ก้าวไกล ภัยคุกคามอำนาจเก่า ปกรณ์วุฒิ : ยุบพรรค..แค่เปลี่ยนป้าย  

คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ผันตัวจากนักดนตรี มือเบสวง Basher มาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นานกว่า 5 ปี

จากจุดเล็กๆ ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในการเมือง เดินเข้าไปสมัคร สส.พรรคอนาคตใหม่ ได้ลง สส.ปาร์ตีลิสต์ลำดับ 37 ก่อนมาถึงพรรคก้าวไกลวันนี้เขาเป็น สส.สมัยที่ 2

ในจังหวะที่ พรรคก้าวไกล จวนเจียนจะถูก “ยุบพรรค” ตามรอย พรรคอนาคตใหม่ ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “ปกรณ์วุฒิ” ถึงฉากต่อไปของพรรค – หน้าที่ใหม่ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน – ธงส่วนตัวทางการเมือง

ยุบพรรคแค่เปลี่ยนป้าย

เรื่องที่ร้อนที่สุดในตอนนี้ของพรรคก้าวไกล หนีไม่พ้นความเสี่ยง “ยุบพรรค” ท่ามกลางข่าวลือว่า บรรดา สส.เตรียมความพร้อมย้ายไปอยู่พรรคใหม่ ชะตากรรมพรรคก้าวไกล อาจไม่ต่างจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบไปตอนปี 62

“ปกรณ์วุฒิ” ตอบคำถามเรื่อง “บทเรียน” การยุบพรรคว่า ผมรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ว่าการเข้ามาอยู่ตรงนี้มันไม่ง่าย แล้วหลายๆคนก็คงรู้อยู่แล้วว่าเพราะอะไรมันถึงไม่ง่าย

ถามว่าบทเรียนอะไรที่จะต้องระวัง … สำหรับผมไม่มีเลย เราออกมาด้วยอุดมการณ์แบบไหน เราสัญญากับประชาชนเอาไว้ว่าเราจะทำอะไร เราก็ยืนอยู่ตรงนั้นอยู่ที่เดิม

การเปลี่ยนพรรคสำหรับผมคือการ รื้อป้ายชื่อและเปลี่ยนป้ายชื่อ เราไม่ต้องเปลี่ยนอะไร กับภายนอกมองว่าไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย แต่ภายในพรรค เราชอบเรียกว่าเราเป็นพรรคแบบสตาร์ทอัพ  การจัดการภายในก็คงจะต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ให้มีการจัดการภายในให้ดีขึ้นแล้วก็ให้สามารถ บริหารในระยะยาวได้ดีขึ้น

ถามว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็น “บทเรียน” ที่ต้องระวังไหม “ปกรณ์วุฒิ” กล่าวว่า  คงเป็นการพูดคุยกันใน สส เรื่องเรื่องพวกนี้มันก็เป็นการการประชุมของ สส. มันก็จะมีพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ว่าเราจะดำเนินการในแต่ละเรื่องของพรรคอย่างไร แล้วใช้มติของ สส. ในการดำเนินการต่อไป

เขาคิดว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่ กับการยุบพรรคเครือข่ายทักษิณ ทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ ต่างกันที่บริบทของเวลาเท่านั้น

“ต่างกันไหมเหมือนกันไหม…ผมไม่แน่ใจนะ แต่มันคือความพยายามของกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆในประเทศนี้  เขามองว่าพรรคก้าวไกลเป็นภัยคุกคามเท่านั้นเอง และตอนนั้นเขาก็คงมองพรรคที่ถูกยุบว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับเขา”

“เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่ที่เขาไม่อยากเห็น อาจจะทำให้คนหลายๆกลุ่มเสียผลประโยชน์”

“แต่สุดท้าย ถ้าเราอยากจะให้ประชาธิปไตยในประเทศนี้มันเติบโต ให้มันเป็นไปตามครรลองของมัน

พรรคการเมืองในระบบรัฐสภา คือการรวบรวมพรรคการเมืองที่คิดไม่เหมือนกันแล้วมาหาทางออกร่วมกัน หลายๆพรรคที่คิดไม่เหมือนกับพรรคก้าวไกล อาจจะไม่ค่อยชอบผมด้วยซ้ำเขาเขาก็ยังหลายคนก็ยอมรับว่าการยุบพรรคการเมือง ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย ควรให้ประชาชนตัดสิน”

ถ้าเขามองว่า พวกผมนโยบายของพรรคก้าวไกลมันเป็นภัยคุกคามของประเทศนี้จริงๆ เขาก็สารถรณรงค์ได้ ว่ารัฐสวัสดิการเนี่ยมันจะแย่ยังไงมันจะทำให้ประเทศเสียหายยังไงสุดท้ายประชาชนตัดสินครับว่าว่ามันเป็นจริงตามที่เค้าพูดตามที่เราพูดแล้วประชาชนก็จะเลือกได้เองว่าเขาจะเรียกพรรคการเมืองไหนเข้าไปเข้าไปบริหารประเทศ

ฟันธง ได้ สส.200 ที่นั่ง

ถามว่าถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบจริงๆ จะมีปรากฏการณ์อะไร ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่าเดาไม่ออกหรอกนะ ว่าประชาชนจะมีปฏิกิริยาแบบไหนบ้าง มีไหม..มีแน่นอน ผมไม่เดาแล้วกัน แต่ไม่ว่าจะมีม็อบไม่มีม็อบ ปฏิกิริยารุนแรงไม่รุนแรงก็ตาม คิดว่าสนามเลือกตั้งครั้งหน้า เราก็จะเห็นแน่นอนว่าปฏิกิริยาของผู้คนตอบสนองอย่างไรกับเรื่องนี้

เขายืนยันว่าการยุบพรรคไม่สะเทือน “ก็..ทำต่อครับ (ทำท่ายักไหล่) เปลี่ยนป้ายชื่อ อย่างที่ผมบอก มันคือบ้านหลังเดิม ทำงานเหมือนเดิม”

ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่า หากยุบพรรคก้าวไกล เลือกตั้งครั้งหน้าได้ สส.เกิน 150 ที่นั่ง ประธานวิปฝ่ายค้าน ไม่ปฏิเสธ

“มันก็เป็นไปได้ สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าชื่อไหนก็ตามเราทำงานเหมือนเดิม เลือกตั้งที่ผ่านมา 151 เสียง ไม่ยุบพรรค ผมก็เชื่ออยู่แล้วว่าโอกาสจะได้ สส.เกิน 200 ดังนั้น ยุบพรรคไม่ยุบพรรค ผลการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมไม่ได้คาดหวังแตกต่างกัน”

บทบาทประธานวิปฝ่ายค้าน

กับอีกบทบาท “ปกรณ์วุฒิ” อยู่ในฐานะ ประธานวิปฝ่ายค้าน เขาบอกบอกการทำงานว่า หลักๆ คือการเจรจากับประธานวิปรัฐบาลทั้งในเรื่องวาระการประชุมต่างๆ ขอความร่วมมือต่างๆ ให้สภาราบรื่น ขอเสียงในเรื่องที่ไม่ได้ซีเรียสมาก เรื่องนี้เราขอได้ไหม มีการเจรจาแลกเปลี่ยนอะไรกันบ้าง…ไม่ใช่ผลประโยชน์นะ แต่เป็นการขอเลื่อนวาระแซงขึ้นมากับการขอตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา หลายๆ เรื่องเจรจาเพื่อให้วาระการประชุมสภาเป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมทั้งการคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันว่าแต่ละเรื่องเราควรจะเดินเกมในสภาอย่างไร

กับข้อครหาว่า “ก้าวไกล” ไม่ชก “เพื่อไทย” สุดหมัด เพราะไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลับเลือกใช้เครื่องมือ อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติแทน

“ปกรณ์วุฒิ” อธิบายว่า เป็นอีกอันหนึ่งที่เราพยายามอยากจะเปลี่ยนการเมือง หลายๆ ประเทศที่มีกลไกแบบนี้เขาไม่ได้เขาใช้กันพร่ำเพรื่อ ถ้าเราไม่ได้มีเนื้อหาสาระที่เป็นหมัดเด็ด เรื่องใหญ่ จริงๆ เช่น เมื่อก่อนอภิปรายสัญชาติของนายกฯ หรือ เรื่องส่วนตัวเขาไปไหน ไปเจอใคร เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย

การใช้แบบพร่ำเพรื่อ ถ้าไม่ใช้ (อภิปรายไม่ไว้วางใจ) ก็แปลว่าเกี้ยเซียะ โดยไม่สนใจเนื้อหาสาระ ผมว่าการเมืองแบบนี้ควรหมดไปได้แล้ว

ถ้าเราเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่มีเนื้อหาสาระอะไรเลย โดยให้รัฐมนตรีลุกขึ้นมาด่า ชี้แจงได้อย่างสบายมาก อย่างนั้นเกี้ยเซียะ

“ดังนั้น ถ้าจะใช้โอกาสอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเนื้อหาสาระต้องหนักแน่น มัดตัวได้ว่ารัฐมนตรีแต่ละคนไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่งนั้นต่อไปจริงๆ”

ในอภิปรายวันที่ 3-5 เมษายนนี้ จะได้เห็นอะไร เขาตอบว่า อภิปราย 152 ทวงถาม ข้อเสนอแนะของรัฐบาล ผมว่าเป้นการกึ่งๆ ตรวจการบ้าน เพราะเป็นรัฐบาลมาครึ่งปีแล้ว ควรจะต้องมีผลงานที่สืบเนื่องจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลให้เห็นบ้าง ดังนั้น หลักๆ คือการตรวจการบ้านว่า 1 2 3 4 5 ไปทางไหนแล้ว บางเรื่องอาจไม่ทำ บางเรื่องอาจผิดทาง ถ้าทำอย่างนี้อาจไม่เป็นไปตามที่แถลงนโยบายเอาไว้ หรือ บางเรื่องมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรจะทำวิธีไหนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย

ดิจิทัลวอลเลต แก้รัฐธรรมนูญ เป็น 2 เรื่องใหญ่ที่เราจะเห็นแน่ๆ เป็นในลักษณะทวงถามว่าเราจะเห็นเมื่อไหร่

ธงการเมืองในใจ

สำหรับส่วนตัวธงการเมืองที่ใหญ่ที่สุดคืออะไร “ปกรณ์วุฒิ” ตอบว่า รัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด ที่ผมอยากจะทำให้ได้ ผมอาจจะเข้ามาในพรรคก้าวไกลในฐานะตัวแทนของกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะนอกจากเป็นนักดนตรีผมก็เคยทำสตาร์ทอัพ รู้ว่ากฎระเบียบกฎเกณฑ์หลายๆอย่าง รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐไม่เอื้ออำนวยให้รายเล็กรายน้อย ในยุคที่มันเทคโนโลยีดิสรัปขนาดนี้ ไม่สามารถโตได้ในประเทศนี้

แต่สิ่งหนึ่ง ที่ผมผูกพันกับมันก็คือการเป็นนักดนตรี ผมเรียนจบแล้วก็ตัดสินใจ ที่จะเล่นดนตรีตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย เดินไปออดิชั่นตามร้านเลยแล้วก็เล่นดนตรีเลย ร่วมกับเพื่อนรวมตัวส่งเดโมตามค่ายต่างๆ

ความฝันในวัยหนุ่ม ผมไม่ยอมเดินตามทางที่กรอบของสังคม จำกัดให้เราเดินนั่นคือการทำงานประจำที่มีความมั่นคงที่สิ้นเดือนคุณได้รับเงินทุกเดือน

ผมอาจจะไม่ใช่คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนอะไร แต่ 2 ปีแรกที่ผมบอกเลยว่ามันสาหัสมาก เพราะผมไม่ขอเงินจากครอบครัวเลยพยายามที่จะยืนได้ด้วยตนเอง แล้วผมรู้สึกว่าทำไมอยู่ในประเทศนี้ การทำสิ่งที่ตัวเองรัก ทำไมมันยากขนาดนี้  ดูเหมือนมีอุปสรรคไปหมด

ก็ค้นพบว่า มันก็คือเรื่องของสวัสดิการ คือทุกทุกอาชีพมันเป็นส่วนหนึ่ง ในการหมุนฟันเฟืองของเศรษฐกิจให้ประเทศมันเดินหน้า มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรจะมอบให้ประชาชนทุกคนในฐานะผู้ที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ คือ สวัสดิการที่สมศักดิ์ศรีกับความเป็นมนุษย์ สมศักดิ์ศรีกับการที่เค้าได้ทำงานเพื่อสร้างประเทศนี้มารวมกัน

คนเป็นนักดนตรี หรือ อาชีพอิสระ ต้องคิดถึงตลอดเวลานะว่า แก่ไปแล้วจะอยู่ยังไง ไม่เหมือนคนทำงานประจำหรือคนทำงานประจำหรือว่าคนที่เป็นข้าราชการเขาก็รู้อยู่แล้วว่าเดียวจบโอเคมีบำนาญมีบำเหน็จ ถึงแม้ว่าเขาจะทำงานไม่ได้แล้วเขายังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่คนที่ทำงานอิสระในประเทศนี้ไม่เป็นแบบนั้นเลย

นักดนตรีคิดว่าจะทำได้ถึงอายุเท่าไหร่ ผมอายุ 50 กว่าๆ หลายคนถ้าไม่ได้ทำงานเบื้องหลังอะไรก็ก็คงจะต้องรีไทร์ตัวเอง แต่ว่าเขากลับไม่มีความมั่นคงใดๆ ในชีวิตเลยแล้วรัฐนี้ไม่เคยมองความมั่นคงในชีวิตในบานปลายให้เขาเลยดังนั้นผมคิดว่าเอ่อรัฐสวัสดิการ เป็นนโยบายที่ผมรู้สึกว่าเป็นธงใหญ่ที่ผมอยากจะทำให้มันสำเร็จได้