ค่าตอบแทนใหม่ กำนัน-ผญบ. ใช้เงินภาษี 4,795 ล้านบาทต่อปี

ค่าตอบแทนใหม่ กำนัน-ผญบ. ใช้เงินภาษี 4,795 ล้านบาทต่อปี
ภาพจาก มติชน

เพจไทยคู่ฟ้า โพสต์ อัตราค่าตอบแทนใหม่ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ใช้งบประมาณ 4,795 ล้านบาทต่อปี พ่วง อบต. 5,300 แห่ง มีผล 1 ตุลาคม 66

วันที่ 17 มีนาคม 2567 เพจไทยคู่ฟ้า โพสต์ข้อความ ระบุ อัตราเงินตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยใช้เงินงบประมาณ จำนวน 4,795 ล้านบาทต่อปี

ครม. ไฟเขียว “ปรับอัตราเงินตอบแทนใหม่” กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

ที่ประชุม ครม. (14 มี.ค. 66) มีมติเห็นชอบ “ปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทน” ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 4,795.65 ล้านบาท/ปี

โดยการปรับปรุงอัตราเงินตอบแทนครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน อีกทั้งค่าตอบแทนเดิมไม่ได้มีการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 60 แบ่งเป็น

แบบปรับฐาน

Advertisment
  • กำนัน เงินตอบแทน 12,000 บาท/เดือน (ปรับเพิ่ม 2,000 บาท/เดือน)
  • ผู้ใหญ่บ้าน เงินตอบแทน 10,000 บาท/เดือน (ปรับเพิ่ม 2,000 บาท/เดือน)
  • แพทย์ประจำตำบล เงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (ปรับเพิ่ม 1,000 บาท/เดือน)
  • สารวัตรกำนัน เงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (ปรับเพิ่ม 1,000 บาท/เดือน)
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง เงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (ปรับเพิ่ม 1,000 บาท/เดือน)
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ เงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (ปรับเพิ่ม 1,000 บาท/เดือน)

แบบขั้นวิ่ง : จากเดิมขั้นละ 200 บาท/ปี ปรับเพิ่มเป็นขั้นละ 300 บาท/ปี กรณีที่ได้ 2 ขั้น จาก 400 บาท/ปี ปรับเป็น 600  บาท/ปี

  • กำนัน แบบขั้นวิ่งใหม่ 29.13 บาท/เดือน
  • ผู้ใหญ่บ้าน 280.15 บาท/เดือน
  • แพทย์ประจำตำบล 29.13 บาท/เดือน
  • สารวัตรกำนัน 58.26 บาท/เดือน
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง 618.59 บาท/เดือน
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ 191.19 บาท/เดือน

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย “เงินค่าตอบแทน” นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่…) พ.ศ. …

Advertisment

โดยให้จ่ายเงินค่าตอบแทนตามบัญชี “อัตราค่าตอบแทนใหม่” ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 เป็นต้นไป และกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับ “รายได้ของ อบต.” ซึ่งในปัจจุบันมี จำนวน 5,300 แห่ง แบ่งออกเป็น 6 ช่วง ประกอบด้วย

รายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 25,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 15,480 บาท/เดือน  ประธานสภา อบต. และรองประธานสภา อบต. 10,880 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 7,080 บาท/เดือน

รายได้เกิน 10-25 ล้านบาท (3,562 แห่ง)

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 35,600 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 21,180 บาท/เดือน  ประธานสภา อบต. 15,180 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,420 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 9,660 บาท/เดือน

รายได้เกิน 25-50 ล้านบาท (525 แห่ง)

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 40,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 24,840 บาท/เดือน  ประธานสภา อบต. 15,840 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,960 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 10,080 บาท/เดือน

รายได้เกิน 50-100 ล้านบาท (166 แห่ง)

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 46,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 28,500 บาท/เดือน  ประธานสภา อบต. 16,500 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 13,500 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 10,500 บาท/เดือน

รายได้เกิน 100-300 ล้านบาท (30 แห่ง)

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 63,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 38,220 บาท/เดือน  ประธานสภา อบต. 24,720  บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 20,250 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 15,750 บาท/เดือน

รายได้เกิน 300 ล้านบาท (8 แห่ง)

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 75,530 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 45,540 บาท/เดือน  ประธานสภา อบต. 30,540 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 24,990 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 19,440 บาท/เดือน

การปรับอัตราค่าตอบแทนในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียม เทียบเท่ากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาลแล้วนั้น ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของผู้บริหาร และสมาชิกสภา อบต. เนื่องจากไม่ได้มีการปรับค่าตอบแทนมานานกว่า 11 ปี โดยช่วงที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการ “รับฟังความคิดเห็น” ปรากฏว่า 92.20% เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว

ค่าตอบแทนใหม่ กำนัน-ผญบ.
ภาพจากเพจ ไทยคู่ฟ้า