กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

กระเป๋าเงินดิจิทัล
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])

ในยุคที่เทคโนโลยีด้านการเงินเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้รัฐบาล ผู้บริโภค และร้านค้าได้ประโยชน์พร้อมกัน ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2560 และ 2561 รัฐบาลมี “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” ผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านการคัดกรอง 14.6 ล้านคนจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในบัตรจะมีวงเงินต่าง ๆ เช่น ค่าซื้อสินค้าจำเป็นในร้านธงฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น

โดยร้านค้าจะเอาบัตรสวัสดิการเสียบเข้ากับเครื่อง EDC (เป็นเครื่องที่ร้านค้ามีไว้เสียบบัตรของลูกค้าเพื่อชำระเงิน) ตัดเงินจากวงเงินที่ได้รับ โครงการนี้จึงทำให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) และเป็นที่มาของการสร้าง big data ผู้มีรายได้น้อย

ต่อมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 รัฐบาลต้องการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยว ประกอบกับประชาชนเริ่มมีการเรียนรู้ทักษะทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล (digital literacy) มากขึ้น รัฐบาลจึงได้ทำโครงการ “ชิมช้อปใช้” มุ่งกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา เป้าหมายคือต้องการให้ผู้บริโภคไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยและใช้จ่ายด้วย

โดยให้เลือกจังหวัดที่ต้องการไปใช้จ่าย หลังจากนั้นรัฐบาลจะส่งเงินเข้ามาอยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (G-wallet) มีคนเข้าโครงการมากถึง 11.8 ล้านคน พ่อค้าแม่ค้าก็รับเงินค่าสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ด โครงการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ digital literacy และ G-wallet

ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พี่น้องประชาชนจำนวนมากต้องตกงาน ขาดรายได้ ไม่สามารถออกไปขายของซื้อของได้ รัฐบาลจึงออกโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อเติมรายได้อย่างเร่งด่วน เพื่อประคับประคองรายจ่ายในชีวิตประจำวันเข้าไปยังบัญชีธนาคารของผู้ที่ผ่านการคัดกรองโดยตรง บางรายก็ผ่านระบบพร้อมเพย์

รวมแล้วมีจำนวน 15.3 ล้านคน โครงการนี้รัฐบาลต้องแข่งกับเวลาและช่วยเฉพาะคนเดือดร้อน ทำให้รัฐบาลเห็นขีดความสามารถของระบบดิจิทัลในการสนับสนุนการหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 และค่อย ๆ กลับสู่ภาวะปกติ ในช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลจึงต้องการกระตุ้นการบริโภคโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ผ่านโครงการ

“คนละครึ่ง” ซึ่งมีคนเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 20 ล้านคน โดยฝั่งผู้บริโภคจะใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และฝั่งร้านค้าจะรับเงินผ่านแอปพลิเคชั่นถุงเงิน โครงการนี้ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งช่วยให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากโควิด-19 โครงการนี้ทำให้มีแอปพลิเคชั่นไว้ซื้อขายกัน

จากโครงการต่าง ๆ ถ้าเราเอามาถอดบทเรียน จะพบว่ารัฐบาลวางโครงสร้างพื้นฐานการใช้ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการเอาไว้แล้ว เช่น มีแอปพลิเคชั่นรองรับการซื้อขาย มีระบบการยืนยันตัวตน มีการจำกัดสินค้าว่าต้องเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น มีระบบจ่ายเงินรับเงินที่ตรวจสอบได้ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอยู่ในระบบการซื้อขายอยู่แล้ว และมีตำแหน่งที่ตั้งชัดเจน และมีฐานข้อมูลหลังบ้านที่สามารถดึงมาสร้าง big data เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายไว้ใช้ออกแบบนโยบายในอนาคตได้

ฉะนั้น โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ถ้าจะทำ) ควรนำข้อดีที่สกัดได้จากโครงการต่าง ๆ ข้างต้นมาใช้ ก็จะทำให้โครงการไม่ต้องเริ่มจากการนับหนึ่งใหม่ เพราะการเริ่มใหม่ไม่ง่าย และมีหลายประเด็นต้องพิจารณา (ขอไม่พูดถึงแหล่งที่มาของเงินที่ใช้) ได้แก่

1.แพลตฟอร์มรองรับ : จะใช้แพลตฟอร์มอะไรรองรับคนจำนวน 50 ล้านคน ใครเป็นคนบริหารจัดการ ระบบจะรองรับการยืนยันตัวตนระดับหลายสิบล้านคนได้ไหม รองรับปริมาณการซื้อขายในแต่ละชั่วโมงได้อย่างไร ใหญ่สุดตอนนี้น่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นเป๋าตังที่มีคนใช้ประมาณ 40 ล้านคน ฉะนั้น จำนวนคนที่มากกว่านี้จึงท้าทาย (เสี่ยง) พอสมควร ใครจะเป็น call center ในเชิงพื้นที่หน่วยงานไหนดูแล

2.กลุ่มเป้าหมายทั้งคนและสินค้า : ใครบ้างที่ควรได้รับเงินจากโครงการนี้ ถ้าดูมิติอาชีพ นักการเมือง ข้าราชการ พระสงฆ์ ผู้ต้องขัง ควรได้ด้วยหรือไม่ ถ้าดูมิติรายได้ คนรวยควรได้ด้วยหรือไม่ เป็นต้น สินค้าที่ซื้อขายได้ควรเป็นประเภทใด เบียร์ สุรา ยาสูบ สินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ นับรวมไหม โอนจ่ายใช้หนี้ไม่ได้ใช่หรือไม่ ป้องกันอย่างไร บริการสาธารณะที่จำเป็น เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ สองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้างใช้ได้ไหม

3.การเปลี่ยนคูปองเสมือนเป็นเงินสด : ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญมากสำหรับพ่อค้าแม่ค้า เขาคงอยากถอนได้เป็นเงินสดมากกว่าเป็นคูปองไว้ใช้จ่ายในฐานะผู้บริโภค หรือคูปองไว้ซื้อวัตถุดิบต่อในฐานะร้านค้า ถ้าเอาเงินสดออกมาไม่ได้ การนับตัวคูณในทางเศรษฐศาสตร์ 2 เท่า 3 เท่าก็วัดไม่ได้ วัดภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร เข้าไปอยู่ใน GDP หรือไม่ ถ้าเอาออกมาเป็นเงินสดระหว่างทางได้น่าจะดีกว่าหรือไม่ หรือเอาออกได้เฉพาะร้านค้าปลายทาง ซึ่งอาจจะเป็นร้านค้าใหญ่ ๆ เท่านั้นหรือไม่

4.การกำหนดรัศมีการใช้จ่าย : โดยการปักหมุดยึดที่อยู่บนบัตรประชาชนเป็นแกน แล้วขีดวงรัศมีการใช้จ่ายออกไปกี่กิโลเมตรก็ตามแต่ จุดประสงค์เปรียบเสมือนการปูพรมหย่อนระเบิดเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมของการใช้จ่าย แต่ประเด็นคือ ในทางเทคนิคจะทำอย่างไร ละติจูด ลองจิจูดจะคลาดเคลื่อนหรือไม่ คนต่างจังหวัดที่ไปทำงานต่างถิ่นจะใช้เงินอย่างไร ในรัศมีของแต่ละคนมีร้านค้าที่เข้าโครงการไหม เช่น ประชาชนชายขอบชายแดน เป็นต้น

ดังนั้น โครงการนี้หัวใจสำคัญอยู่ที่การสตาร์ตเครื่องยนต์การบริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศพร้อม ๆ กัน แต่โครงการใหญ่ งานละเอียด ใช้งบประมาณมากแบบนี้ ถ้าจะทำจริงแบบนับหนึ่งใหม่ต้องใช้เวลา หาวิธีปิดช่องโหว่ ประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้วยภาษาชาวบ้าน และต้องสร้างระบบติดตามที่สามารถประเมินผลของนโยบายได้