พท.-ปชป.ปรับสูตรสู้กติกา คสช. พลิกแผ่นดินชิง ส.ส.เกรดเอลงสนาม

หากโรดแมปเลือกตั้ง ก.พ. 2562 ไม่ประสบอุบัติเหตุอีกรอบ ก็เหลือเวลาไม่ถึง 1 ปี ก็จะถึงวันเลือกตั้ง ปี่กลองการเมืองจึงเริ่มส่งเสียง

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป จะได้เห็นหัว เห็นหางว่าใครอยู่สังกัดเดิม ใครลาออกไปขั้วใหม่ สังกัดใหม่ ฝุ่นจะตลบกันทั้งกระดาน เพราะคำสั่ง 53/2560 ที่ให้พรรคเก่า 69 พรรค เริ่มทำกิจกรรมเช็กยอดสมาชิกพรรคได้

เป็นจังหวะที่พรรคใหม่ ลงทะเบียน “จองชื่อ” เกือบร้อยพรรค บางพรรคเห็นเงา “นอมินีทหาร” หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

ชื่อพรรคใหม่ที่กำลังถูกจับตา ชื่อว่า “พลังประชารัฐ” ถูกพูดถึงในวงสนทนาการเมืองมาเกินกว่า 2 ปี ที่รวบรวมนักธุรกิจนายทุน-ทหารใหม่ และนักการเมืองตระกูล “ส” เข้าร่วมก๊วน มีข่าวว่าจะขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ มารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค เพื่อ “กันที่” ให้เป็นนายกฯ ในบัญชี

ทว่า…ทั้งหมดลงเล่นภายใต้กติกาเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญมีชัย ที่กาบัตรใบเดียว ได้ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ

เพื่อไทยปรับสูตรเลือกตั้งใหม่

พรรคเก่าอย่างเพื่อไทย ที่อยู่ตรงข้ามกับ คสช. และเสียเปรียบจากกติกาดังกล่าวต้อง “ปรับ” สูตรการเมืองใหม่ เพื่อสู้กับ “กติกา” เลือกตั้งที่ คสช.กำหนด

ทั้งโซนเหนือ-อีสานเหนือ อีสานใต้-ภาคกลาง และภาคใต้ คอนเซ็ปต์เตรียมการเลือกตั้ง ที่จะใช้สู้กับกติการัฐธรรมนูญ 2560 คือ เขตไหนที่เคยชนะต้องชนะมากกว่าเดิม และชนะขาด ไม่ใช่แค่ 2-3 หมื่นคะแนน แต่ต้อง 7 หมื่นคะแนนขึ้นไป

เพราะประเมินกติกาใหม่ว่า ทุก ๆ 7 หมื่นคะแนนที่ ส.ส.เขต เท่ากับจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

จึงเห็นความเคลื่อนไหวของ ส.ส.เพื่อไทยแต่ละภาค ที่ ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมยังคงทำคะแนนเพื่อรักษาฐานเสียงเอาไว้แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวลือถึงการพยายาม “ดูด” ส.ส.ไปซบพรรคทหาร

อีสานยังเหนียวแน่น

ฐานสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือภาคอีสานเหนือกับอีสานใต้

“อีสานเหนือ” ยังไม่ปรากฏข่าวว่า ส.ส.เดินออกจากพรรค ไชยา พรหมา อดีต ส.ส.หนองบัวลำภู ชี้ว่า สถานการณ์ในพื้นที่อีสานเหนือวันนี้ชาวบ้านผิดหวังกับการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล คสช.ที่ตกต่ำ เหมือนกับเป็นการหาเสียงทางอ้อมให้พรรคเพื่อไทยส.ส.อีสานจึงไม่มีใครคิดไปจากพรรค

ขณะที่อีสานใต้ ก็ยังคงเป็น “ปึกแผ่น”จะมีปัญหาเกิดขึ้นเล็กน้อยในบางพื้นที่ ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้งตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ทำให้บางจังหวัดมีเขตเลือกตั้งลดลง ต้องมีอดีต ส.ส.เขต เสียสละไปลงบัญชีรายชื่อ

ส.ส.เหนือไม่หนี แฟนคลับแน่น

ขณะที่ฟากฝั่งภาคเหนือ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” อดีต ส.ส.น่าน กล่าวว่า ทั้งข่าววงนอก-ใน ยังไม่ปรากฏเรื่องการย้ายพรรค เพราะภาคเหนือคือพื้นที่ที่มีฐานเสียงของพรรคหนาแน่น คนในพื้นที่ก็ยังสนับสนุนคนของพรรคเพื่อไทย จึงไม่มีใครคิดย้ายไปจากฐานเสียงตัวเอง

ต่างจากภาคกลางที่อาจเกิดความแปรปรวนของคะแนน มีโอกาสสูงกว่าที่ ส.ส.เหนือ อีสาน และมีโอกาสที่อดีต ส.ส.จะย้ายออกไปจากพรรคแลกกับผลประโยชน์ โดยไม่ได้หวังได้ที่ 1 แต่หวังผลเพียงแค่ทำคะแนนเลือกตั้งสูง ๆ ให้กับพรรคการเมืองที่สังกัดใหม่ แล้วเลิกเล่นไปเลย

ภาคใต้ลุ้นที่ 2 หวังปาร์ตี้ลิสต์

ขณะที่ฝั่งภาคใต้ ส.ส.ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.กลุ่มเสื้อแดง และอยู่ในบัญชีรายชื่อ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ายังลงเขต หรือ บัญชีรายชื่อ แม้คะแนนภาคใต้จะเป็นรองพรรคประชาธิปัตย์

แต่พรรคได้ส่ง ส.ส.เสื้อแดงตัวพ่ออาทิ วีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ไปเสาะหาคนที่จะมาสมัคร ส.ส. ใต้ยุทธศาสตร์ “ชิงที่ 2”

ขณะที่โซนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในการดูแล “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” แกนนำกลุ่มวาดะห์ เป็นผู้รับผิดชอบ เตรียมตั้งพรรคมุสลิม เป็นพรรคลูกข่ายเพื่อไทย โกยคะแนนในพื้นที่ชายแดน

แต่ล่าสุดแผนการดังกล่าวอาจต้อง “พับไว้” ชั่วคราวด้วยปัญหาข้อกฎหมาย แต่แหล่งข่าว อดีต ส.ส.ภาคใต้ชี้ว่า ทุกอย่างต้องรอความชัดเจนหลังจาก 1 เม.ย.

ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชิ่งลงสมัครเขต

ส่วนที่มีเสียวที่สุดคือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการประเมินภายในวอร์รูมพรรคว่า คนที่มีอันดับในบัญชีรายชื่อเกินลำดับที่ 20 ถือว่า “เสี่ยงสอบตก” เนื่องจากกติกาใหม่ทำให้ พรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง

ขณะที่ 10 ชื่อแรกในลิสต์ ต้องกันให้แกนนำพรรค อดีต ส.ส.ทั่วไปต้องอยู่ลำดับถัดไป ดังนั้น อดีต ส.ส.ที่เคยอยู่ในบัญชีรายชื่อบางส่วน ต้องการจะลงเขตเลือกตั้ง เพื่อให้รอดจากการสอบตก

“เมื่ออดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องแย่งกันลงสมัครเขต จึงต้องมีผู้ที่เสียสละมาลงบัญชีรายชื่อ พรรคจะต้องประเมินโอกาสว่า ใครลงเขตไหนแล้วได้คะแนนเยอะที่สุด อย่างน้อยต้องแตะ 7 หมื่นคะแนน ส่วนคนที่มาอยู่ในบัญชีรายชื่อแล้วไม่ได้เป็น ส.ส. ทางพรรคก็ต้องหาวิธีเยียวยาด้วยตำแหน่งอื่น ๆ ทางการเมือง” แหล่งข่าวกล่าว

หลัง 30 เม.ย.ทุกอย่างชัด

“ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรคกล่าวว่า กระแสข่าวสมาชิกกลุ่มวาดะห์ตั้งพรรค รวมถึงสมาชิกบางคนอาจย้ายพรรคใหม่ ยังไม่มีความชัดเจน ยังคงเป็นแค่ข่าวลือโคมลอย แต่หลังจากวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งครบกำหนดให้สมาชิกยืนยันตัวตน จึงจะยืนยันความชัดเจนได้ว่าใครยังอยู่ร่วมงานกับพรรคต่อไป

ปชป.เช็กข่าวกันวุ่น

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายหลังนายธานี เทือกสุบรรณ “น้องชาย” ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) ออกมาโยนหินถามทางตั้ง “พรรค กปปส.”

เกิดเป็นความชุลมุนวุ่นวายภายในพรรคหันซ้าย หัวขวา ถามข่าวคราวอนาคตในสนามเลือกตั้ง-ซบบ้านหลังใหม่ จน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ต้องบัญชาการขุนพล 4 ภาค เช็กเสียงอดีต ส.ส.-สมาชิกพรรคเป็นการภายใน

อีสานไหลออก 2 คน

“คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รองหัวหน้า ปชป.รับผิดชอบภาคอีสาน เปิดเผยว่า มีอดีต ส.ส.ขอย้ายพรรค ไปอยู่พรรคใหม่ 2 คน ปัจจุบันมีอดีต ส.ส.เขต 5 คน บัญชีรายชื่อ 4 คน แต่คาดว่าไม่มีอดีต ส.ส.ขอย้ายพรรคอีก กลับกันมีคนมาขอสมัครลงพื้นที่ ส.ส.เขตมากขึ้น บางเขต 2-3 คน หลายเขตมากกว่า 1 เช่น อดีต ส.จ. อดีตนายกฯ ซึ่งบางคนอาจจะไม่มีที่ลง

“3-4 ปีที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ ทำให้คุ้นเคยรู้จักประชาธิปัตย์มากขึ้น ยืนยันได้ว่าจะได้ ส.ส.มากกว่าเดิม ถ้าจะคุยสักหน่อย ก็ได้เพิ่ม 100% หรือ 20 ที่นั่ง”

หวั่นพลังดูดช่วงโค้งสุดท้าย

“สาธิต ปิตุเตชะ” รองหัวหน้า ปชป. รับผิดชอบภาคกลางว่า ไม่มีใครย้ายพรรค อยู่ครบ 100% เป็นอดีต ส.ส.เขต 26 คน รวมบัญชีรายชื่ออีก 4-5 คน อย่างไรก็ตามยังไม่ใช่ ยอดสุดท้าย แต่ยืนยันว่า “ยังอยู่กันครบ ไม่มีใครเคลื่อนไหว”

แต่เขาก็ยังหวั่นใจถ้ามี “พลังดูด” ในช่วง 3 เดือน-โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งก็เป็นไปได้ การเคลื่อนไหวสูงของพรรคขนาดกลาง-ควบรวมกับพรรค คสช. ภายใต้พรรค “พลังประชารัฐ” จะเป็นคู่แข่งสำคัญ ของประชาธิปัตย์

“ถ้าแข่งกันในเชิงนโยบาย นำเสนอสิ่งที่ดีให้กับประชาชนก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าคนมีอำนาจและใช้อำนาจก็ลำบาก” ยิ่งถ้ามี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่เบื้องหลัง-มีอำนาจรัฐอยู่ในมือก็จะเป็นคู่แข่งสำคัญอย่างแน่นอน

“เป็นคู่แข่งใหม่ที่จะช่วงชิงฐานเสียงกัน ขึ้นกับประชาชนไว้ใจใครมากที่สุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในพื้นที่สุโขทัยยังไม่มีฐานเสียงมากพอ แต่คุณสนธยา คุณปลื้ม พลังชล มีฐานเสียงในพื้นที่และหากไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศตัวเป็นพรรค คสช.ภาคต่อ อาจจะทำให้ฐานเสียงลดลงได้ เพราะกระแสทหารลดลง-ไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน”

อย่างไรก็ตาม “สาธิต” ตั้งเป้าว่า ภาคกลางจะได้ ส.ส.มากกว่าเดิม

ภาคเหนือเน้นลงพื้นที่

“อัศวิน วิภูศิริ” รองหัวหน้า ปชป. ดูแลพื้นที่ภาคเหนือกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีอดีต ส.ส.ภาคเหนือ ย้ายไปอยู่พรรคอื่น ภาคเหนือแน่นปึ้ก แบ่งออกเป็น ส.ส.เขต 12 คน รวมบัญชีรายชื่อ 17-18 คน “สถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ

ขึ้นอยู่กับว่า ใครขยันลงพื้นที่ พบประชาชนมากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับตัว ส.ส.เอง และไม่น่าจะมีคนของพรรคย้ายไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย”

ขณะที่การวางยุทธวิธีการแข่งขันเขากำชับอดีต ส.ส.ว่า ใครคิดจะเป็น ส.ส.ต้องขยันลงพื้นที่ พบประชาชน เพราะโอกาสใช้เงินใช้ทองยาก

ในพื้นที่ภาคเหนือ ก็ยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาธิปัตย์-เพื่อไทย เช่นเดิม แต่ก็เป็นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนมากขึ้น “เที่ยวนี้มีโอกาสทำพื้นที่ มีเวลาให้ ส.ส.ลงพื้นที่คัดเลือกตัวบุคคล”

กปปส.ตั้งพรรคกระทบน้อย

“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้า ปชป. รับผิดชอบภาคใต้ กล่าวว่าจากการตรวจสอบเป็นการภายใน อย่างไม่เป็นทางการ อดีต ส.ส.ภาคใต้ที่ยังติดต่อไม่ได้มี 3 คน นอกเหนือจากนั้นยังยืนยันที่จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปทั้งอดีต ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ จำนวน 50 กว่าคน แต่จะยืนยันอีกทีระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย.ถึงจะรู้จริง ๆ ว่า ใครอยู่-ใครไป

“การแยกตัวออกไปของอดีต ส.ส.กปปส. มีผลต่อประชาธิปัตย์ระดับหนึ่ง แต่ไม่น่าทำให้เราพ่ายแพ้ในระดับเขต แต่เขาอาจจะได้คะแนนไปเพื่อคำนวณเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ”

ถึงแม้จะถูกมองว่าประชาธิปัตย์กับ กปสส.จะเป็นพันธมิตรกัน แต่เขามองว่า กปปส.คือ คู่แข่ง ไม่ใช่พันธมิตร “ออมมือกันเมื่อไหร่แพ้ทันที”

ขณะที่การสนับสนุนใครนายกฯ ก็แข่งกันจริง ซูเอี๋ยกันเป็นนายกฯ ไม่ได้

“เราประชาธิปัตย์จะหนุนคนนอกได้อย่างไร ต้องหนุนหัวหน้าพรรคตัวเองเป็นนายกฯ ไม่มีประนีประนอม”

ทวงคืน ปัตตานี-สตูล

เขาตั้งเป้าการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า “อย่างน้อยต้องได้เท่าเดิมและได้กลับมาทุกคน” โดยเฉพาะการเสียพื้นที่ จ.ปัตตานีและสตูล จะได้กลับคืนมา

พื้นที่สีแดง-3 จังหวัดชายแดนภาคที่มีความเคลื่อนไหวของ “ซูกาโน่ มะทา” อดีต ส.ส.เพื่อไทยเพื่อฟื้นกลุ่มวาดะห์ขึ้นมาและอาจจะมีตั้งพรรคใหม่

“ถือเป็นคู่แข่งหลักประชาธิปัตย์ เพราะได้คะแนนเป็นอันดับสองรองจากประชาธิปัตย์”

“แต่ไม่แน่ใจว่า ถ้าเขาย้ายไปอยู่พรรคอื่นจะมีขึ้นหรือไม่ เพราะพรรคทหารไม่ค่อยโอเคใน 3 จังหวัด คนมุสลิมไม่ค่อยโอเคกับพรรคแนวร่วมทหาร ถ้าเขาย้ายไปอยู่พรรคใหม่ที่สนับสนุนพรรคทหารเขาก็หาเสียงยาก ถ้าชาวบ้านรู้ว่าเป็นพรรคทหารเขาหาเสียงยาก เขาคงไม่ประกาศว่าเป็นพรรคทหาร”