ครม.เคาะ กรุงเทพฯ-ชลบุรี-สงขลา เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 33

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล

ครม.เคาะ กรุงเทพฯ-ชลบุรี-สงขลา เป็นจังหวัดเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 33 ระหว่าง 9-20 ธ.ค. 68 โคราชเป็นเจ้าภาพอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่าง 20-26 ม.ค. 69

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบจังหวัดเจ้าภาพสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาทั้ง 2 รายการนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 65 ที่ได้เห็นชอบรับการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ  โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ได้ดำเนินการคัดเลือกจังหวัดเจ้าภาพตามขั้นตอน

และได้สรุปผลการคัดเลือกเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ ครม.รับทราบในครั้งนี้ ได้แก่ ให้กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสงขลา เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 9-20 ธ.ค. 68 และนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. 69

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพ ได้มีหนังสือเชิญทุกจังหวัดทั่วประเทศเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11-28 ต.ค. 65 โดยมีจังหวัดที่สนใจเสนอตัวทั้งแบบจังหวัดเดียวและแบบกลุ่มจังหวัด รวม 14 จังหวัด ประกอบด้วย

1) เสนอตัวแบบจังหวัดเดียว ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และกาญจนบุรี

2)เสนอตัวแบบจังหวัดเดียว (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสงขลา

3)เสนอตัวแบบกลุ่มจังหวัด (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) ได้แก่ กลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ-ศรีสะเกษ และยโสธร, กลุ่มจังหวัด ตรัง-กระบี่-ภูเก็ต และพังงา

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ภายหลังจากให้จังหวัดที่เสนอตัวนำเสนอข้อมูลและความพร้อมด้านต่าง ๆ แล้ว คณะอนุกรรมการพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพ ได้พิจารณาข้อมูลแต่ละจังหวัด ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และชุมชน มีความพร้อมในการบริหารจัดการ มีแผนพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว

โดยมีปัจจัยหลักอยู่ที่สนามแข่งขันและฝึกซ้อม และปัจจัยสนับสนุน เช่น ที่พักและอาหาร สถานพยาบาล การคมนาคม ด้านการตลาดและสิทธิประโยชน์ ด้านบุคลากร อาสาสมัคร สาธารณูปโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ งบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชน