“นิธิ เอียวศรีวงศ์” นายทุนกองหนุนใหญ่พลังสูง คสช.ตรึงศัตรู ไม่กล้าวางมือ ยังสงบไม่ได้

นิธิ เ​อี​ยว​ศรี​วงศ์

ผ่านมา 4 ปี การเมืองไทยยังอยู่ใต้อำนาจคณะรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โครงสร้างกติกาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในอนาคตถูกออกแบบใหม่โดย คสช.ผ่านรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แก้ไขได้ยากยิ่งกว่ายาก แฝงมาด้วยกลไกที่ทำให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไปในอนาคต

โรดแมปไปสู่เลือกตั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก แต่ที่ยากกว่าคือเส้นทางออกจากระบอบ คสช. “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟ “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักวิชาการประวัติศาสตร์ ปัญญาชนอาวุโส แนะวิธีการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร-ออกจากมรดก คสช.

Q : นับแต่รัฐประหาร 2557 คิดว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไร 

สังคมไทยเปลี่ยนไปก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารแล้ว และการที่คณะรัฐประหารชุดนี้อยู่ในอำนาจได้นานขนาดนี้ ก็เพราะสังคมก้าวไปสู่อนาคตไม่ออก ไม่รู้จะก้าวอย่างไร เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยแยะมาก ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศของชาวนาอีกแล้ว คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ดังนั้น สังคมต้องการการเมืองอีกชนิดหนึ่งที่ตอบโจทย์ทุกฝ่ายได้ ไม่ใช่ทุกฝ่ายที่มีกำลังมากที่สุดหรือกำลังคนมากที่สุด แต่เป็นทุกฝ่ายที่มีอำนาจ เรากระจายอำนาจไปไม่เท่ากันในคนแต่ละกลุ่ม ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ด้วย ไม่เช่นนั้นต้องตีกันแหลก

Q : การเมืองที่ยอมรับกันทุกฝ่าย หน้าตาจะเป็นแบบไหน

เป็นแบบที่ชนชั้นนำรู้สึกว่ายอมรับได้ ชนชั้นล่างพอรับได้ ทั้งฝ่ายราชการ ทหาร นายทุน คิดว่าตัวมีช่องทางที่จะรักษาผลประโยชน์ตัวเอง หรือขยายผลประโยชน์ตัวเองถึงจะอยู่รอด อาจเป็นเผด็จการก็ได้ แต่ไม่ใช่เผด็จการในรูปที่ไม่ค่อยใช้สติปัญญาแบบที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

Q : หรือเป็นเพราะสังคมการเมืองไทยเสื่อมโทรม ทำให้เผด็จการจึงงอกงาม

ส่วนตัวคิดว่าถ้าเราอยู่ในระบอบที่มีการเลือกตั้ง จะเรียกว่าประชาธิปไตยหรือไม่ก็แล้วแต่ ระบบนี้จะทำให้การเมืองจะค่อย ๆ ขยับไป แน่นอนท่ามกลางการเลือกตั้งเต็มไปด้วยความขัดแย้งหลายชนิด หลายโอกาส อาจเกิดขึ้นกลางถนน แต่สมมุติว่าในปี 2549 หรือปี 2557 ไม่เป็นผลให้เกิดการรัฐประหาร กลุ่มคนจำนวนหนึ่งจะเริ่มเรียนรู้ว่า นี่ไม่ใช่วิธี อาจมีวิธีอื่นที่ดีกว่ารัฐประหาร

เมื่อปี 2549 ถามว่าคุณทักษิณ (ชินวัตร) ยอมถอยไหม… ผมว่าถอยหลายเรื่อง เพราะแกก็รู้ว่าไปไม่รอด ถ้าขืนให้คนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองคัดค้านขนาดนั้น มันไปไม่ได้ น่าเสียดายที่เราไปแก้ปัญหานี้ด้วยการรัฐประหาร ซึ่งผมโทษทหารแน่นอน แต่ไม่ใช่ทหารฝ่ายเดียว รวมถึงคุณทักษิณเองไปทำให้รัฐประหารเกิดขึ้น หรือในปี 2557 พรรคเพื่อไทยไปออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำไม จนนำมาสู่การรัฐประหาร และทำให้การหาจุดลงตัวทางการเมืองที่ทุกฝ่ายพอรับได้ยากขึ้น

Q : วาทกรรมที่ผู้นำรัฐประหารออกมาพูดว่า 4 ปี ทำให้บ้านเมืองสงบ แท้จริงแล้วยังมีคลื่นใต้น้ำ 

สงบไม่ได้หรอก เพราะเรายังไม่มีกติการ่วมกันเลย เราต้องปรับเวทีกันใหม่ 4 ปีก่อนยังไม่ทันปรับเลยก็ทำรัฐประหาร แล้วบอกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยถ้าไม่โง่จริงพูดแบบนี้ไม่ได้ เพราะจริง ๆ ตัวปัญหายังอยู่

Q : เหตุใด คสช.กลายเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ยาว 

ครั้งนี้เป็นการยึดอำนาจที่มีการประกาศศัตรูค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะใน 2 ปีแรก ที่สามารถใช้กำลังทหารที่มีอยู่ไปตรึงฝ่ายตรงข้ามให้สงบนิ่ง เหมือนการยึดครองโดยต่างชาติ ไม่ต่างกับญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทยในสมัยหนึ่ง รัฐประหารครั้งนี้เป็นอย่างนั้น กลุ่มที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คล้าย ๆ กับถูกกองทัพต่างชาติ สามารถจับเข้าคุกได้ หรือความแตกแยกที่ถูกทำให้ลงตัวเป็นเรื่องการเชียร์รัฐประหารหรือไม่เชียร์รัฐประหารมันก็ทำให้ขยับลำบากไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหน

Q : 4 ปี กองหนุนลดลงหรือไม่

คนเชียร์ที่สำคัญ ๆ คือทุนใหญ่ ๆ ทั้งหลาย ที่ปักใจไปแล้วว่าจะอยู่ได้ปลอดภัยกว่าโดยมีกำลังกองทัพฝ่ายรัฐประหารช่วยขยายผลประโยชน์เขา เมื่อไม่กี่วันมานี้ยังมีสื่อลงว่าทุนใหญ่ ๆ ที่ร่วมอยู่ในประชารัฐ ไทยนิยม มีทุนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งไม่เคยมีนะ 4 ปี นายทุนเพิ่มเงินเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ล้าน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อย้อนไปดูว่าพวกเขาทำอะไรกันบ้างก็น่าจะเห็นได้เลยว่า..นี่ไง รัฐประหารที่ทำกำไรได้มากที่สุดก็คือคนกลุ่มนี้ ผมคิดว่านายทุนร่วมก่อนหน้าวันที่ 22 พ.ค. 2557 อาจจะให้เงินสนับสนุนกันเป็นก้อน ลงขันกันแล้วด้วยซ้ำไป ตอนที่เขาประกาศนายทุนเข้ามาเป็นประชารัฐ ผมคิดว่าไม่ได้มานั่งเลือกว่าจะเอาใครเข้ามา แต่ผมว่ามันมีบัญชีผู้จ่ายเงิน ลงขันตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

Q : หาก คสช.เปิดการเลือกตั้งนายทุนกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ฝ่ายรัฐประหาร

แน่นอน… ครั้งนี้เขาไม่กล้าแล้วที่จะปล่อยให้ประชาธิปไตยงอกงามในประเทศนี้ เพราะเชื่อว่านอกจากผมแล้วคิดว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าจะไม่ปล่อยให้นายทุนลอยนวลแบบนี้

Q : อะไรที่ทำให้ คสช.ไม่ยอมวางมือ วางอาวุธแล้วกลับบ้าน

ถ้าไม่นับความโลภ ความสนุก ความอยากมีอำนาจ ผมกำลังสงสัยว่า คสช.ไม่กล้าวางมือ การรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่สภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ จะไม่ปล่อยให้กฎหมายและคำสั่งของ คสช.เป็นกฎหมายต่อไป สภาที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะต้องประกาศล้มกฎหมายที่ออก และคำสั่ง คสช.ทั้งหมด

Q : แปลว่า คสช.เกรงว่าจะถูกไล่บี้ทางการเมือง

ใช่.. ครั้งนี้ไม่มีทางที่ไม่ถูกไล่บี้เสียแล้ว คสช.ไม่สามารถกลับไปเป็นนายทหารอาวุโสที่ทุกวันเกิดจะมีนายทหารคนอื่นเอากระเช้าดอกไม้มายื่นหน้าให้คุณเห็น…ไม่ใช่แล้ว

Q : สังคมไทยจะออกจากมรดกที่ คสช.วางไว้ถึง 4 ปีอย่างไร

ในสภาพที่เป็นจริงเวลานี้ ควรจะใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้โดยไม่นองเลือด เช่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เลือกตั้ง…ก็เลือก แต่ต้องประกาศชัดเจนเหมือน ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจอันแรกที่ต้องทำคือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใช้ทุกโอกาสแม้แต่น้อยนิด ก็ต้องใช้มันในการล้มล้าง คสช. และมรดกของ คสช.

Q : พรรคการเมืองควรประกาศแคมเปญไม่เอารัฐธรรมนูญ

ผมยังคิดว่าเป็นคำถามหนึ่งที่ต้องถามพรรคการเมือง ไม่ใช่ถามคำถามว่าเอา พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ แต่ต้องถามว่าเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไหม น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ประชาชนจะตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้

Q : รัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ ถูกทำให้เข้มแข็งจนแทบจะแก้ไขไม่ได้ด้วยเสียงนักการเมืองในสภา

ถ้าประชาชนทั้งประเทศจะเคลื่อนไหว จะล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีใครต้านอยู่ ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวในท้องถนนอย่างเดียว แต่เคลื่อนไหวในทุก ๆ รูปที่เป็นไปได้ โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่เสียเลือดเนื้อกัน ผมว่าเราเลิกได้

ถ้าเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ เราไปไหนไม่รอดหรอกประเทศไทย ไม่เคยมีรัฐประหารครั้งไหนที่ทำความเสียหายแก่บ้านเมืองเท่ากับการรัฐประหารครั้งนี้

เพราะการรัฐประหารครั้งอื่น ๆ เขาพยายามหาจุดที่สังคมอยู่พอรับกันได้ เช่น รัฐธรรมนูญ 2521 หลังจากที่ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกขับออกไปแล้ว จะต้องมีรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนพอรับได้

รัฐบาล พล.อ.เปรมไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐบาลที่ยอมรับการบีบของนักการเมือง เพราะแกอยู่ได้จากนักการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลกับแก ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องระบอบประชาธิปไตยหมด แต่ต้องเป็นเผด็จการที่ฉลาดหน่อยไม่มีที่แก้ยาก ถ้าเราอยากแก้จริง พร้อมใจกันแก้จริง ไม่ว่าอะไรก็ไปไม่รอด ไม่ว่ากฎเกณฑ์อะไร ศาสนาทั้งศาสนา ยังล้มมาแล้วจะไปห่วงอะไรกับแค่กฎหมาย

Q : พลังประชาธิปไตยหลังเลือกตั้งจะสามารถคัดง้างกับอำนาจทหารที่ปลูกฝังมาตลอดช่วง 4 ปีนี้ได้หรือไม่ 

ได้ เพราะกลุ่มทหารได้แรงสนับสนุนจากคนไม่มากเท่าไหร่ ถามว่าดาราทีวียังสนับสนุนอยู่ไหม สมมุติว่าสนับสนุนอยู่แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากกว่าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มคนที่หนุนหลังจริง ๆ มีน้อย แต่มีพลังสูงมาก เช่น กลุ่มทุน

Q : คาดหวังต่อพรรคการเมืองในอนาคตที่จะสู้กับพรรคทหารหรือไม่

ผมหวังอยู่เพียงพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น มีจุดยืนและผลประโยชน์ทางการเมือง ที่ต้องสู้กับพรรคทหารถ้าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง ตั้งนายกฯไม่ได้ก็จริง แต่รัฐบาลที่เกิดจาก คสช.ก็ผ่านงบประมาณไม่ได้เหมือนกัน คือยันกันอยู่แบบนี้ ซึ่งในที่สุด คสช.อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง 1.เกี้ยเซียะกันให้ได้ 2.ใช้วิธีคุกคาม เดาไม่ถูก เพราะรัฐบาลทหารใช้ทั้ง 2 อย่าง

Q : พรรคเพื่อไทยยังหาหัวหน้าพรรคไม่ได้ และติดกับดักที่ชื่อทักษิณ

ถ้าทหารทำการเกี้ยเซียะพรรคเพื่อไทยจะเอาไหม ถ้าหัวหน้าพรรคเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์) ที่เป็นสายต่อให้คุณทักษิณอีกที ผมว่าแกเอา แต่ถ้าเป็นคุณจาตุรนต์ (ฉายแสง) อยู่ ผมว่าแกไม่เอา แม้แต่คุณทักษิณต่อคุณจาตุรนต์ได้ แต่คุณจาตุรนต์ไม่เอาทหาร แล้วพรรคเพื่อไทยก็จะแตก เพราะคนที่จะเอากับคุณทักษิณแยะมาก ก็ดี ให้แตกไปเสียเลย ให้รู้ว่าใครยืนอยู่ตรงไหนกันแน่ อย่ามาหลอกกัน

Q : ทำไมไม่คาดหวังการเมืองอื่น

พรรคการเมืองอื่นยังไม่ชัด จนถึงนาทีนี้ถ้าไม่เอารัฐธรรมนูญ ต่อต้าน คสช.ก็ตาม พรรคการเมืองต้องประกาศแล้ว ไม่ประกาศอยู่ได้อย่างไร นอกจากแทงกั๊ก ส่วนพรรคเพื่อไทยหรืออนาคตใหม่ คิดว่าการไม่เอา คสช.และรัฐธรรมนูญคือทางมาของคะแนนเสียง ถอยไม่ได้ การที่พรรคการเมืองอื่น แทงกั๊กอยู่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมาคว้าคะแนนเสียงตรงนี้ได้หรือไม่ หรือเป็นของพรรคเพื่อไทยหมด

Q : พรรคการเมืองอื่นอาจเห็นว่าทหารกลับมาแน่ จึงยังแทงกั๊ก

พรรคการเมืองคิดว่าจะเข้าไปมีบทบาทได้ เพราะวิธีปลอบใจ การที่จะร่วมมือกับโจรก็คือ อย่างน้อยที่สุดมันไม่ฆ่าคนก็ไปร่วมกับมัน อย่างน้อยก็ห้ามไม่ให้มันฆ่าคน เป็นตรรกะที่ใช้มาก่อนพุทธกาล