สมาคมนักข่าวฯชี้คุณสมบัติกก.ปฏิรูปสื่อ ต้องไม่มีแนวคิดให้รัฐมีอำนาจลงโทษ-ถอนใบอนุญาต

วันที่ 4 สิงหาคม 2560 นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็น 1 ใน 11 ด้านนั้น สมาคมนักข่าวฯเห็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนมีความสำคัญยิ่งต่อการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ หลังจากสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอแนวทางการปฏิรูปสื่อแบบถอยหลังเข้าคลองจนถูกต่อต้านจาก 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

โฆษกสมาคมนักข่าวฯกล่าวว่า เพื่อไม่ให้การปฏิรูปสื่อต้องเกิดปัญหาซ้ำรอยแบบ สปท. สมาคมนักข่าวฯจึงขอเสนอคุณสมบัติของคณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อดังนี้ 1.ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น 2.ต้องมีแนวคิดสนับสนุนและส่งเสริมการกำกับกันเองขององค์กรสื่อ และสนับสนุนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อ 3.ต้องไม่มีแนวคิด “ควบคุมสื่อ” โดยให้ตัวแทนภาครัฐเข้าไปเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อ ที่มีอำนาจลงโทษออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้ 4.ต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่มีประวัติด่างพร้อย โดยเฉพาะในด้านการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน

“สมาคมนักข่าวฯยืนยันในจุดยืนเดิม เมื่อครั้งที่ตัวแทน 30 องค์กรสื่อเข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการร่างกฎหมายที่ให้มีตัวแทนภาครัฐเข้าไปเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ เปิดช่องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งผิดหลักตรวจสอบถ่วงดุลในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และพร้อมสนับสนุนให้มีการปฏิรูปสื่อภายใต้หลักการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อ ให้มีการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน โดยมีกฎหมายรองรับ และมีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบสื่ออย่างเข้มข้น” โฆษกสมาคมนักข่าวฯ ระบุ

นายปรัชญาชัยกล่าวด้วยว่า เมื่อมีคณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนแล้ว หวังว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบในการพิจารณาในการจัดทำแผนการปฏิรูปอย่างทั่วถึง ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว และตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์