เส้นทาง 4 นายกฯพรรคเพื่อไทย เบื้องหลังเกมอำนาจ-การหักหลัง

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยที่ต่อยอดมาจากพรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักไทย จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในรอบ 22 ปีให้กับพรรคก้าวไกล เป็นเพียงแค่พรรคที่ได้เสียงอันดับ 2 ในการเลือกตั้ง

แต่แล้วพรรคเพื่อไทยก็กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในเกมชิงอำนาจการบริหารประเทศ เมื่อประกาศร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยอย่างน้อยมี 314 เสียงอยู่ในกระเป๋า บวกกับเสียง สว.ที่จะตามมาโหวตให้ หลังพรรค 2 ลุง พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติรวมมาอยู่ในขั้วเดียวกัน

โดยโหวตให้ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตซีอีโอธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หมื่นล้าน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

พรรคการเมืองใต้เงา “ทักษิณ” ตั้งแต่ไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย มีนายกรัฐมนตรีรวมกัน 4 คน และ “เศรษฐา” จะเป็นคนที่ 5

ต่อไปนี้จะเป็นการย้อนเส้นทางนายกฯ ทั้ง 5 ในพรรคการเมืองที่มี “ทักษิณ” อยู่ทั้งเบื้องหน้าและอยู่หลังฉาก-เบื้องหลัง

Advertisment

ยุคทักษิณเถลิงอำนาจ

แน่นอนว่าคนแรกคือ “ทักษิณ” ที่ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ หลังจากทิ้งธุรกิจโทรคมนาคม เข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคพลังธรรม โดยคำเชื้อเชิญของ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” ก่อนจะมาตั้งพรรคเองในนามพรรคไทยรักไทย กวาด สส.ได้กว่า 248 ที่นั่งในสภา เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรครัฐบาลขณะนั้นได้อย่างราบคาบ ด้วยสโลแกน “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน”

พรรคไทยรักไทย 248 เสียงจับมือกับพรรคความหวังใหม่ ที่มีอยู่ 36 เสียง และพรรคชาติไทย 40 เสียง จัดตั้งรัฐบาล 324 เสียง

9 กุมภาพันธ์ 2544 คือวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือก “ทักษิณ” เป็นนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ขณะนั้น ได้เสนอชื่อ “ทักษิณ” ต่อที่ประชุมให้โหวตเป็นนายกฯ ปรากฏว่าได้รับคะแนนเห็นชอบให้เป็นนายกฯ สมัยแรก ด้วยเสียง 340 เสียง ไม่เห็นชอบ 127 เสียง และงดออกเสียง 30 เสียง

จากนั้นค่อย ๆ ควบรวมพรรคการเมืองเข้ามาอยู่ใต้ชายคาพรรคไทยรักไทย เช่น พรรคชาติพัฒนา พรรคเสรีธรรม พรรคกิจสังคม รวมถึงพรรคความหวังใหม่ด้วย ทำให้เสียงของรัฐบาลทักษิณยิ่งมากขึ้น

Advertisment

รัฐบาลทักษิณกลายเป็นรัฐบาลแรกที่อยู่ครบวาระ 4 ปี แถมยังพาพรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลาย 377 เสียง เป็นรัฐบาลพรรคเดียว โดยทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 โดยมีเสียงเห็นชอบ 377 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 116 เสียง

คนที่เสนอชื่อ “ทักษิณ” ต่อที่ประชุมคือ นายเสนาะ เทียนทอง สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย

“สมัคร” และเกมหักหลัง

ทักษิณสมัยที่ 2 บริหารประเทศต่อมาอีกไม่นาน ก็เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย ท้ายสุดจบลงที่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และต่อด้วยการยุบพรรคไทยรักไทย ขุนพลนักเลือกตั้งของทักษิณกระเด็นกระดอนไปคนละทิศทาง

แต่สุดท้ายก็มาตั้งพรรคใหม่ชื่อว่า “พรรคพลังประชาชน” มี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นหัวหน้าพรรค ลงเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 กติกาใหม่หลังรัฐประหาร ปรากฏว่าพรรคนอมินีของ “ทักษิณ” ก็ยังชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

วันที่ 28 มกราคม 2551 เป็นวันโหวตนายกฯ ปรากฏว่า “สมัคร” ชนะ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 163 งดออกเสียง 3 “สมัคร” จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

แต่การเป็นนายกฯ ของ “สมัคร” ต้องเจอวิบากกรรม เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ กลับมาชุมนุมอีกครั้ง ภายหลังที่รัฐบาลมีความต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 กลุ่มพันธมิตรฯ จึงฉวย “วาระ” ดังกล่าว ขึ้นมาเคลื่อนไหว โดยระบุว่าจะเป็นเกม “นิรโทษกรรมทักษิณ”

สมัครต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ เพราะ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สว.ได้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของ “สมัคร” ว่าเป็นลูกจ้างเอกชน ในการเป็น
พิธีกรรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “สมัคร” ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ

“สมัคร” มีสิทธิกลับเข้ามาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เพราะได้ยุติการจัดรายการไปแล้ว

ย้อนกลับไปวันที่ 12 กันยายน 2551 ถูกกำหนดให้สภาเลือก “สมัคร” กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทว่าฝีในพรรคพลังประชาชนเกิดแตกขึ้นมา เนื่องจาก “สมัคร” ถูกหนุนโดยกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” ของ เนวิน ชิดชอบ ที่มีกำลัง สส.ต่อรองในพรรคสูงกว่า 30 ชีวิต

เมื่อ “สมัคร” พ้นจากเก้าอี้นายกฯ จึงมีการ “เดิมเกม” เปลี่ยนตัวนายกฯ และลดบทบาทการนำของกลุ่มเพื่อนเนวินในพรรคพลังประชาชน

ในวันโหวตนายกฯ จึงเกิดปฏิบัติการ “นัดแล้วไม่มา” ของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะมีการต่อสาย “ทางลับ” ไม่โหวตให้ “สมัคร” กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2

บันทึกของผู้ถูกหักหลัง

“เนวิน” เปิดใจครั้งสำคัญ เมื่อ 7 เมษายน 2552 ในงานแถลงข่าวของกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ได้เป็นแกนหลักตั้งพรรคภูมิใจไทย ขึ้นมาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล แก้แค้นเกมถูกหักหลัง เล่าว่า

“กรณีผมอย่าหยิบมาบอกว่า เป็นกรณีหักหลัง ทรยศ เนรคุณ หากจะพูดถึงกรณีหักหลัง คือกรณีของท่านสมัครที่ไม่โหวตให้กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ผมถือว่ากรณีนี้เป็นกรณีของการหักหลังทางการเมือง”

“ผมเชื่อว่าคนอย่างนายสมัคร พร้อมที่จะเป็นและไม่เป็นนายกฯ หากพวกคุณบอกมาเพียงคำเดียว ว่าไม่ให้ท่านเป็นต่อ”

“หลังจากที่ท่านสมัครโดนคดีชิมไปบ่นไป และไม่ใช่ผมคนเดียวที่ได้รับคำสั่ง ท่านรัฐมนตรีอนุทิน (ชาญวีรกูล) ท่านรัฐมนตรีทรงศักดิ์ (ทองศรี) และทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ได้รับโทรศัพท์จากท่านนายกฯทักษิณหมด แต่ในขณะที่สั่งพวกผม มีการส่งแม้กระทั่งคนใกล้ชิดไปพูดจา เพื่อขอให้ท่านสมัครรับเป็นนายกฯอีกครั้ง”

“มีการประชุมที่พรรคพลังประชาชน ลงมติให้เสนอท่านสมัครอีกครั้ง พอมีมติเสร็จ ส่งตัวแทนคือ คุณยงยุทธ กับอีกหลาย ๆ คนไปเรียนท่านสมัครถึงที่บ้าน เย็นวันนั้นเชิญท่านสมัครกลับมาประชุมที่พรรค เพื่อพูดกับสมาชิก ให้คนใกล้ชิดเอาดอกไม้ไปแสดงความยินดี”

“แล้วหลังจากนั้น ตอนกลางคืนมีการสั่งการกับพรรคร่วมไม่ให้เข้าประชุม และไม่ให้โหวตท่านสมัครเป็นนายกฯ แม้กระทั่ง 9 โมงเช้าวันประชุม ในขณะที่พรรคร่วมไม่เข้าประชุม และสมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมเข้าห้องประชุม เพราะได้รับคำสั่งมาว่า ไม่ให้เข้าประชุม ท่านนายกฯ ทักษิณยังโทรศัพท์ถึงผม ให้บอกคุณพ่อว่า ให้ทำทุกวิถีทางให้ท่านสมัคร เป็นนายกฯ ให้ได้ ในขณะที่คืนวันนั้นมีการตกลงกับพรรคร่วมแล้วว่าไม่เอาท่านสมัคร ถึงต้องเรียกว่า กรณีนี้คือกรณีหักหลัง”

สมชายและเกมหักหลัง

เมื่อที่ประชุมวันที่ 12 กันยายน 2551 เล่นเกม “ลับ ลวง พราง” โค่น “สมัคร” และ “เนวิน” 5 วันต่อมา คือ 17 กันยายน 2551 ก็มีการประชุมสภาครั้งใหม่ เพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ และคนคนนั้นคือ “น้องเขย” ของ “ทักษิณ” ชื่อว่า “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”

เครือข่ายทักษิณกลับมาคุมอำนาจรัฐบาลเบ็ดเสร็จอีกครั้งหนึ่ง โดยคนที่เสนอชื่อ “สมชาย” เป็นนายกฯ ในสภาคือ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน

“สมชาย” ได้รับเสียงโหวต 298 คะแนน ชนะ “อภิสิทธิ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เสียง 163 คะแนน งดออกเสียง 5 คน “สมชาย” ประกาศว่าจะขอทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีให้ดีที่สุด แต่เขาเป็นนายกฯ คนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยได้เข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯ ในทำเนียบรัฐบาล เพราะถูกกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดไว้แล้ว

หักดิบยิ่งลักษณ์

และนายกฯ ของพรรคทักษิณคนล่าสุดคือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว “ทักษิณ” ในนามพรรคเพื่อไทย ที่ชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ที่ได้ 265 เสียง รวบรวมพรรคการเมืองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับชาติไทยพัฒนา 19 เสียง, ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 7 เสียง, พลังชล 7 เสียง, มหาชน 1 เสียง และประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง

ไฮไลต์คนที่เสนอชื่อ “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกฯ คือ “เสนาะ เทียนทอง” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย คนเดียวกับที่เคยเสนอชื่อ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ รอบ 2 เมื่อปี 2548

แต่ในวันนั้น “เสนาะ” กล่าวพลาดว่า “ขอเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” ทำให้สมาชิกในห้องประชุมต่างส่งเสียงฮือฮา ทำให้นายเสนาะต้องพูดเสนอชื่อใหม่อีกครั้ง สุดท้ายยิ่งลักษณ์ได้เสียงโหวต 296 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง

ทั้งหมดคือที่มา เกมอำนาจ 4 นายกฯ ในพรรคทักษิณ และ เศรษฐา จะเป็นคนที่ 5