4 Scenario เลือกตั้ง “62 เส้นทางตั้งรัฐบาลใหม่-คสช.พ้นตำแหน่ง

นักการเมืองส่งเสียงเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกการเมืองในเร็ววัน

ส่วนรัฐบาล คสช.คลายความกดดันด้วยการเชิญพรรคการเมืองมาหาเส้นทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง

โรดแมปคืนประชาธิปไตย จึงออกมาเป็น สูตร 3-3-5 ตามปากคำของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล 

กะเทาะเปลือกโรดแมป 3-3-5 ในสูตรการเมืองที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 แรก คือ ช่วงเวลา 3 เดือนแรก หรือ 90 วัน ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 61 ภายหลังทูลเกล้าฯถวายร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตามปฏิทินฝ่ายนิติบัญญัติคาดการณ์ว่า กฎหมายทั้งสองฉบับจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.

ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะเปิดการประชุมกับพรรคการเมือง รอบ 2 ช่วง ก.ย.นี้ ทั้งนี้ มีข่าวว่า คสช.อาจออกมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปรับปรุงสูตรไพรมารี่โหวต ให้ทุกพรรคการเมืองสามารถเตรียมตัวทำไพรมารี่ได้ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ แม้จะดูดนักการเมืองได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ยังต้องหาสมาชิกพรรคจำนวนมาก เพื่อทำไพรมารี่โหวต ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทุกเขต

3 ที่สอง คือ ช่วงเวลาอีก 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค. 61 ภายหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. แล้ว จะต้องรอให้มีผลบังคับใช้อีก 90 วัน คสช.จะใช้มาตรา 44 “คลายล็อก” ให้มีการประชุมใหญ่พรรค ให้เลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์พรรคตามกฎหมายเลือกตั้ง และเปิดรับสมาชิกพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองใช้เวลาจัดทำไพรมารี่โหวต ภายใน 30 วัน ทั้งนี้ การทำไพรมารี่โหวตจะต้องทำเสร็จก่อน กกต.เปิดรับสมัครเลือกตั้ง

ส่วน กกต.จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดภายใน 60 วัน พร้อมกับลงไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และพรรคการเมืองในท้องที่ ซึ่ง คสช.จะต้องใช้ มาตรา 44 ให้ กกต.แบ่งเขตได้ก่อนที่ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.

และ 5 สุดท้าย คือ ช่วงเวลา 5 เดือน ช่วง ม.ค.-พ.ค. 62 ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

ดังนั้นเมื่อกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ รัฐบาลต้องหารือกับ กกต.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง พร้อมออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

และเมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กกต.ต้องกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 5 วัน และประกาศวันรับสมัครเลือกตั้งภายใน 25 วัน

นำมาสู่ “ตุ๊กตา” การเลือกตั้ง 4 แบบ

1.เลือกตั้ง 24 ก.พ. 62

2.เลือกตั้ง 31 มี.ค. 62 

3.เลือกตั้ง 28 เม.ย. 62 

และ 4.เลือกตั้ง 5 พ.ค. 62

ซึ่ง “วิษณุ” ระบุว่า “พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบปฏิทินนี้แล้ว จึงไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส ว่าการจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในเดือน ก.พ. 62 เป็นสิ่งที่เป็นไปได้”

ทั้ง 4 โมเดล กกต.ได้กาปฏิทินไทม์ไลน์ออกมาแล้วทั้ง 4 สูตร โดยระยะเวลา 150 วันในการเลือกตั้ง ไม่รวมการประกาศรับรองผลของ กกต.อีก 2 เดือน

ซึ่งจะนำไปสู่การตั้ง “รัฐบาลเลือกตั้ง” ในเวลาที่ต่างกัน หากไม่มีอุบัติเหตุ โหวตนายกฯคนใน-คนนอกในสภา

สูตรแรก สูตรเร็วที่สุด คือ 24 ก.พ. 62 จะออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งได้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม-ต้นมกราคม กกต.เปิดรับสมัครเลือกตั้ง 14-18 ม.ค. 62 จากนั้นเลือกตั้ง 24 ก.พ. หลังเลือกตั้ง มี.ค.-เม.ย. 62-กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ช้ากว่า 60 วัน (กรณีประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 95%) และ พ.ค. 62 เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เลือกประธานสภาลงมติเห็นชอบนายกฯ พอถึง มิ.ย. 62 มีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารราชการแผ่นดิน และ คสช.พ้นตำแหน่ง

สูตรที่ 2 กกต.จะเปิดรับสมัคร 18-22 ก.พ. 62 มีการเลือกตั้ง 31 มี.ค. 62 กกต.ใช้เวลา 2 เดือน เม.ย.-พ.ค. 62 ในการประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. พอถึง มิ.ย. 62 จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เลือกประธานสภา ลงมติเห็นชอบนายกฯ และ ก.ค. 62 มีรัฐบาลชุดใหม่ คสช.พ้นตำแหน่ง

สูตรที่ 3 กกต.เปิดรับสมัคร 18-22 มี.ค. 62 จะมีการเลือกตั้ง 28 เม.ย. 62 กกต.ประกาศผลเลือกตั้งใน 2 เดือน คือ พ.ค.-มิ.ย. 62 และ ก.ค. 62 เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เลือกประธานสภา ลงมติเห็นชอบนายกฯ และ ส.ค. 62 มีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารราชการแผ่นดิน-คสช.พ้นตำแหน่ง

และสูตรที่ 4 กกต.เปิดรับสมัคร 25 มี.ค. 62 มีการเลือกตั้ง 5 พ.ค. 62 กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. 2 เดือน ตรงกับ มิ.ย.-ก.ค. 62 และ ส.ค. 62 เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เลือกประธานสภา ลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ก.ย. 62 มีรัฐบาลใหม่-คสช.พ้นตำแหน่ง

เส้นทางปลดล็อกการเมือง และการเลือกตั้ง ถูกเซตไทม์ไลน์ไว้พร้อมแล้ว เหลือเพียง คสช.เคาะวัน ว. เวลา น. และความพร้อมของพรรคพลังประชารัฐ