แจกแน่เงินดิจิทัล 10,000 บาท เลขานายกฯ ย้ำ 4 เหตุประเทศวิกฤติกบต้ม

นพ.พรหมินทร์

นาทีนี้ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำลังพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนทุกทาง เพื่อเดินหน้าแจกเงินโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ล่าสุด นพ.พรหมินทร์ เลขาธิการนายกฯ ยืนยัน แจกแน่

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ว่า ขณะนี้ สถานะเศรษฐกิจเหมือนกบต้ม กบเป็นสัตว์เลือดเย็น เมื่อถูกต้มถึงจุดหนึ่งก็สุกเลย กว่าจะรู้ตัวก็ตายเสียแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าแบ่งเรื่องสถานะเศรษฐกิจออกเป็นช่วงใหญ่ๆ ที่เริ่มทรุดลงมาเรื่อยๆ 3 ช่วง คือ ก่อนโควิด ช่วงโควิด และ หลังโควิด

ซึ่งเศรษฐกิจไทยโตช้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยแล้ว 7.3% ในปี 1994-1996 (ตัดช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งออกไป)  ปี 1999-2007 จีดีพีโตเฉลี่ย 5.2% และปี 2010-2019 จีดีพีโตเฉลี่ย 3.6%  โดยตั้งแต่ปี 2014-2019 ก่อนโควิด-19 จีดีพีโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.0%

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราตกต่ำเกือบต่ำสุด โดยมีฟิลิปปินส์ ต่ำที่สุด แต่วันนี้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ทะยานขึ้นไปก่อนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว

Advertisment

ขณะที่ประเทศไทยขึ้นช้าสุดในอาเซียน ถ้าวันนี้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ประเมินตัวเลขจีดีพีทั้งปีโตแค่ 1.8% แปลว่ายังไม่ถึงช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งจีดีพีอยู่ที่ 2.2% ดังนั้น ตอนนี้ถือว่า “ยังจมน้ำ”

 

ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่สำคัญคือ สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี ที่จะทำให้ประเทศอยู่ได้ ซึ่งการลงทุนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเราแย่ลง โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 2014 – 2019 สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 23.6%  ต่ำกว่า อินโดนิเซียที่อยู่ที่ 32.5% เวียดนาม 30% เกาหลีใต้ 29.9% มาเลเซีย 24.9% และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 24.7% ซึ่งตัวเลขนี้กำลังบอกว่าประเทศไทยถ้าการลงทุนน้อยกว่าจีดีพี ประเทศจะถอยลง

Advertisment

ดังนั้น เรื่องดิจิทัลวอลเลตยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ขณะนี้การปล่อยกู้จากธนาคาร ยอดที่เคยขึ้นสูงแล้วตกต่ำลงเรื่อยๆ ปล่อยกู้ไม่ได้ เพราะมีเรื่องที่สถาบันการเงินเข้มงวดเรื่องการปล่อยกู้ เพราะกังวลเรื่องหนี้สูญ รวมถึงเรื่องการระดมทุนด้วยการออก bond ต่ำลงเช่นกัน จากที่เคยปล่อยได้สูงแต่ขณะนี้ไม่กล้าปล่อยแล้ว

วิกฤตขาดสภาพคล่อง

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ภาษาวิชาการเรียกว่า liquidity crisis คือ เม็ดเงินไม่พอ จึงมีสัญญาณของ SMEs ที่กำลังมีปัญหามาก มีโอกาสสร้างรายได้ แต่ไม่มีเงิน เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจของเราโตเฉพาะส่วนบน จึงต้องอัดฉีดเงินไปในระบบทั้งระบบ เพราะตอนนี้ขาดสภาพคล่องทั้งระบบ จึงต้องใช้คนเป็นเครื่องจักรในการใช้เงิน ถามว่าวันนี้ยอดการสั่งซื้อของในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม แค่มียอดความต้องการเพิ่มเขาก็ผลิตของเพิ่มขึ้น และต้องทำให้มี momentum เมื่อ momentum ขึ้นไป เรื่องการลงทุนต่างๆ จะตามมา

“ดังนั้น เรื่องแรกที่ต้องทำคือ จะต้องปั๊มหัวใจ ทำให้คนรอดก่อน” นพ.พรหมินทร์ กล่าว

ส่วนคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความเห็นทักท้วงมา จะทำอย่างไร นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้เดินตามขั้นตอน ออกข้อเตือนมาเราก็แก้ไปตามนั้น แต่อย่าเพิ่งลงรายละเอียด

4 วิกฤตต้องกู้

แต่มี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องอธิบายตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 คือ

1.มีความจำเป็นเร่งด่วน ขณะนี้เป็นวิกฤตกบต้ม และกำลังถึงท้องช้างแล้ว อัตราเงินเฟ้อติดลบกันต่อกัน 2-3 เดือน อัตราการเติบโตไม่เป็นไปอย่างที่คิด การส่งออกติดลบ

2.มีวิกฤตและต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการขยายตัวของจีดีพีตกต่ำลงไปกว่า 2019 ช่วงก่อนโควิด-19 และยังไม่กลับมาเท่าเดิม เพราะจากการคาดการณ์ ล่าสุดจีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 1.8% ก็ยังไม่ขึ้นไปถึงระดับเดิม เพราะถ้าถึงระดับเดิม 2.2%

3.ตั้งงบประมาณในปีเดียวไม่ทัน

4.เราต้องรักษาระเบียบวินัยการเงินการคลัง การรักษาวินัยการเงินการคลังเราต้องทำให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของจีดีพี ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 62% ถ้าทำโครงการดิจิทัลวอลเลต ต้องกู้เงิน 5 แสนล้าน ก็จะเพิ่ม 2.3% ดังนั้น ไม่เกิน 64% ของจีดีพี

และเราตั้งงบประมาณใช้คืนหนี้ 3 ปีติดต่อกัน สมมติกู้ 5 แสนล้าน 3 ปี ใช้คืนปีละ 1.7 แสนล้านบาท คืนหนี้ทุกปี 3 ปีก็ใช้คืนหมด

“การกู้เงิน เราใช้หนี้สาธารณะบนเพดานเดิมในรัฐบาลก่อน ไม่ถึง 70% เมื่อเทียบหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ดังนั้น เมื่อโครงการเดินหน้าไป ฐานของจีดีพีโต หนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ลดลงเรื่อยๆ  ที่สำคัญเรายัง asset ของรัฐอีก”

ส่วนจะตกม้าตายตรงคำว่าเศรษฐกิจ วิกฤต-ไม่วิกฤต หรือไม่ นพ.พรหมินทร์ ตอบทันทีว่า “คำว่าวิกฤติไม่วิกฤตินั้นรัฐบาลจะเป็นคนตัดสินใจ ไปดูในรัฐธรรมนูญได้ วิกฤตคือคนเดือดร้อน สุดท้ายสภาเป็นคนตัดสิน การใช้พระราชบัญญัติคือการที่มอบอำนาจให้กับประชาชน ให้ตัวแทนประชาชนตัดสิน การเสนอกฎหมายนี้จะต้องผ่านสภา ไม่แตกต่างจากที่ส่งออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้าน ไม่เห็นมีเสียงบ่นเลย”

“ไม่มีทางที่จะเข้าใจ ถ้าตั้งเป้าจะไม่เข้าใจ ใครไม่ฟังใครไม่รู้ แต่ตัวเลขบอกมาแบบนี้”  นพ.พรหมินทร์ กล่าวและว่า “เรายึดถือความเดือดร้อนของประชาชนและสภาพความเป็นจริง หน้าที่ของรัฐบาล ในฐานะดูแลด้านการคลัง เราต้องหาทางทำให้ประชาชนดีขึ้นในทุกวีธี ทุกวิกฤต”

เมื่อถามว่าจะฝ่าฟันแรงต้านได้อย่างไร “นพ.พรหมินทร์” ตอบว่า “winner attitude ทุกปัญหามีทางออก looser ทุกทางออกมีปัญหา”

เมื่อถามว่า ประชาชนจะได้เงิน 1 หมื่นเมื่อไหร่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้จะทำให้เร็วที่สุด พยายามทำให้ทันตามเป้าหมาย (เดือนพฤษภาคม) หน้าที่ของรัฐบาลจะทำให้ได้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ถามว่า เงินดิจิทัลวอลเลต เป็นยาที่ตรงกับโรคเศรษฐกิจที่จะเป็นอยู่หรือไม่ เลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับเชื่อหมอไหน หมอที่จะนั่งเฉยแล้วปล่อยให้มีปัญหาตกต่ำ หรือ เชื่อหมอที่เคยแก้ปัญหาให้คุณแล้ว”