สำนักงบฯชง เศรษฐา ทำงบฯขาดดุลเพิ่ม 5 หมื่นล้าน สนองแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร
แฟ้มภาพ เฉลิมพล เพ็ญสูตร

เฉลิมพล-ผอ.สำนักงบฯ กางแผนอัดฉีด 1.8 ล้านล้าน เข้าระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1-2/2567 ชง ประยุทธ์ อนุมัติเงินใช้ไปพลางก่อน 1.5 ล้านล้าน รับมืองบฯปี’67 ล่าช้า 8 เดือน เล็ง เสิร์ฟ รมว.คลังคนใหม่ ขาดดุลงบฯปี’67 อย่างน้อย 5 หมื่นล้าน สนองนโยบาย เศรษฐา แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า

สำนักงบประมาณได้ขออนุมัติระเบียบใช้งบประมาณไปพลางก่อน วงเงิน 1.5 ล้านบาท ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติแล้ว โดยไม่ต้องเข้า ครม. เพราะเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี คาดว่าภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า

ระเบียบดังกล่าวจะประกาศออกมาและส่งหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งส่วนราชการก็จะทำแผนกลับมายังสำนักงบประมาณภายใน 15 กันยายน 2566

และสำนักงบประมาณจะอนุมัติก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อให้ใช้ทันงบประมาณรายจ่ายประจำปี’67 ที่จะล่าช้าออกไป 8 เดือน หรือจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 จากเดิมที่คาดว่างบประมาณ 2567 จะล่าช้า แต่ถ้าการจัดทำงบประมาณเสร็จเร็วสามารถยกเลิกการใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้ทันที

นายเฉลิมพลกล่าวว่า ส่วนปฏิทินร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเข้า ครม.ชุดใหม่นัดแรก หรือนัดที่สอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไตรมาสสุดท้ายจะมีเงินลงไประบบเศรษฐกิจจำนวนเท่าไหร่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า เป็นไปตามแผนรายไตรมาสปี’66 รายจ่ายลงทุนบางเรื่องเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแต่ยังไม่เบิกจ่าย จะเริ่มเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้าย เพราะหน่วยรับงบประมาณต้องเร่ง ไม่เช่นนั้นจะกันเงินงบประมาณไม่ได้ เพราะอนุญาตให้กันได้ไม่เกิน 1 ปี

“เราประมาณการไว้คร่อมเงินไว้ปีหน้าในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปี’67 รวมกัน 2 ไตรมาส มีงบฯลงทุนประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท” นายเฉลิมพลกล่าว

นายเฉลิมพลกล่าวสรุปว่า ประมาณคราว ๆ ช่วงสองไตรมาส 2567 (ม.ค.-มิ.ย. 67) จะมีเงินงบประมาณปี’66 ไปพลางก่อนลงสู่ระบบประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และจะมีเงินกันเหลื่อมปี’66 ประมาณ 1 แสนล้าน นอกจากนั้นยังมีงบฯลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท รวมแล้วจะมีเงินลงในระบบเศรษฐกิจ 1.8 ล้านล้านบาท

นายเฉลิมพลกล่าวว่า สำหรับผลเบิกจ่ายของงบประมาณทุกปี ปีที่ผ่านมาในช่วงสองไตรมาสจะมีผลเบิกจ่ายประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท จึงใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่มีปัญหาเงินเข้าสู่ระบบ

เมื่อถามว่าห่วงเรื่องอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ นายเฉลิมพลกล่าวว่า คงต้องทำตามนโยบายที่กำหนดมาให้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการชี้แจงให้รัฐบาลใหม่ได้ทราบว่างบประมาณมีจำนวนเท่าใด

เมื่อถามว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท 5.6 แสนล้านบาทจะจัดสรรเงินมาจากไหนได้บ้าง นายเฉลิมพลกล่าวว่า ตนยังตอบไม่ได้ แต่ที่สามารถตอบได้คือข้อเสนอต่อรัฐบาลในการปรับลดงบประมาณบางเรื่องลงเพื่อมาทำตามนโยบายเงินดิจิทัลให้ได้ส่วนหนึ่ง

และอาจจะต้องเสนอว่าต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณได้บ้างหรือไม่ โดยต้องหารือกับ 4 หน่วยงาน (คลัง สภาพัฒน์ แบงก์ชาติ สำนักงบประมาณ) ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การกู้ ส่วนจะกู้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรายได้ ถ้าจัดเก็บรายได้เกินเป้าก็กู้น้อยลง หรือเครื่องมืออื่น ซึ่งสำนักงบประมาณต้องหารือกับกระทรวงการคลัง

เมื่อถามว่า การเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ถ้าจะต้องเพิ่มวงเงินสามารถเพิ่มได้อีกเท่าไหร่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า ต้องประเมินจากการจัดเก็บรายได้จริงว่าจะเป็นอย่างไร

“ถ้าเป็นผมก็อยากจะขอเพิ่มไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ถ้าได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง การปรับงบประมาณรายจ่ายปี’67 ที่ทำไว้บางอย่างจะช่วย” นายเฉลิมพลกล่าว

นายเฉลิมพลกล่าว การจัดทำงบประมาณปี’67 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท เป็นการจัดงบประมาณขาดดุล 5.9 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดีเป็นการขาดดุลน้อยกว่างบประมาณปี’66 ที่ขาดทุน 6.5 แสนล้านบาท หากปี’67 จัดงบประมาณขาดดุลเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาทก็ยังน้อยกว่างบฯปี’66 ตนจึงพูดได้ว่า สามารถเพิ่มวงเงินงบฯปี’67 ได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท

เมื่อถามว่างบประมาณกองทัพยังตัดได้อยู่หรือไม่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ตนมีหน้าที่ทำตามนโยบาย

เมื่อถามว่า ประชาชนต้องทำใจล่วงหน้าหรือไม่ว่าอาจจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม นายเฉลิมพลกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง