หมออ๋อง รองประธานสภาคนกลาง บนบัลลังก์เป็นธรรม-ไม่ห่างก้าวไกล

คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ,วรุฒ สุมทุมพฤกษ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” หรือ “หมออ๋อง” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จากพรรคเป็นธรรม แต่ก่อนหน้านี้ เขาคือตัวแทน พรรคก้าวไกล ที่ขึ้นมานั่งบัลลังก์ประธานสภา

เขาต้องทำหน้าที่ ในช่วงเวลาที่ การเมืองใน-นอกสภา ถกเถียงวาระที่แหลมคม ทั้ง การแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประเด็นการเมืองควบเศรษฐกิจ อย่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

มี “พรรคก้าวไกล” ในฐานะหัวขบวนฝ่ายค้านเป็นสมการสำคัญ

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “ปดิพัทธ์” ถึงการทำหน้าที่ในสภาของเขา เป็นตัวแทนของพรรคเป็นธรรม หรือพรรคก้าวไกลกันแน่

สภาควรจัดการอย่างไรกับการแก้ไขมาตรา 112 แก้รัฐธรรมนูญ

พรรคก้าวไกลจะถูก “ยุบพรรค” หรือไม่ คำตอบของเขามีดังนี้

อยู่เป็นธรรม ใกล้ชิด “ก้าวไกล”

คำถามแรกว่าสถานะของเขาว่าอยู่พรรคเป็นธรรม แต่ปฏิบัติหน้าที่ให้พรรคก้าวไกลหรือเปล่า “ปดิพัทธ์” ตอบว่า จริง ๆ ปฏิบัติงานให้ทุกพรรค เพราะสถานะของรองประธานสภาไม่ได้เป็นรองประธานสภา ของใคร แค่ต้องสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ทำงานต้องทำงานให้ทุกพรรค

แต่ถามว่าพรรคเป็นธรรม กับ พรรคก้าวไกล มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันไหม ก็เรียกว่าเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาจมีเวลาพูดคุยกับพวกเขามากกว่าพรรคร่วมรัฐบาล แต่กระทบกับความเป็นกลางไหม..ต้องบอกว่าไม่มี

เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ

แล้วนิยามความเป็นกลางของ “หมออ๋อง” คืออะไร เขาตอบว่า ความเป็นกลางถูกเขียนไว้ต้องเป็นกลางในที่ประชุม หรือในการนำประชุม มีมิติที่ชัดเจนอยู่

คือเราไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเป็นคนมาจากพรรคไหน กฎหมายจะถูกเสนอโดยใคร แต่เรามีมาตรฐานการทำงานที่สม่ำเสมอตรงกัน สส. 500 คนที่อยู่ในห้องประชุม ทุกคนอ่านข้อบังคับข้อเดียวกัน แต่ก็ตีความต่างกัน ใช้ต่างกัน

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของประธานก็คือต้องเป็นผู้วินิจฉัย แต่เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะถูกใจคนทั้ง 500 คน ต้องมีคำวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังว่า วินิจฉัยถูก วินิจฉัยผิด

ผมคิดว่าความเป็นกลาง คือ มาตรฐานการดำเนินงาน ไม่ใช่ว่าเราตัดสินอะไรไม่ได้เลยแล้วห้ามมีคอมเมนต์เลย

แต่ในการทำหน้าที่ประธาน กลับมี สส.ฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นประท้วงว่า “ประธานไม่เป็นกลาง” ในจังหวะที่ให้พรรคก้าวไกลได้พูด หรือได้สิทธิประท้วง เป็นสิ่งที่ทำให้ลำบากใจหรือไม่

เขาตอบทันทีว่า ไม่ลำบากครับ ตอนผมเป็น สส. ผมก็ทำอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนมี Passion ในการอภิปราย ถ้าประธานตัดสินอะไรที่ทำให้เขาไม่สามารถพูดได้ ก็รู้สึกว่าประธานคงไม่แฟร์กับเขา แต่ถ้าสมาชิกติงเยอะ ๆ ก็ต้องกลับมาทบทวนว่าเราตัดสินใจหรือวินิจฉัย ขาดเหตุผลที่รอบคอบหรือเปล่า ซึ่งเป็นประโยชน์

แก้ ม.112 ไม่ล้มล้างการปกครอง

ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีพรรคก้าวไกล หาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ต่อไปนี้สภาจะแก้ไขมาตรา 112 ได้หรือไม่

“ปดิพัทธ์” ตอบว่า ถ้าเราดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีแค่จำเลย 2 คน ก็คือ คุณพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) กับพรรคก้าวไกล ดังนั้น ช่องทางการเสนอกฎหมายยังมีอีก 3 ช่อง คือเสนอโดย คณะรัฐมนตรี เสนอโดยประชาชน เสนอโดย สส. เข้าชื่อกัน 20 คน

ถ้าเราจะเคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือแค่จำเลย 2 ท่านนั้นที่ต้องระวังเป็นพิเศษ และถ้าเราไปดูในคำตัดสิน ท่อนที่เขียนไว้ชัดเจนคือ สามารถเสนอได้โดยในกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

และผมก็ยืนยันว่าการแก้ 112 ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถูกแก้มาแล้วหลายครั้งหลายตอน และโทษตอนนี้หนักกว่าตอนเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เริ่มต้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 และหลัง 6 ตุลา 2519 คณะรัฐประหารเองก็แก้ไขมาตลอด เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันก็มีโอกาสที่จะแก้ได้

และต้องอย่าลืมว่ามันแค่เป็นการแก้กฎหมายอาญา ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันแบบที่ทุกคนเข้าใจ เป็นแค่แก้กฎหมายอาญามาตราเดียวเท่านั้น ที่ทำให้ความผิดได้สัดส่วนที่ถูกต้องและไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง

“ผมว่าการแก้ ม.112 ก็ยังไม่เท่ากับหรือเท่ากับทั้งหมดของการปฏิรูปสถาบัน”

ถามย้ำว่า ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง รองประธานสภาตอบว่า “มันจะล้มได้ยังไงครับ แก้ไขกฎหมาย เราไปดูในประวัติศาสตร์โลก หรือประวัติศาสตร์ไทย การล้มล้างการปกครองทำได้ด้วยการรัฐประหาร กับการมีกองกำลัง การแก้กฎหมายข้อหนึ่ง แล้วการปกครองจะล้มได้เนี่ย ผมว่าเป็นสมมุติฐานที่เกินจริงไปมาก”

ให้สภาเป็นเวทีถกเถียง

แล้วคิดว่าการปฏิรูปในสถาบัน การแก้ไขมาตรา 112 ควรนำมาถกในสภาไหม หรือปล่อยไว้ให้พูดกันนอกสภา “ปดิพัทธ์” กล่าวว่า เรามีบทเรียนจากทั้งไทยและประวัติศาสตร์โลก ว่า ถ้าเราเชื่อในสันติวิธี ถ้าเราเชื่อในเรื่องของสิทธิในการพูด ถ้าเราเชื่อในเรื่องของเสียงส่วนใหญ่ ไม่มีที่ไหนเหมาะสมไปมากกว่าสภาแล้ว

เพราะในสภาเวลาคุณพูด มันไม่มีใครทำร้ายคุณ แต่ถ้าคุณไปพูดบนถนนอาจจะมีการทำร้ายกัน คุณพูดไม่ใช่ฝ่ายเดียว คุณต้องถูกกำกับให้ฟังด้วย เพราะคุณพูดได้แค่เวลาที่จำกัด แต่ถ้าไปพูดข้างนอกเวทีปราศรัยจะเป็นพูดฝ่ายเดียว โดยที่ไม่รับฟังอะไรกันเลยก็ได้ ผมคิดว่าการพูดในสภา เหมาะสมต่อการแก้ไขความขัดแย้งทุกเรื่อง

ประเทศที่หนักหนาสาหัสกว่าเราผ่านสงครามโลก ผ่านสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผ่านการแบ่งแยกดินแดน สภาก็เป็นพื้นที่ในการถกเถียงหาทางออก ถ้าเรามีความหวังในสภาว่าเป็นพื้นที่ในการถกเถียงหาทางออกในสันติวิธี เราก็จะไม่พึ่งพาวิธีการอื่นหรือไม่ใช้ความรุนแรงกัน

“ปดิพัทธ์” บอกว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดถึงกฎหมายมาตรา 112 ในสภา

“บางทีเราอาจกลัวเกินไป และ 10 ปีที่ผ่านมาก็เรียกว่าเป็นทศวรรษที่สูญหายไปของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้การถกเถียงในสันติวิธีมานานเกินไปแล้ว เราอยู่กับผู้นำที่เถียงไม่ได้ เราอยู่กับการแสดงความคิดเห็นและต้องเข้าคุก แต่เราก็ไม่เคยเห็นสภาว่าถกกันหนัก ๆ แล้วไม่มีใครเป็นอะไรหน้าที่ของเราคือทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้เท่านั้น”

ยุบพรรค=ฆาตกรรมเสียง ปชช.

คำถามสำคัญ พรรคก้าวไกลจะสุดที่ถูกยุบพรรคหรือไม่ “ปดิพัทธ์” ไม่ตอบคำถามตรง ๆ แต่ตั้งใจสื่อความหมายที่ตรงประเด็นกว่า

“ผมให้ความเห็นจะไม่เหมาะสม แต่ผมพูดได้อย่างเดียว การยุบพรรคการเมืองไม่มีผล ไม่มีทางที่จะทำซ้ำเดิมได้ว่ายุบพรรคการเมืองแล้วจะทำให้การปกครองมันง่าย มันเชื่อง มันหุบปากประชาชนได้ เพราะว่าประชาชนวันนี้กับเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาต่างไปจากเดิมมาก”

“ผมไม่รู้อนาคตของพรรคต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ผมแค่อยากบอกผู้มีอำนาจว่า การยุบพรรคไม่ได้เป็นคำตอบของการแก้ปัญหาแน่นอน”

พิสูจน์จากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกลก็ยังโตขึ้น หรือเปล่า “ปดิพัทธ์” ตอบว่า มันถูกครึ่งนึงฮะ แต่ไม่ควรทำให้สังคมเชื่อว่ายุบก็ยุบได้ เพราะการยุบพรรคเป็นอาชญากรรม เป็นการฆาตกรรมเสียงของประชาชน

พรรคการเมืองควรตั้งง่ายยุบยาก และถ้าจบ ก็ต้องจบด้วยมือประชาชนก็คือประชาชนไม่เลือกแล้วถึงจะตายไป

แต่บ้านเมืองของเรามีอำนาจอื่นมากำหนดตั้งแต่ขาเข้า ตรงกลาง แล้วขาออกของพรรคการเมือง ซึ่งอันนี้อันตรายมากต่อระบบประชาธิปไตย

“ทางออกคือรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้นเลยครับ ตอนนี้การแก้ด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ การแก้ด้วยข้อเสนอทางวิชาการ เป็นการแตะแค่ผิวเผิน เพราะสุดท้ายพิมพ์เขียวอำนาจคือ รัฐธรรมนูญเท่านั้น ต้องแก้รัฐธรรมนูญ”

แก้ รธน.เล็กน้อย ไม่ถือว่าแก้

คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านไปได้หรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนจากรัฐบาล เขาตอบว่า ยังมีความหวัง ผมคิดว่าเสียงเรียกร้องของประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมา 75% ออกมาเลือกพรรคที่มีนโยบายชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้ารัฐบาลไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ คิดว่าจะมีแรงกดดันมายังรัฐบาลมากพอสมควร แต่ถามว่าจะแก้อย่างไร ทั้งกระบวนการ ที่มา เนื้อหา เป็นเรื่องที่เราต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ในปี 2562 มีการแก้รัฐธรรมนูญ สุดท้ายเราได้อะไรมา… เราได้แค่ระบบเลือกตั้ง แต่ไม่กระทบศูนย์กลางอำนาจของการแต่งตั้งเลย

“ดังนั้น ถ้ารัฐบาลนี้จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ไปแก้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แก้ที่ไม่ใช่เรื่องศูนย์กลางอำนาจของการแต่งตั้ง อันนั้นไม่เรียกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ”

ปดิพัทธ์ คิดว่าการจะแก้ให้สภาเป็นเสาหลักของอำนาจประชาชน ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมด ไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 แย่ทุกมาตรา อย่างมาตรา 77 ก็ดีมาก แต่พอดีว่าที่มามันยอมรับไม่ได้ เราไม่ได้ต้องการกฎหมายที่ดีนะครับ แต่ต้องการกฎหมายที่ชอบธรรม เพราะฉะนั้น ที่มาสำคัญมาก

“คนร่างอาจจะร่างไม่ดีที่สุดก็ได้ แต่ได้รับฉันทานุมัติ เพราะดีไม่ดีใครวัดล่ะครับ ถ้าเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้มันก็ดีสำหรับพวกเขาหรือเปล่า แล้วก็มองว่าประชาชนร่างอาจจะไม่ดี ประชาชนร่างก็บอกว่าอาจจะไม่สมบูรณ์หรอก แต่มาจากเสียงส่วนใหญ่และที่มามันถูกต้อง อันนี้ต้องถกเถียงกันให้ดี ผมให้ความสำคัญกับที่มามาก ๆ”

และรัฐธรรมนูญไทยมีข้อวิจารณ์มากว่า มันยืดยาวเกินไป หลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีประเทศไหนนะครับ เอาระบบเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็แค่บอกให้มีการเลือกตั้งโดยตรง แต่เราเขียนทุกวิธีว่าจะได้ สส.ได้อย่างไร ไม่มีรัฐธรรมนูญประเทศไหนเอายุทธศาสตร์ไปไว้ในรัฐธรรมนูญเพราะยุทธศาสตร์ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ

รัฐธรรมนูญไทยที่เขียนใหม่ฉบับหน้า ถ้าจะให้ตีความความเป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นสากลมาก ที่มา การจัดหมวดหมู่ การแบ่งอำนาจต้องกระชับ ชัดเจน แก้ยาก

แล้วจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ไม่ถูกฉีก “ปดิพัทธ์” บอกว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก แต่ถามว่าใครฉีกรัฐธรรมนูญได้บ้าง ก็ต้องก่อสงครามไม่ก็ยึดอำนาจ เพราะฉะนั้นคำตอบมีเรื่องเดียวคือว่าถ้าประชาชนเท่านั้นฉบับนี้มาจากอำนาจประชาชนจริง ๆ ประชาชนรู้สึกรักและหวงแหนมันจริง ๆ จะไม่มีใครยอมให้ฉีกรัฐธรรมนูญ

“แต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ประชาชนบอกว่าใครร่างก็ไม่รู้ ตัวแทนของเราก็ไม่มี ความเห็นของเราก็ไม่ใช่ ความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญก็ไม่มี ใครยึดอำนาจก็ยึดไป ผมคิดว่ามันสำคัญตรงกระบวนการนี้แหละ”

ยกระดับสภาต้องรื้อโครงสร้าง

ปดิพัทธ์บอกว่า สภายังไม่พ้นจุดตกต่ำ องค์กรอิสระมีอำนาจล้นเกิน จากรัฐธรรมนูญ เพราะโครงสร้างอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2560 กับตอนรัฐประหาร ยังไม่ได้แตกต่างกันนัก

3 อำนาจ ตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ อำนาจประชาชนที่มันสม่ำเสมอต่อเนื่อง มีที่มาที่ไปชัดเจน คือนิติบัญญัติ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนให้อำนาจจากการเลือกตั้งมีน้อย อำนาจจากการแต่งตั้งมีมาก

ไม่ว่าจะเป็น สว. ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีตัวตนและศักดิ์ศรีทัดเทียมกับอำนาจอื่นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หนทางเดียวที่จะเป็นไปได้คือการแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

เปิดฟลอร์ถกเงินกู้ 5 แสนล้าน

อีกวาระหนึ่ง หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ผ่านการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน สภาเตรียมรับมืออย่างไร “ปดิพัทธ์” บอกว่า คงไม่ง่ายเหมือนตอน พ.ร.ก.เงินกู้ ในช่วงโควิด เพราะว่า พ.ร.บ.เงินกู้ ต้องผ่านทั้ง 3 วาระ ต้องมีความเห็นของหลายฝ่ายเข้ามา

รัฐบาลเองก็พยายามจะแก้ไขปัญหา ก่อนเอากฎหมายเข้าสภาเพราะยังแก้ปัญหาไม่จบ และถ้าเข้าสภาเลยก็อาจจะเจอปัญหาอีกแบบหนึ่งได้ ดังนั้นต้องเตรียมความแม่นยำทางกฎหมาย ความแม่นยำทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับองค์กรอื่น

ต้องมีความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์การลงทุนที่ดี ซึ่งผมคิดว่าผมก็เตรียมเป็นพื้นฐานเอาไว้ แล้วก็ฟังให้เข้าใจว่าผู้อภิปรายอยู่ในประเด็นหรือเปล่า

ถ้า พ.ร.บ.เงินกู้ มาปะทะกันในสภาจะทำอย่างไร เขาบอกว่า ก็ดีแล้วครับ สภาฯมันต้องปะทะกัน สภาไทยเรียบร้อยเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าไปดูสภาฯอังกฤษ สภาอเมริกา สภาสเปน สภาเยอรมัน มันต้องถกเถียงกันจริง ๆ ไม่ใช่พูดพอเป็นพิธี เพราะว่าเรากำลังพูดถึงเงินภาษี เรากำลังพูดถึงความรับผิดชอบ เรากำลังพูดถึงนโยบาย เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะมาถกกันเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเป็นพิธีแล้วก็ผ่านไป ผมคาดหวังการถกเถียงที่เอาจริงเอาจังเข้มข้น

6 เดือนของหมออ๋องในสภา

“หมออ๋อง” รีวิวการทำงานของตัวเองในรอบ 6 เดือนว่า แบ่งเป็น 3 เรื่อง ตอนผมสัญญาไว้ในสภากับสัญญากับประชาชน ก็คือ จะทำสภาให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพและเป็นของประชาชน

ที่เข้ามา 6 เดือน เรามีการเปิดพื้นที่อย่างลานประชาชนให้มีการฉลองวันรัฐธรรมนูญครั้งแรกในรอบ 60 ปี เรามีการเปิดลานประชาชนให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม สามารถใช้ลานประชาชนในการรณรงค์ได้ซึ่งก็มีมาใช้แล้ว 2 กลุ่มก็คือแอมเนสตี้ กลุ่มรณรงค์นิรโทษกรรมภาคประชาชน

เราเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นสักขีพยานการประชุม ในการอภิปรายงบประมาณและได้เสียงรับเสียงตอบรับที่ดีมากว่าประชาชนอยากเข้ามาเป็นสักขีพยานไม่ใช่แค่มาเยี่ยมชมสภา

มีการปรับปรุงหลักสูตรการอบรม เด็กฝึกงาน นักศึกษาฝึกงานใหม่ เพราะนักศึกษาฝึกงานที่เข้ามา ต้องเป็นบุคลากรที่เราให้ความสำคัญ เราพยายามทำให้สภาของเราเป็นสถานที่ที่ควรจะเรียนรู้ได้มาก ในเรื่องของระบบสภารัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย อันนี้ก็เรียกว่าสภาประชาชน

สภาโปร่งใสตอนนี้ทำสำเร็จแล้ว คือการเปิดเผยข้อมูลการทำงาน สส.เรียกว่าเป็นแฟ้มผลงาน สส. เข้าไปในเว็บไซต์เราจะเจอช่องทางการติดต่อ สส.เราจะเจอผลงานของ สส.แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย การลงมติ การทำกระทู้ การเป็นจ้าของร่าง พ.ร.บ. การเป็นกรรมาธิการ

ล่าสุดที่ไม่เคยมีการเปิดเผยมาเลยตลอดประวัติศาสตร์ คือเปิดเผยรายชื่อผู้ช่วยผู้เชียว ผู้ชำนาญการประจำตัวของ สส.อันนี้ความโปร่งใสที่เราจะเปิดเผยว่าสดที่คุณเลือกมาทำงานเป็นอย่างไร ขาด ลา มาสายเท่าไหร่  เป็นผลงานให้ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

โปร่งใสที่เราทำสำเร็จแล้วก็คือ เราติดสามารถติดตามสถานะของร่างกฎหมายแบบเรียลไทม์ได้แล้วว่าตอนนี้กฎหมายที่ทุกฝ่าย อยู่ในสถานะไหน ติดอยู่ที่ใครมัน เคลื่อนไหวไปตรงไหนยังไงบ้าง อันนี้เว็บไซต์สภาก็ปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว

สุดท้ายที่เรายังทำความโปร่งใสขั้นสุดไม่ได้เพราะเรายังไม่ทำสิ่งที่เรียกว่าเป็น open data ซึ่งเราก็ตั้งกรรมการขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว คือคณะธรรมาภิบาลข้อมูล   อะไรเปิดอะไร เปิดเมื่อร้องขอ อะไรปิด ทุกกระบวนการของสภาจะโปร่งใสมากขึ้น

สุดท้ายคือมีประสิทธิภาพอันนี้ยากที่สุด เพราะว่าเราต้องทำ 2 เรื่องให้สำเร็จก็คือทำเรื่องของดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชั่นสภาให้ได้อันนี้เป็นโปรเจกต์ระยะยาว 4 ปีที่เรากำลังจับทิศทางที่จะ go cloud แล้วก็ทำแพลตฟอร์ม 2 อันให้เป็นดิจิตอลก็คือการร่างกฎหมายและการพิจารณางบประมาณ

แล้วก็อีกคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาแล้วจะคิกออฟกันปลายเดือน คือคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างข้าราชการรัฐสภา จะรับฟังความคิดเห็นคนทั่วทุกฝ่าย  มีการยกระดับการทำงานฝ่ายกฎหมายของสภาฯให้กลายเป็นสำนักงานนิติบัญญัติที่ที่แข็งแรง

มีการควบรวมองค์กรที่ซ้ำซ้อนระหว่าง สส กับ สว ให้มีประสิทธภาพมากขึ้น ถ้าเราทำสำเร็จใน 4 ปี เราก็จะมีองค์กรใหม่ที่ทันสมัยแล้วก็พร้อมสำหรับภารกิจที่มีประสิทธิภาพในอนาคตอันนี้เป็นงานระยะยาว

แก้ปัญหาสภามาเฟีย

แต่ที่ผ่านมาสภา ถูกมองว่ามีแต่พวก เจ้าพ่อ มาเฟีย นักธุรกิจการเมือง ถามหมออ๋องว่า เห็นกลุ่มคนเหล่านี้หรือไม่ เขาบอกว่า ถ้าสมัย 1 เห็นเยอะเลย สมัย 2 เห็นน้อยลงแล้ว เพราะมีการพลัดรุ่นของ สส.เยอะ ผมไม่ได้ negative กับนักธุรกิจ เพราะคนต้องทำมาหากินและใช้เวลามาลงการเมือง แต่เราดูว่าการพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองน้อยลง การไปแอบคุยกันตามห้องเล็กๆ ก็คงมี แต่น้อยลง

กรณีอดีต สส. บางท่าน โดนคดีอย่างเช่นการตบทรัพย์ การเสียบบัตรแทนกันการทำหลายอย่างแล้วมันมีโทษจริงๆ ให้เกิดขึ้น ผมคิดว่าทำให้สภาชุดนี้ดูดีขึ้น ส่วนถ้าจะมีข่าวเรื่องการทะเลาะกันในสภาบ้างมีการภาพข่าวที่เป็นดราม่าบ้าง ถ้าคิดเป็นสัดส่วนเวลาจริงๆแล้ว นิดเดียว  เวลาในการอภิปรายในการผ่านกฎหมายทั้งหมด 100%  อาจจะมีดราม่า 2% แต่ 98% ผมคิดว่ายังมีคุณภาพสูง แค่ว่ามันไม่ สามารถเป็นข่าวที่ตื่นเต้นได้นะเพราะผมคิดว่าในทิศทางภาพรวม เรายังไปได้ดีมาก

ก่อนหน้านี้มีข่าวใหญ่โตว่า มี นัก (ร้องเรียน) การเมือง ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า “ตบทรัพย์” โดยใช้กระบวนการสภาเป็นฉากหน้า จะมีมาตรการแก้ปัญหาไม่ให้สภาถูกใช้เป็นเครื่องมือหากินหรือไม่

หมออ๋อง กล่าวว่า มีช่วงหนึ่ง สภาถูกมองว่ามีอำนาจใหญ่เกินไปเหนือฝ่ายข้าราชการ อาจจะเป็นที่มาของการรัฐประหารด้วย พราะนักการเมืองถูกมองว่าใช้อำนาจทางสภานี่แหละในการเอาผลประโยชน์  ซึ่งก็มีทั้งข้อเท็จจริงและก็มีทั้งคำกล่าวหา

ถ้าเราเรียนรู้จากอดีตแล้ว เรามาจัดสมดุลอำนาจของสภานิติบัญญัติ ผมก็คิดว่าสภาจริงๆ สส. ไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับโครงการอะไรทั้งสิ้นเลย ควรจะทำหน้าที่นิติบัญญัติจริงๆแล้วก็กำกับดูแลการบริหารจริงๆ

ถ้าเราผลักดันการทำงานที่โปร่งใสได้ ยกตัวอย่างเช่นการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการ ก็จะไม่มีใครกล้าตบทรัพย์กันในการประชุมกรรมาธิการคุณต้องไปทำแอบที่อื่น แต่ทีนี้คุณทำไม่ได้เพราะว่ามีสายตาของสื่อมวลชนและสายตาของประชาชนจับจ้องอยู่ แล้วสุดท้ายผมคิดว่าถ้านักการเมือง สลัดออกจากการเป็นกลุ่มก๊วนการเมืองได้

“ผมเข้ามาที่นี่ผมไม่ได้อยู่ก๊วนใคร แต่ถ้าเป็นนักการเมืองเก่าๆ อาจจะต้องสังกัดก๊วน และการนำมาซึ่งก๊วน นำมาซึ่งการต่อรองโครงการแน่นอน เพราะต้องใช้เงินมากมายในการดูแลก๊วน แต่ถ้า สส.ทุกคนมาด้วยเอกสิทธิมาด้วยอำนาจของประชาชนจริงๆ ผมคิดว่าเราเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้”

ดดสภา = ไร้ความรับผิดชอบ

แล้วการโดดประชุมสภา มองว่าเป็นปัญหาหรือไม่ หมออ๋อง กล่าวว่า การโดดงานทุกงานก็มีปัญหา ไม่ว่าจะอาชีพไหน ในวันที่เรานำประชุมสภาเรื่องที่ถูกนำเข้า เราอยากเห็นที่ประชุมแน่นๆ เพราะเราจะได้รู้ว่ามีคนฟัง ไม่ใช่เดินเข้ามายกมืออย่างเดียว ไม่ได้ฟังอะไรเลย อ่านกลุ่มไลน์เอา มันก็คงไม่ดีนักต่อสภาพแวดล้อม บรรยากาศของสภา

สภาของเราถือว่าประชุมยาว ต่างประเทศ ประชุมสั้นกว่านี้ พูดสั้นกว่านี้ ตรงกว่านี้ ดังนั้น เมื่อประชุมยาว มีหน้าที่แทรกเช่น การประชุมกรรมาธิการ เป็นไปไม่ได้ว่าจะมีคนครบตลอดเวลาในสภา ถ้าขาดจากห้องประชุมด้วยเหตุผลนี้ผมรับได้ แต่ถ้ามาเซ็นชื่อตอนเช้าแล้วกลับบ้านเลยเพราะรู้ว่าไม่มีโหวต ถามว่าเกิดขึ้นได้ไหม ก็เกิดขึ้นได้ถ้าติดภารกิจจริงๆ

แต่ถ้าขาดโดยเป็นกิจวัตร ขาดโดยการไร้ความรับผิดชอบผมคิดว่าประชาชนจับจ้องอยู่ ถ้าลงมติเมื่อไหร่แล้วสภาล่ม หรือใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในการรอ อันนี้ไม่ได้เกิดจากข้อผิดพลาดปกติแต่เกิดจากการไร้วินัยแล้ไร้วินัยและความรับผิดชอบของแต่ละคน

เลือก สว.ในเจตจำนง คณะรัฐประหาร

ให้เขามองทะลุถึงการเลือกตั้ง สว.และ อบจ.การเมืองช็อตต่อไปจะเป็นอย่างไร รองประธานสภาคนที่ 1 วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ตั้งบอร์ดประกันสังคมแล้ว ยังไม่ต้องพูดเลือกตั้ง สว.เลย คนมาลงใช้สิทธิกับผู้มีสิทธิทั้งหมดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก การเลือกตั้งระบบปิดแบบนี้ทำให้เห็นว่าโอกาสที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเลือกตั้งโดยตรงค่อนข้างยาก และผลการเลือกตั้งออกมา กอ.รมน.ก็เอารายชื่อไปตรวจสอบอีก เพื่ออะไร ทั้งที่เขาผ่านคุณสมบัติในการสมัครแล้ว ที่สำคัญยังมีความพยายามจะแก้กฎหมายในเรื่องบอร์ดประกันสังคมให้มาจากการแต่งตั้งด้วย

ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิมและเจตจำนงเดิมของคณะรัฐประหาร คือ ประเทศนี้อำนาจประชาชนอย่ามาก อนุญาตให้เลือกตั้งได้แต่อย่ามากเกินไป ดังนั้น ผมคิดว่ายังไม่มีฝันดีของการเลือกตั้ง สว.

ปิดท้ายการสนทนา ให้ “หมออ๋อง” ประเมินคะแนนตัวเอง แต่เขาตอบนึกสักครู่ก่อนตอบว่า ให้ไม่ได้เลย คนให้คะแนนนักการเมืองมีคนเดียวคือประชาชน ถ้าผมทำดีแทบตาย รู้สึกว่าตัวเองทำดี แต่สอบตกรอบหน้า การให้คะแนนของผมมันไม่มีประโยชน์ แต่ผมมีการประเมินเสมอ ผ่านทีมงาน ผ่านการทบทวนดูแผนงาน