“กิตติ วะสีนนท์” แจงนำ 30 สนช. เข้าชื่อยื่นศาลตีความ “พ.ร.ป.ส.ว.” เหตุหวั่นทำโรดแมปสะดุด

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายกิตติ วะสีนนท์ 1 ใน 30 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) ที่เข้าชื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กล่าวถึงเหตุผลในการเข้าชื่อว่า เป็นผู้งดออกเสียงร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า มีเนื้อหาบางประเด็นที่อาจไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ เกรงว่าอาจเกิดปัญหาถ้ามีผู้ไปยื่นตีความภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้โรดแมปสะดุดได้ จึงคุยกับเพื่อนๆ สนช.ว่า ควรเคลียร์ข้อสงสัยให้ชัดเจนดีกว่า แม้ สนช.จะลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อคนระดับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายของประเทศทักท้วงมา ยิ่งเน้นให้เห็นถึงข้อห่วงใยในอนาคต ถ้ามีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงได้รวบรวมรายชื่อ สนช.ส่งตีความให้เกิดความชัดเจน ไม่มีเจตนายื้อโรดแมปเลือกตั้ง เพราะดูแล้วศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 เดือน ทันโรดแมปแน่นอน ประเด็นที่จะส่งให้ตีความมี 3 เรื่องคือ 1.การลดกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่มเหลือ 10 กลุ่ม 2.การเปลี่ยนวิธีเลือกไขว้ ส.ว.เป็นการเลือกตรงจากกลุ่มอาชีพเดียวกัน 3.การแบ่ง ส.ว.เป็น 2 ประเภทคือ สมัครอิสระ และตัวแทนองค์กร ว่า ประเด็นเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายกิตติกล่าวว่า ส่วนที่นายมีชัยต้องการให้ สนช.ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยนั้น สนช.เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องยื่น เพราะประเด็นที่ กรธ.ทักท้วงไม่ใช่สาระสำคัญของกฎหมาย เป็นแค่เรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผล และเรื่องการช่วยเหลือผู้พิการในการลงคะแนน เรื่องเหล่านี้ หากมีผู้ไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญภายหลัง และมีการตีความว่า ขัดรัฐธรรมนูญจะไม่มีผลกระทบให้กฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับ เพียงแก้ไขประเด็นที่มีปัญหาให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่มีผลอะไรมากมาย แต่เบื้องต้น สนช.และ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เห็นว่า ไม่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์