4 ปี สนช.ออโต้โหวต รูดปรื๊ด กม. 300 ฉบับ ตีตั๋ว “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ

กว่า 4 ปี ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นมือ-ไม้ เป็นหนึ่งในแม่น้ำสายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ทำหน้าที่ผ่านกฎหมายทั้งเศรษฐกิจ-การเมือง ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสถานการณ์พิเศษ ละเอียดอ่อน

อนุมัติ-แต่งตั้ง บุคคลในองค์กรอิสระต่าง ๆ ไม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คุมเกมการเมืองหลังเลือกตั้ง

วางกฎกติกาอนาคตหลังเลือกตั้ง ไม่ว่ากฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน และอาจกล่าวได้ว่า สนช.เป็นผู้สร้างบันได “นายกฯนอกบัญชี” ผ่านคำถามพ่วงประชามติ เป็นตัวเลือกหนึ่ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจเดิมพันเก้าอี้นายกฯต่ออีกสมัย

4 ปี ผ่าน กม.เกือบ 300 ฉบับ

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสายนิติบัญญัติยุค คสช. มีการบันทึกไว้เป็นสถิติว่า สนช.ได้รับร่างกฎหมายมาพิจารณาทั้งสิ้น 364 ฉบับ แบ่งเป็น กฎหมายจาก คสช. 21 ฉบับ และกฎหมายจากคณะรัฐมนตรี 299 ฉบับ และ สนช.เสนอเอง 44 ฉบับ สนช.เห็นชอบให้เป็นกฎหมายแล้ว 284 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 278 ฉบับ รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 6 ฉบับ

นอกจากนี้พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ โดยรับมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 10 ฉบับ ประธาน ป.ป.ช.เสนอมา 2 ฉบับ และ ครม.เสนอมา 1 ฉบับ

ออก กม.คุมม็อบ-โซเชียล

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนกฎหมายนับร้อยฉบับที่ สนช.ทำหน้าที่มา 4 ปี มีกฎหมายประเภท “ติดดาบ” ให้ คสช.คุมการเมืองได้สงบราบคาบ เป็นกฎหมายที่พรรคการเมืองไม่ว่าขั้วไหน ก็ไม่สามารถออกได้ นั่นคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

สาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่หากจะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมกับต้องระบุวัตถุประสงค์ วันที่ ระยะเวลา สถานที่ชุมนุม จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม การขอใช้เครื่องขยายเสียงที่ต้องระบุกำลังขยายและระดับเสียงที่จะใช้สำหรับการชุมนุมให้ชัดเจน ถ้าไม่แจ้งการชุมนุม ผลลัพธ์สุดท้ายก็นำไปสู่การดำเนินคดีอาญา

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 ก็เป็นอาวุธอีกชิ้นหนึ่งที่ปรามการเคลื่อนไหวการเมืองบนโลกโซเชียล ที่ปัจจุบันมีความสำคัญอย่างยิ่ง หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.คอมพ์ เช่น ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย สามารถตั้งคณะกรรมการ กลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้

ขณะเดียวกันยังวางกลไกล็อก “ประชานิยม” ไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉวยโอกาสใช้งบฯ-เงินประเทศในการหาความนิยมทางการเมือง โดยไม่คิดถึงเงินในกระเป๋า ผ่าน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ในมาตรา 9 ที่บัญญัติว่า

“ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐ หรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ”

“คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

เตะถ่วงกฎหมายเหลื่อมล้ำ

ทว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งธงออกกฎหมายในเรื่องที่ “รัฐบาลนักเลือกตั้ง” ไม่สามารถออกได้ แต่กฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาอันเป็นรากฐานสังคม มาจากความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ยังไปไม่ถึงไหน ก็เพราะใน สนช.เต็มไปด้วยนายทุน-แลนด์ลอร์ด

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และร่าง พ.ร.บ.พัฒนาและกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ หรือกฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้ง ยังถูก “เตะถ่วง” อยู่ใน สนช.

“พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช.

กล่าวถึงกฎหมายภาษีที่ดินฯว่า กำลังดูอยู่ว่าจะจัดให้เป็นธรรมอย่างยิ่ง ส่วนกฎหมายทรัพยากรน้ำยังไม่ได้ดูละเอียด 3-4 ฉบับมีข่าวว่าจะเลื่อนใช้ไปถึงปี 2563 ก็เป็นเพียงข่าว แต่กฎหมายภาษีที่ดินฟังดูแล้ว รัฐบาลอยากจะดูว่า ฟังเสียงประชาชนเพียงพอไหม อยากจะฟังเสียงขององค์ประกอบต่าง ๆ อาจจะเลื่อนก็ได้ แต่ สนช.เสนอกันว่า อยากให้กฎหมายออกภายในปีนี้ เราจะไม่ทิ้งกฎหมายไว้เพื่อไปช่วยใคร อย่างไรรัฐบาลใหม่ก็ต้องนำมาทบทวน ถ้าไม่เสร็จจริง ๆ แล้วจะเห็นปัญหา

“กฎหมายขัดกันแห่งผลประโยชน์น่าจะออก แต่ต้องดูให้เหมาะสม เพราะกฎหมายที่ร่างมา ถ้าออกมาปั๊บ ผิดปุ๊บเลย จึงอาจจะต้องมีข้อยกเว้นให้ ยกตัวอย่าง ภรรยาทำวันนี้อยู่ แต่พอกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผิดเลยนะ หรือบางคนยังไม่รู้ แต่ใช้รถราชการอยู่ แวะไปนิดเดียว แวะข้างทางกินก๋วยเตี๋ยวนิดเดียว ผิดเลยนะ ไม่ได้ ต้องมีเวลาเตรียมตัว”

ยังไม่นับ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกที่เก็บภาษีจากคนรวยในอัตราที่เบาหวิว

ชงคำถามพ่วง ส.ว.เลือกนายกฯ

นอกจากเนื้องานด้านกฎหมาย สนช.ยังมีบทบาทสำคัญต่อเส้นทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในอนาคตย้อนกลับไปช่วงที่ทุกฝ่ายพุ่งเป้าไปที่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ฝ่าย สนช.ได้มีมติครั้งสำคัญ ให้มี “คำถามพ่วง” ประชามติ ถามประชาชนไปในคราวเดียวกันว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ดังนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2559 เห็นชอบให้มีคำถามพ่วง 152 เสียง ต่อ 0 งดออกเสียง 16 เสียง จากผู้เข้าประชุม 167 คน

หลังจากรัฐธรรมนูญมีชัย ผ่านการลงประชามติ ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงต้องมาแก้ไขในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มีวิธีการเลือกนายกฯคนนอก-นอกเหนือนายกฯในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ โดยให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีส่วนร่วมโหวต “นายกฯ” ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ในช่วง “เปลี่ยนผ่านการเมือง 5 ปี”

“พรเพชร” ประธาน สนช. ให้เหตุผล ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯว่า “บทบาทของ ส.ว. เราเห็นว่า ส.ว.ต้องมีบทบาท มิเช่นนั้น แผนการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญจะเดินต่อไปไม่ได้ จึงต้องให้ ส.ว.มีบทบาทมากขึ้น มีการแก้ไขในบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกฯ แต่ทำไปด้วยความมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีรอยต่อ เชื่อมต่อที่ไปได้โดยไม่ถูกพับฐาน และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”

ส่วนถูกมองเป็นนายกฯรอบสองหรือไม่ “พรเพชร” ชี้แจงว่า “ถูกมองได้อย่างนั้น แต่จะไม่ได้สะดวก ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ต้องการให้มี ส.ว.เปลี่ยนผ่าน ให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปดำเนินการต่อไป”

ตั้งองค์กรอิสระคุมการเมือง

อีกหน้าที่หนึ่งของ สนช. คือ การลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อันถือเป็นองค์กรที่ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ผูกพันยาวไปถึงฝ่ายบริหารหลังเลือกตั้ง

ซึ่งการลงมติเห็นชอบบุคคลที่เป็นองค์กรอิสระครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในยุค คสช. คือ การเห็นชอบ 5 ป.ป.ช.ใหม่ แทนกรรมการ ป.ป.ช.บางรายที่อยู่ในตำแหน่งมาครบ 9 ปี หนึ่งในบุคคลที่ สนช.เห็นชอบ คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

ซึ่งก่อนที่จะมารับตำแหน่งใน ป.ป.ช. “พล.ต.อ.วัชรพล” เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จึงถูกมองว่าได้รับตั๋วพิเศษให้มานั่งเก้าอี้ประธาน ป.ป.ช. และเมื่อ “พล.อ.ประวิตร” เจอมรสุมแหวนเพชร-นาฬิกาหรู “พล.ต.อ.วัชรพล” จึงถอนตัวไม่อยู่ในห้องประชุมเมื่อถึงวาระดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องฉาว ๆ ของ “พล.อ.ประวิตร” ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน

แถม ป.ป.ช.ยังไม่ถูกพิษ “เซตซีโร่”

ล้างไพ่เหมือนกรรมการในองค์กรอิสระองค์กรอื่นอย่าง กกต. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็เพราะ สนช.ในฐานะองค์กรที่ร่วมร่างกฎหมายลูกขององค์กรอิสระต่าง ๆ ไฟเขียวให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุด พล.ต.อ.วัชรพล ทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระ 9 ปี ผิดจาก กกต. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา สนช.ได้เลือก กกต.ชุดใหม่ 5 คน จาก 7 คน ให้มาคุมการเลือกตั้ง ปี 2562 แทน กกต.ชุดศุภชัย สมเจริญ ที่ต้องพ้นตำแหน่งเพราะ สนช.ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ กกต.มากขึ้น คุณสมบัติจึงเข้มข้นตามมาด้วย และควรเริ่มดำเนินการเลยเพื่อให้ได้ กกต.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ต่างไปจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ถูก สนช.เซตซีโร่ สนช.ให้เหตุผลว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรอิสระตลอด 4 ปี สนช.ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เป็นผู้กำหนดเกม เป็นมือ-ไม้ออกกฎหมาย ออกแบบช่องทางเข้าสู่อำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์สำเร็จ สำหรับกฎหมายแก้ความเหลื่อมล้ำ

ที่บรรจุเป็นวาระต้น ๆ ยังไปไม่ถึงไหน