“สนธยา” ขึ้นรถไฟไฮสปีด EEC หิ้ว “พลังชล” ร่วมหุ้นพรรคทหาร

ร่องรอยการดูดนักการเมือง เก่า-เก๋า ร่วมเป็น “พันธมิตร” การเมืองรัฐบาล เพื่อเป็นท่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับคืนทำเนียบเป็นสมัยที่ 2 ปรากฏความเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนไปทั่ว

คนที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ทำหน้าที่เป็นดีลเมกเกอร์การเมือง แตะมือกับอดีตนักการเมืองไทยรักไทย หลายกลุ่ม หลายก๊ก

นักการเมืองหลายคน ต่างพรรค ต่างมุดรั้ว เข้า-ออก ทำเนียบ ขึ้นตึกบัญชาการพบ “สมคิด” ต่อรองการเป็น “หุ้นส่วน” ทางการเมืองกับ “พรรคพลังประชารัฐ” พรรคนอมินี คสช.ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในห้วงเวลานี้

จนถูกเปรียบว่าเป็นการตั้งพรรคในทำเนียบรัฐบาล ยิ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม มีมติแต่งตั้ง “สนธยา คุณปลื้ม” หัวหน้าพรรคพลังชล เข้ามานั่งเป็น “กุนซือ” “พล.อ.ประยุทธ์” ในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง” พ่วง “อิทธิพล คุณปลื้ม” มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา

ย่อมทำให้กระแสข่าวลือว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะคัมแบ็กการเมืองในอนาคต มีโอกาสมากกว่าคำว่า “เป็นไปได้”

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาเอ็กซ์คลูซีฟ กับ “สนธยา” ถึงที่มา-ที่ไป เหตุใดถึงเป็นนักการเมือง “คนแรก” ที่เข้าไปอยู่ในตึกไทยคู่ฟ้า

ช่วยมิติอีอีซีด้านพื้นที่

“สนธยา” เล่าว่า “ผมกับอาจารย์สมคิดสนิทกันอยู่แล้ว อาจารย์สมคิดต้องการคนมาประสานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งพื้นที่อีอีซีก็บ้านเรา จึงอยากมาช่วย ดูในมิติด้านพื้นที่ เรื่องคน ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักธุรกิจ นักลงทุนในพื้นที่ คือส่วนสำคัญที่ทำให้อีอีซีขับเคลื่อนไปได้ ทำให้ช่องโหว่น้อยลง

เที่ยวนี้ อีอีซี ทั้งรัฐ เอกชน ลงทุน 1.5 ล้านล้าน ถ้าลงไปให้ถูกจุด เงินจำนวนนี้ก็เป็นเงินที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่”

“ดังนั้น งานที่เป็นที่ปรึกษานายกฯก็มีโอกาสได้ทำงาน จะเข้าช้าหรือเข้าเร็วก็ต้องมาทำงานเรื่องอีอีซีอยู่ดี ในเมื่อมีโอกาสเข้ามาได้เลยไม่ต้องรอให้ถึงเลือกตั้ง ถ้าเข้ามาทำงานตั้งแต่ต้นก็สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางร่วมกับประธาน เลขาฯ คณะกรรมการอีอีซีได้ และช่วยขับคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น”

รู้ทั้งรู้ว่าเข้ามาแล้วจะถูกวิจารณ์ร่วมงานกับทหาร ถูกสาดโคลนการเมือง แต่ “สนธยา” เตรียมใจไว้ล่วงหน้า “ยังไงอีอีซีก็ต้องเดิน เรามองเรื่องหลักว่าถ้าเราได้มาทำตอนนี้ ถ้ามัวไปรอให้มีการเลือกตั้งก่อน ก็เท่ากับเราปล่อยโอกาสที่สามารถเข้ามาทำงานได้ให้มันยืดยาวออกไปอีก”

ไม่มี hidden agenda

“เรื่องผลกระทบทางการเมือง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คิดอยู่แล้วว่ายังไงต้องมี ถ้าตัดสินใจเข้ามา พร้อมมาตั้งรับทุกเรื่อง ทั้งในเรื่องการเมือง เราพร้อมที่จะอธิบาย ในพื้นที่เราก็ทำงานทุกวัน ชาวบ้านก็มาถามว่าทำไมร่วมกับทหาร พอเราอธิบายให้ฟังก็เข้าใจ บอกว่า โอเค… ดีแล้ว ผมไม่มี hidden agenda เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือทางการเมือง เพราะเราบอกแล้วว่าเราเข้ามาทำงาน การเมืองเป็นเรื่องอนาคต ถ้าเราได้มีโอกาสมาทำ ทำให้อีอีซีขับเคลื่อนไปถูกทิศทาง ก็เป็นประโยชน์กับพรรคพลังชล ก็ได้ไปโดยปริยาย”

“สนธยา” บอกช่องโหว่-จุดอ่อนของอีอีซีในวันนี้ว่า ชาวบ้านยังไม่รู้จัก ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายรัฐเร่งผลักดันอย่างเต็มที่

“ถ้าถามว่า ผู้บริหารท้องถิ่น ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาชน หรือประชาชน เข้าใจว่าอีอีซีจะให้อะไร ผมคิดว่ากลุ่มเหล่านี้ยังรู้เรื่องอีอีซีน้อยมาก ยิ่งภาคประชาชนไม่ต้องห่วงเลย ชาวบ้านทั่วไป ทำมาหากินไม่รู้จักอีอีซี เพราะเราอยู่ในพื้นที่เรารู้ ยกเว้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค เขานั่งเฝ้าเพื่อมาลงทุน”

“แต่ถ้าบอกว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดภาค 2 ชาวบ้านเข้าใจมากกว่า เพราะเป็นผลที่เกิดขึ้นมาและกระทบชาวบ้านมานาน แต่วันนี้คงต้องไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านมากขึ้น เพื่อเอาสิ่งที่ชาวบ้านต้องการไปให้บอร์ดอีอีซีได้รับรู้ด้วย เมื่อประชาชนเห็นด้วยก็จะไม่เห็นชาวบ้านออกมาคัดค้านหรือประท้วง ยิ่งปัจจุบันต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ถ้าประชาชนไม่ยอมก็ทำไม่ได้”

“ตรงนี้พลังชลสามารถลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนได้ เหมือนที่ผมทำสนามแข่งรถ ลงไปคุยกับชาวบ้านเป็นปี

ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าทำแล้วชาวบ้านจะได้อะไรแบบไหน ศูนย์ทดสอบเรื่องรถจะทำอย่างไร พอทำประชาพิจารณ์ปรากฏว่าคนสนใจมาก และถามมาแค่ 2 คำถาม 1.คนมาเยอะ รถมาเยอะ จะจัดการอย่างไร 2.รับลูกหลานเขาทำงานได้ไหม เห็นชัดเจนว่าคนคิดถึงเรื่องตัวเองเป็นหลัก เรื่องการลงทุนไกลเกินชาวบ้าน อีอีซีก็เหมือนกัน”

กุนซือนายกฯแต้มต่อ “พลังชล”

แม้ว่าจะต้องแบกภารกิจของรัฐบาล ในขณะที่ดอกผลทางการเมืองระยะใกล้ก็ยังไม่ปรากฏ มีแต่ก้อนหิน “สนธยา” ไม่ได้ห่วงเรื่องนี้

“เราต้องไปแบกรับเรื่องนี้ ถ้าเป็น key success ส่วนหนึ่ง ก็ดีสำหรับเรา สำหรับประชาชนและรัฐบาล เหมือนวันนี้ไปไหนคนถามแบบไม่รู้ก็เยอะ ถ้าเราไปทำความเข้าใจกับเขาได้ อีอีซีก็ขับเคลื่อนได้ ในเรื่องอีอีซีตอนนี้เป็นกฎหมายยังไงก็ต้องขับเคลื่อนไป ถ้าเราตั้งหลักถูกตั้งแต่ต้นก็เดินหน้าไปได้”

“ที่คุยกันเบื้องต้นอาจารย์สมคิดจะให้เป็นที่ปรึกษาบอร์ดอีอีซี ต้องคุยกับอาจารย์สมคิด และ ดร.อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม อีกครั้ง เพราะมันต้องเดินแล้ว เราก็ต้องหาข้อมูล”

นักการเมืองบางรายเจรจากับ คสช. แต่ไม่กล้าเปิดตัว เพราะกลัวติดบ่วงขาลงของรัฐบาล แต่สนธยาคิดต่างออกไป

“บางคนมองว่ารัฐบาลขาลง ถูกวิจารณ์ต่าง ๆ ถ้าเข้ามาแล้วอาจถูกร่างแหไปด้วย ถ้าคิดด้านการเมืองแบบนี้ก็คงไม่เข้ามาหรอก แต่ที่เข้ามาเป็นมิติพื้นที่ชัดเจน ถ้าไม่เข้ามาอีอีซีอาจเสียหาย บางทีในอนาคตจะไปแก้ก็ไปถึงไหนแล้ว”

“เช่น วันนี้ขายซองรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เป็นการลงทุนที่สูงที่จะไปสู่ภูมิภาค ณ วันนี้ แม้แต่ในเรี่องเส้นทาง จุดสถานี เป้าหมายผู้โดยสารวันละ 4 หมื่นคน จะมาจากไหน ยังเป็นคำถามอยู่ทุกวัน โลจิสติกส์จะทำอย่างไร การที่ให้คนมาขึ้นรถจะทำอย่างไร ในขณะที่วัฒนธรรมการใช้รถของคนไทยระบบขนส่งขนาดใหญ่กับการขับรถ เป็นเรื่องท้าทาย ต้องศึกษาเรื่องพวกนี้ให้ชัดเจนในเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคว่า สิ่งที่จะได้จากตรงนี้จากความเคยชินจะปรับอย่างไร”

สูตรการเมืองคิดหลังเลือกตั้ง

ภายหลังมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกฯ “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศว่า ไม่รังเกียจนักการเมือง และต้องการทำงานร่วมกับนักการเมือง คนแรก ๆ ที่มาแสดงความยินดีคือ“สุชาติ ตันเจริญ” แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ ที่มีข่าวว่า “สมคิด” เปิดดีลการเมืองเช่นกัน โดยส่งข้อความผ่านไลน์สั้น ๆ แต่ไม่ต้องตีความว่า “เจ๋ง”

แต่คำถามที่ตามไล่หลังทันทีคือ “พรรคพลังชล” จะอยู่ร่วมกับรัฐบาลทหารต่อไปหรือไม่ “สนธยา” ตอบว่า

“ตอนนี้เหมือนทำงานการเมืองร่วมกันในฐานะที่ปรึกษานายกฯ ในอนาคตท่านเองบอกว่ายังไม่ได้ตัดสินใจอะไร ดังนั้น การทำงานการเมืองในอนาคต เราบอกไปเลยว่าจะอยู่กับคนนู้น คนนี้ กับใคร ไม่มีใครพูดหรอก ยกเว้นบางพรรคที่มีจุดยืนที่ชัดเจนของเขาอยู่ นอกจากนั้น ก็มาดูเมื่อถึงเวลา อย่างแรกให้มีการเลือกตั้งก่อนเถอะ ว่าเมื่อไหร่ กระบวนการจะเป็นอย่างไรต้องมาดูอีกทีหลังเลือกตั้ง”

“โอกาสที่จะมาทำงานการเมืองร่วมกันก็มีโอกาสหรือไม่มีโอกาส มีทั้งสองอย่าง แล้วแต่อนาคต การเมืองไม่ใช่ ณ วันนี้ ที่ผ่านมาพูดกันอย่างนี้ พอเลือกตั้งเสร็จก็เปลี่ยนแปลงกันได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ ณ วันนี้ เมื่อมีโอกาสมาทำงานตรงนี้ก็ต้องทำงานให้ดีที่สุด”

สนธยาเชื่อว่า สูตรการเมืองจะลงตัวที่สุดคือหลังปิดหีบเลือกตั้ง

“การเมืองเป็นอะไรที่ถึงเวลาความลงตัวทางการเมือง หรือสูตรการเมืองหลังเลือกตั้ง มันไม่รู้หรอกว่าจะออกมาอย่างไร เป็นแบบไหน ใครจะได้เสียงข้างมาก ใครจะรวมได้เกินกว่าครึ่ง หรือตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เสนอชื่อนายกฯในสภาได้ หากเสนอไม่ได้ก็ต้องขอยกเว้นตามรัฐธรรมนูญ และเสนอชื่อบุคคลภายนอกเข้ามาแล้วเอา ส.ว.เข้ามาร่วมโหวต มันมีกติกาอย่างนี้อยู่ เราไม่รู้หรอกว่าหลังเลือกตั้งเสียงจะเป็นอย่างไร แม้แต่วันนี้พรรคพลังชลยังไม่สรุปเลยว่าส่ง ส.ส.กี่เขต มีแต่ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 25 ที่นั่ง”

ถามเขาว่า โครงการอีอีซีกว่าจะเห็นหน้าเห็นหลังต้องใช้เวลา แต่คนที่จะไปต่อคือรัฐบาลหน้า แนวโน้มที่จะมาเป็นรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลทหารภาค 2 หรือไม่

สนธยาตอบทันทีว่า “ไม่รู้…เรารู้ได้อย่างไรว่าคนเข้าคูหาจะลงคะแนนอย่างไร ถ้ารู้ก็ขัดรัฐธรรมนูญอีกว่าใครลงคะแนนไม่เป็นความลับ การให้คนอื่นมาลงคะแนนให้ไม่เป็นความลับ ศาลรัฐธรรมนูญก็กำลังตีความอยู่ ถ้ามีการเลือกตั้งรัฐบาลหน้ายังไงก็ไม่เหมือนเดิม องค์ประกอบรัฐบาล ทุกวันนี้มาจากทหาร เรื่องตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำงานก็แบบหนึ่ง แต่ถ้ามีการเลือกตั้งรัฐบาลก็เป็นอีกแบบหนึ่ง”

เมื่อถามต่อ คิดว่าพรรคทหารจะได้เป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เขาตอบกลับว่า “ไม่คิดว่าพลังชลจะเป็นบ้างเหรอ … (หัวเราะ) อย่าเซอร์ไพรส์ให้มากนักเลย แค่นี้ก็เซอร์ไพรส์แล้ว”

“สนธยา” บอกว่า ผมไม่เคยสร้างความขัดแย้งกับใคร บางทีถูกด่าทางการเมือง เรายังขี้เกียจโต้

นั่นอาจเป็นเหตุผลว่า เมื่อเข้ามานั่งในทำเนียบจึงไม่มีเสียงต้านในวงการเมืองมากนัก

พลังชล “ชิงสุก” ไปก่อนการเลือกตั้งจะ “ห่าม” รับโอกาสจาก “พรรคทหาร” ก้าวข้ามวิกฤตการเมืองในทำเนียบ โดยไม่ต้องเสียหุ้นส่วนทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงในอนาคตสำหรับคนการเมือง “สนธยา” บอกว่า “เราคงไม่ยอมเสียใครไป ทุกเรื่องอธิบายได้”