เปิดเอกสารคำชี้แจง นโยบายเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เปิดคำชี้แจงเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 23 สิงหาคม 2566

หลังนายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 23 สิงหาคม 2566 รัฐบาลผสมเพื่อไทยกับพรรคอื่นรวม 11 พรรค 314 เสียง ประชาชนคาดหวังทันที ต่อนโยบายเร่งด่วนคือ การแจกเงินดิจิทัล จำนวน 10,000 บาท

เอกสารคำชี้แจง นโยบายแจกเงินดิจิทัล หรือที่พรรคเพื่อไทยเรียกว่า เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย (PHEUTHAI Digital Coin : PDC) เผยสมมติฐานแรกแจกเริ่มต้น 5,000-10,000 บาท กรมสรรพากรต้องให้ร้านค้าติดตั้งระบบ Point of Sale (POS) นับเป็นเอกสารตั้งต้นสำหรับนโยบายหัวหอก ระบุไว้ดังนี้

นโยบายแจกเงินดิจิทัล ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เคยชี้แจงว่า นโยบายคือ ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท สำหรับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปภายใน 6 เดือน เพื่อต้องการกระตุก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง “บล็อกเชน” ซึ่งสามารถระบุวิธีการใช้เงินว่าจะนำไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง ในพื้นที่ตามที่ระบุในบัตรประชาชน

โดยในวันที่ 11 เมษายน 2566 มีการเปิดเอกสารคำอธิบายนโยบาย ดิจิทัลวอลเลต ที่ระบุว่า เป็นคำอธิบายนำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย/ครอบครัวเพื่อไทย เรียกนโยบายนี้ว่า เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย (PHEUTHAI Digital Coin : PDC) เผยเบื้องต้น จะทดลองโอนเริ่มต้น 5,000 บาท

หัวใจสำคัญของนโยบาย

  1. ประชาชนต้องได้รับโอกาสในการใช้ศักยภาพของตนเอง เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวม
  2. ประชาชนมีสิทธิกำหนดชีวิตของตนเองได้อย่างเสมอภาค
  3. ประชาชนสามารถยกระดับรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ดำเนินการพัฒนาระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตนเองสามารถทำได้ด้วยตัวประชาชน

เป้าหมายนโยบาย

คำจำกัดความ ดิจิทัล วอลเลต (Digital Wallet) คือ กระเป๋าเงินดิจิทัล ในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปที่มีธุรกรรมผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ

  1. กระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค ตามแนวทางของ พรรค ประกาศโดยหัวหน้าครอบครัว/ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
  2. ส่งเสริมให้มีการจ้างงานสาธารณะ โดยโอนเงินผ่านกระเป๋าดิจิทัล
  3. ส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่ยเยาว์/ผู้ต้องการเปลี่ยนงาน/ผู้สูงวัยที่ต้องการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเฉพาะวัย ในกระบวนการ เรียนรู้ตลอดชีวิต (Live Long Learning) โดยการเพิ่มทักษะ/เปลี่ยนทักษะ/สร้างทักษะใหม่ที่สำคัญต่อการหางาน ที่รัฐบาลส่งเสริมโดย อุดหนุนผ่านกระเป๋าดิจิทัล

มาตรการการโอน มาตรการทางการคลัง

รัฐบาลโอนสินทรัพย์ที่เรียกว่า เหรียญดิจิทัล (Digital Coin หรือเรียกว่าเหรียญดิจิทัลเพื่อไทย) เข้าสู่กระเป๋าเงิน ตามเลขที่ลงทะเบียนไว้ เช่น ประชาชนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก ประมาณ 50 ล้านคนในเบื้องต้น เพื่อทดลองโอนกระเป๋าละ 5,000-10,000 บาท เอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่า แล้วแต่นโยบายรัฐบาลและทรัพยากรทางการเงิน ต้องพิจารณาต่อไป

ภาพเหตุการณ์ที่ 1

การโอนทางการคลัง ขั้นต่ำ 50 ล้าน x 5,000 บาท=250,000 ล้านบาท จะก่อเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมหภาค 6 เท่า (Marginal Propensity to consume=0.7, Multiplier=6) ก่อให้เกิดการหมุนเวียน (ในราคาปัจจุบัน) 250,000 x 6=1,500,000 ล้านบาท (one time shock and last 6 months) ผลการโอนจะส่งผลต่อการบริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (17.36 ล้านล้านบาท ณ ราคาปัจจุบัน ในปี 2565+1.5 ล้านล้านบาท)

ภาพเหตุการณ์ที่ 2

การโอนทางการคลังขั้นต่ำ 50 ล้านx10,000 บาท=500,000 ล้านบาท จะก่อเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมหภาค 6 เท่า (Marginal Propensity to consume=0.7, Multiplier=6) ก่อให้เกิดการหมุนเวียน (ในราคาปัจจุบัน) 500,000 x 6=3,000,000 ล้านบาท (one time shock and last 6 months) ผลการโอนจะส่งผลต่อการบริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (17.36 ล้านล้านบาท ณ ราคาปัจจุบัน ในปี 2565 + 3.0 ล้านล้านบาท)

การกระตุ้นเศรษฐกิจ

การกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค การกระตุ้นการบริโภค ส่งผลต่อให้เกิดการกระตุ้น การลงทุนของภาคเอกชน การส่งออก สุทธิ (Export-Import) ผนวกกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย (ที่พรรคนำเสนอ กกต.) โดยรักษาเสถียรภาพทางราคาและวินัยการเงิน การคลัง จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหภาคได้ร้อยละ 5% ต่อปี ในปี 2567-2568, 2569 และ 2570 ตามลำดับ เอกสารดังกล่าวระบุว่า การวิเคราะห์ในรายละเอียดนำเสนอต่อไป

วินัยการเงิน-การคลัง

รัฐบาลมอบกรมสรรพากร ให้เชิญชวนร้านค้าที่เข้าร่วมรายการติดตั้ง Point of Sale (POS) เพื่อบันทึกการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value added tax) จากการซื่อขาย หากยอดขายต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และถ้ารายได้ของการประกอบการต่ำกว่าเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีรายได้

ทั้งนี้ เพื่อระดมทรัพยากรการโอนเงินดิจิทัลในรอบถัดไป ทั้งสองภาพเหตุการณ์ รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 105,000-210,000 ล้านเป็นอย่างต่ำ (ยังไม่นับรวมรายรับภาษีรายได้ของ บุคคลและนิติบุคคล)

ไม่สร้างปัญหาต่อนโยบายการเงิน

เหรียญดิจิทัลเพื่อไทยสามารถนำไปใช้จ่ายได้กับร้านค้าต่าง ๆ ในชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร โดยร้านค้าจะต้องมี Digital Wallet ในระบบเดียวกันเพื่อรับชำระ การใช้เหรียญดิจิทัลนี้จะหมดอายุใน 6 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดตลาดรอง และสร้างความยุ่งยากต่อระบบเงินตรา ตามปกติในกรณีการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการจ้างงานสาธารณะ แต่ยืดอายุตามความเหมาะสมกรณีการเพิ่มทักษะ

เพื่อไม่ให้เกิดการโอนทางการคลังซ้ำซ้อนเป็นภาระทางงบประมาณ ผู้ที่เข้าสู่ระบบ Digital Wallet PT รัฐบาลจะป้องกันไม่ให้เกิดการโอนทางการคลัง หลาย ๆ โครงการที่ทำโดยรัฐบาลที่ผ่านมา โดยใช้ระบบ Blockchain ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลที่บันทึกแล้วไม่ให้เกิดการรับ การโอนซ้ำซ้อน