ชุลมุน พรบ.เลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. สะเทือนเกมดูดสมาชิกพรรคทหาร

ปลดล็อกชนวนเหตุที่ทำให้เลือกตั้งสะดุดไปอีก 1 ชนวนหลังจากปมกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. (พ.ร.ป.ส.ว.) กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. (พ.ร.ป.ส.ส.)กับ 1 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ถูกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ปลดล็อกขั้นแรก คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 30 คน เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า บทเฉพาะกาลในร่าง พ.ร.ป. ในมาตรา 91-96 กำหนดให้ในวาระ

5 ปีแรกของ ส.ว.ให้มีการสรรหา ส.ว.จาก 10 กลุ่ม แบ่งประเภท ส.ว.ที่มาจากสมัครโดยตรง และเสนอโดยนิติบุคคล เปลี่ยนจากเลือกไขว้มาเป็นเลือกในกลุ่ม ว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเสียงเอกฉันท์ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

พ.ร.ป.ส.ส.เสียงขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อชนวนระเบิดขวางเลือกตั้งถูกปลดไป 1 ฉบับ แต่ยังมีอีก 2 ชนวนอันตรายที่เสี่ยงกระทบโรดแมป โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ที่ สนช. 27 คน เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยหลังการให้สัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.

อันเป็นปฐมบทจาก “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า พ.ร.ป.ส.ส.ขัดรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น

1.ตัดสิทธิคนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งห้ามไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่

2.ให้มีผู้ช่วยกาบัตรสำหรับผู้พิการ ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ

ในเรื่องนี้ “อุดม รัฐอมฤต” โฆษก กรธ. คาดการณ์ถึงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของ พ.ร.ป.
เลือกตั้ง ส.ส. เห็นว่าถ้อยคำขัดสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญชัดเจน เป็นการเขียนกฎหมายลูกในลักษณะแก้ไขกฎหมายแม่ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ระบุว่า การเลือกตั้งจะต้องเป็นความลับ แต่ในกฎหมายลูกที่ให้มีผู้ช่วยกาบัตรสำหรับผู้พิการนั้น ระบุคำว่า “ให้ถือว่า” การช่วยกาบัตรแทนผู้พิการนั้นเป็นความลับ”โดยลักษณะของตัวกฎหมายก็เขียนอยู่แล้วว่า การกาบัตรแทนไม่เป็นความลับ

แต่ “ให้ถือว่า” เป็นความลับ เป็นการเขียนกฎหมายลูกที่ไปแก้ไขกฎหมายหลัก เชื่อว่าขัดรัฐธรรมนูญ”

กรธ.เตรียมแปนสำรอง

ในช่วงที่คนการเมืองยัง “ลุ้น” มติของศาลรัฐธรรมนูญว่า จะออกหัว-ก้อย “มีชัย” มือกฎหมายระดับพญาครุฑ
ในฐานะหัวขบวนยกร่างกฎหมายลูก เปิดเผย “แผนสำรอง” เผื่อว่ากฎหมายดังกล่าวแหกโค้ง

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งทั้งฉบับ กรธ.ต้องกลับมาจัดทำร่างใหม่ โดยแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้งแล้วส่งไปยัง สนช.พิจารณา หากแก้เพียง 1-2 มาตรา ก็พิจารณา 3 วาระรวดได้ ไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ใช้เวลาทั้งขั้นตอน สนช. 2-3 สัปดาห์น่าจะจบ”

คำสั่ง คสช.ถูกท้าทาย

ชนวนที่ 3 คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งไปแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เรื่องการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน ที่

2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เดินเกมยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความว่า คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นการเข้าข่าย set zero สมาชิกพรรค ทำให้พรรคเก่าเสียเปรียบ และกระทบต่อการทำไพรมารี่โหวต

ในรอบแรกก่อนเรื่องจะไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ประทับตรามาแล้วว่า คำสั่ง คสช.53/2560
ขัดรัฐธรรมนูญ 2560

ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินทำถึงศาลรัฐธรรมนูญ ใจความว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า “คำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ประกอบ มาตรา 45”

“อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางสังคม และความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้”

ปิดประตูซบพรรคทหาร

แหล่งข่าวจาก กกต. ในฐานะองค์กรที่รักษาการตามกฎหมายพรรคการเมือง วิเคราะห์ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำสั่ง 53/2560 ก็จะมีผลทางการเมืองตามมา เช่น นักการเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นข่าวว่าจะไปเป็นแนวร่วมทางการเมืองกับพรรค คสช. โดยไม่มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคกับพรรคต้นสังกัด หากศาลรัฐธรรมนูญตีตก คนกลุ่มนั้นก็ยังเป็นสมาชิกพรรคต่อไป แต่หากจะย้ายพรรคจะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค จะมีผลทางการเมืองตามมา

ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมาย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำสั่งที่ 53/2560 ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่กระทบการเลือกตั้ง แต่จะมีผลกระทบต่อการเมือง โดยต้องดูว่าศาลชี้ว่า คำสั่งดังกล่าวที่มี 6 ข้อ ขัดกับรัฐธรรมนูญข้อไหนบ้าง ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ถ้าศาลเห็นว่า คำสั่งที่ 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญ ก็แปลว่า คำสั่งดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น และจะต้องกลับไปใช้ พ.ร.ป.
พรรคการเมืองฉบับเดิม เช่น คำสั่งข้อ 1 ให้ยกเลิกมาตรา 140 เดิม ของ พ.ร.ป.

พรรคการเมือง 2560 ที่ให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมเป็นสมาชิกพรรคต่อไป โดยเปลี่ยนมาเป็นสมาชิกพรรคต้องยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน (1 เม.ย.-30 เม.ย.) ก็เท่ากับว่าสมาชิกพรรคที่ไม่มายืนยันก็จะกลับไปเป็นสมาชิกพรรคเหมือนเดิม

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำสั่ง 53/2560 การรีเซตสมาชิกพรรคก็ไม่มีผล แต่จะมีปัญหาข้อกฎหมายฉบับเดิมเขียนให้พรรคการเมืองต้องทำตามขั้นตอนทางธุรการต่าง ๆ ตามกรอบเวลาไว้ ซึ่งปัจจุบันได้เลยเวลานั้นมาแล้วจะทำอย่างไร

ก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวท่ามกลางเสียงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า “ผมบอกแล้วว่าเป็นไปตามขั้นตอนของผม คือต้นปี”62 ไม่มีเร็วกว่านั้น”

ด้าน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” กองหนุนรัฐบาล คสช. สำทับว่า “การเลื่อนเลือกตั้งจะต้องมีเหตุ “สุดวิสัย”

แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป และหากเกิดเหตุสุดวิสัย ต้องดูว่าเกิดจากความจำเป็น หรือเกิดจากคนสร้างขึ้น”

เส้นทางเลือกตั้งยังมีพงหนาม และกับดักระเบิดถึง 2 ลูก อาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้การเลือกตั้งขยับออกไปอีกก็เป็นได้