : กระแสขาลงใกล้ถึงจุดที่อาจารย์บอกหรือยัง

ยัง ต่างกับตอนพฤษภาทมิฬที่ตอนนั้น พล.อ.สุจินดา (คราประยูร) กำลังจัดตั้งรัฐบาล และจะอยู่ยาว แต่นี่กำลังจะไป ทุกคนบอกว่าเดี๋ยวก็เลือกตั้ง เดี๋ยว คสช.ก็ไป กำลังจะหมดเวลาอยู่แล้ว กองทัพก็ดูว่าถึงเวลาต้องเลือกตั้ง ถ้าท่านลงจากหลังเสือดี ๆ กองทัพไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย หรือถ้าท่านรู้จักวิธีที่ทำให้ท่านอยู่ได้ สร้างความเจริญให้กับประเทศและกองทัพก็ได้ชื่อเสียงไปด้วย ในฐานะเป็นเสาหลักค้ำจุน ดังนั้น จึงไม่เกิดเหตุพฤษภาทมิฬตอนนี้เพราะ คสช.กำลังจะไป

Q : เชื่อว่า ผบ.ทบ.กับรัฐบาลยังเดินเป็นจังหวะเดียวกัน

ในแง่สายบังคับบัญชาก็ต้องเคารพรัฐบาล แต่ก็รู้นี่ ถึงเวลาอะไรก็เกิดขึ้นได้

Q : การรัฐประหารซ้อนในช่วงนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

จะซ้อนไปทำไม ก็ คสช.กำลังจะไป ไม่ได้เริ่มต้นอยู่ ถ้าจะซ้อนก็ควรจะซ้อนตั้งแต่ต้น ๆ จะซ้อนเพื่อให้เลือกตั้งเร็วขึ้นเหรอ ถ้าซ้อนตอนนี้ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เอาไหมล่ะ…บรรดาที่เรียกร้องการเลือกตั้ง เรียกร้องรัฐประหาร ไม่ชอบลุงตู่ ลุงป้อม เว้นแต่จะบอกว่าเอารัฐธรรมนูญ 40-50 มาใช้ทันที และพร้อมจะกลับไปสู่วังวนเดิม ๆ ไหม

ตอนนี้อยู่ในสภาวะอิหลักอิเหลื่อตรงที่กำลังไปถึงโรดแมป ถ้าไปฉีกกลางคันยิ่งช้า เดินชุมนุมประท้วงใหญ่โต กว่าบ้านเมืองจะลงเอย ลงตัว กลับมามีการเลือกตั้งก็ยิ่งช้าไปอีก ตอนนี้พยายามให้ คสช.ประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนดีกว่า จะหลังเลือกตั้ง ก.พ. 2562 ก็ให้ชัดเจน

Q : จะมีอุบัติเหตุในฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่

พยายามไม่ให้เกิดดีกว่า ให้มีความสามารถกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนหลังจากผ่านร่าง พ.ร.ป.ส.ส.และ ส.ว. รัฐบาล และ คสช.ต้องพยายามแก้ปัญหา กกต.ชุดใหม่ ตอนนี้มีปัญหาอยู่ว่า กกต.ชุดใหม่เข้ามาก็ยังไม่ลงตัว และจะยุ่งอีก ซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐบาลและ คสช. เพราะมีเรื่องของว่าที่ กกต.ไม่ผ่านการรับรอง ต้องไปคัดสรรใหม่ ถ้ายิ่งช้าก็ทำให้เห็นว่าใช้ประเด็นที่เป็นปัญหายืดเวลาออกไป และเงื่อนไข กกต.จะเป็นตัวถ่วงโรดแมป

Q : ม็อบที่เริ่มมีการจุดขึ้นมาจะจุดติดหรือไม่

คิดว่าคงไม่จุดติดอะไรใหญ่โต แต่เป็นข้อดีที่เราจะไม่มีเผด็จการทหารยาวนานได้ การที่ผู้คนแสดงเจตจำนงให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเป็นแง่ดี ไม่คิดว่าบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถ้าผู้นำยืดเยื้ออยู่ในอำนาจ คงไม่ออกมาได้แข็งขันขนาดนี้ อย่าไปแบ่งพวกเขา พวกเรา การมีคนไทยแบบนี้ ในจังหวะแบบนี้อยู่เป็นเรื่องดี

Q : คสช.ก็มีโรดแมป ของผู้ชุมนุมก็มีโรดแมปอยากเลือกตั้ง ใครจะถึงเส้นชัยก่อนกัน

โรดแมปของ คสช.ยังไงก็เป็นไปตามกระบวนการ แต่อาจจะฟังดูแล้วยืดตลอดเวลา แต่ใครจะถึงก่อนไม่ก่อนอย่างไรก็ต้องเลือกตั้ง ถ้า คสช.หรือ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งที่แน่นอน อาจช้ากว่า ก.พ.หลายเดือน แต่ถ้าแน่นอนทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าเบี้ยวอีกทีทุกอย่างก็แหลก พวกที่มาเร่งเลือกตั้ง เขาก็มีพื้นที่ตามท้องถนนมากขึ้น รวมทั้งพื้นที่ในความรู้สึกของผู้คนด้วย เพาะคนก็ไม่รู้จะเถียงอย่างไร

Q : ประเมินว่าเส้น ก.พ. 2562 คือโรดแมปสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่

ต้องจับตาดู กกต. เพราะคนที่จะประกาศไม่ใช่ คสช.หรือรัฐบาล การเลือกตั้งทั้งหมด กกต.หารือกับพรรคการเมืองแล้วประกาศ ถ้า พ.ร.ป.ทุกอย่างเสร็จแล้วก็ต้องดูว่าใครจะรับรอง กกต.ชุดใหม่ ใครเป็นคนยื้อ ถ้า กกต.ชุดใหม่ผ่านแล้ว กกต.ชุดใหม่ก็จะต้องรีบหารือกับพรรคการเมือง ดีไม่ดี ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. และ ส.ว.ผ่าน กกต.เรียบร้อย การเลือกตั้งก็อาจจะเร็วกว่า ก.พ. 2562 ก็ได้