กฎหมาย ส.ว.ไม่พ้นบ่วงกรรม 25 สนช.คาใจ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ?

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. …อันเป็นหัวใจสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง จะผ่านการเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยคะแนนขาดลอย

โดยร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ผ่านแบบเอกฉันท์ ก่อนจะลงมติเห็นชอบ 211 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 7 จากผู้เข้าร่วมประชุม 218 เสียง

ส่วน “เสียงโหวต” ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แม้ไม่ผ่านด้วยเสียงเอกฉันท์ แต่ก็เกือบเอกฉันท์ เพราะเสียงลงมติ 202 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 216 คน

แต่ใช่ว่าร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับว่าจะผ่านด่าน บังคับใช้เป็นกฎหมายได้โดยง่ายเพราะเสียงทักท้วงของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ห่วงว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เรื่องการแยกประเภท ส.ว.เป็น 2 ประเภท คือ 1.ให้ ส.ว.สมัครอิสระ 2.ให้องค์กรนิติบุคคลเป็นผู้ส่งสมัคร กังวลว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?

ยังเป็นเสียงเตือนที่มีน้ำหนัก ถึงขั้น “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. แนะให้ สนช.เข้าชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “มีชัย” ห่วงว่ากฎหมายลูกที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แบบถล่มทลาย แต่สุดท้ายอาจตกม้าตายขัดรัฐธรรมนูญ

เพราะครั้งแรก “มีชัย” ส่ง “จดหมายน้อย” ถึง “พรเพชร” ให้ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรื่องการยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีลักษณะต้องห้าม สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่มาแล้ว และ สนช. 32 คน ก็ปฏิบัติตามคำ “แนะนำ” ของ “มีชัย-พรเพชร” เข้าชื่อยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา และศาลรับไว้พิจารณา 26 ม.ค. และให้ สนช.ยื่นคำชี้แจง 5 ก.พ. โดยศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยจนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัย

ดังนั้น ในส่วนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็มีสิทธิที่จะส่งไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญให้พิพากษาได้เช่นกัน

ตามไทม์ไลน์การตรากฎหมายลูก กำหนดว่า หลังจากร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ ส.ส.- ส.ว.ผ่านการเห็นชอบของ สนช.แล้ว

“พรเพชร” ประธาน สนช.จะดำเนินการ “ตรวจปรู๊ฟ” ร่างสุดท้าย ดูคำตก คำหล่น คำซ้ำ ใช้เวลา 7-15 วัน ตรงกับปลายเดือนมีนาคม

เมื่อถึงมือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะนายกฯ จะรอไว้ 5 วันตามรัฐธรรมนูญ 148 เพื่อดูว่ามี สนช.หรือนายกรัฐมนตรีเห็นแย้งหรือไม่ ดังนั้น ในต้นเดือนเมษายน ก่อนสงกรานต์ต้องรู้แล้วว่าจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยช่องทางการยื่นศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ช่องทางคือ 1.สนช.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 25 คน เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ช่องทางที่ 2 นายกฯเป็นผู้ยื่น

ถ้าหากไม่มีการ “ทักท้วง” จาก สนช. หรือนายกฯ เห็นว่า กฎหมายลูกที่ผ่านสภา “ไม่ขัด” รัฐธรรมนูญ ทั้งเจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษร ก็จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน

จากนั้นเป็นขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 146 กำหนดกรอบไว้ 90 วัน หากไม่มีอุบัติเหตุ “สมชาย แสวงการ”

ในฐานะเลขานุการวิป สนช.คาดการณ์เบื้องต้นว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในช่วงปลาย มิ.ย.-ต้น ก.ค.

แต่ถ้าหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ “ชะตากรรมโรดแมป” ก็จะถูกโยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินทันทีและ “ทิศทาง” ในศาลรัฐธรรมนูญ จะออกได้ 3 หน้า

หน้าที่ 1 รับคำร้อง แต่วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หน้าที่ 2 วินิจฉัยให้บาง “ข้อความ” ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยข้อความดังกล่าวจะตกไป แล้วนายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ หน้าที่ 3 ขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งจะทำให้กฎหมายทั้งฉบับตกไป และต้องร่างใหม่ 6 เดือน

แหล่งข่าวระดับ “เดินเกม” ใน สนช. ประเมินเสียงที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มี สนช.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้ว 11 เสียง ระยะเวลาจากนี้จนถึงช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์รอเวลาไว้ 5 วัน คือช่วงต้นเดือนเมษายน ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องหาเสียงเพิ่มอีก 14 เสียง เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“แม้ สนช.ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อได้ว่าศาลจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน และไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ก.พ. 2562 เพราะในร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ได้ขยายเวลาบังคับใช้เพื่อให้รองรับการทำไพรมารี่โหวต 90 วัน คาดว่าศาลจะใช้เวลาตัดสิน พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ว.ได้ทันใน 90 วัน ดังนั้น ก็จะไม่ทำให้โรดแมปขยับ”

เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน ก็จะทำให้โรดแมปเลือกตั้ง ก.พ. 62 ขยับได้ แม้ไม่เคยเกิดขึ้น
แต่ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ ว่าจะไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลยุค คสช.

ขณะที่ “พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร” สนช.กล่าวว่า เป็นสิทธิของสมาชิก สนช.ที่กังวลว่ากฎหมายจะมีปัญหาในอนาคตไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่ามีการรวมตัวกันไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หลังจากตนได้ฟังการอภิปรายในที่ประชุมก็มีความชัดเจน และผู้ที่งดออกเสียง และไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ก็มีแค่ 14 คน ยังต้องรวบรวมเสียง ซึ่งไม่รู้ว่าจะพอยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวลอดออกจากห้องประชุม สนช.ว่า ก่อนการโหวต มี สนช.จำนวนหนึ่งจับกลุ่มเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เพียงแต่รอสัญญาณจาก “ผู้ใหญ่” ใน สนช.หารือกันเท่านั้น


โรดแมปเลือกตั้ง ก.พ. 62 ยังคงไม่นิ่ง แม้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับสำคัญจะผ่านการประทับตราโดย สนช.ด้วยมติขาดลอย