อินไซด์วงประชุมลับ กกต. กลุ่มการเมืองชง “รีเซตวันเลือกตั้ง”

24 ก.พ. 2562 คือ วันเลือกตั้ง ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ล็อกเป้าไว้ให้เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปในรอบ 8 ปี

แต่ใช่ว่าจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ “พล.อ.ประยุทธ์” การันตีว่าวันนั้นคือ วันหย่อนบัตร

เพราะตามล็อกเลือกตั้ง ที่จะนับอย่างเป็นทางการหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มีผลบังคับใช้ ซึ่งตรงกับ 11 ธ.ค. หลังจากนั้น การเลือกตั้งจะสตาร์ตนับ 1 ต่อไป 5 เดือน หรือ 150 วัน

ล็อกสุดท้ายตามปฏิทินที่รัฐบาลกำหนด คือ 5 พ.ค. 2562

ในจังหวะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่เตรียมไว้เป็นบันไดการเมืองให้ พล.อ.ประยุทธ์ เบิลอำนาจเป็นสมัยที่ 2 มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นดีลเมกเกอร์ ปักหมุดตอกเสาเข็มตั้งพรรคการเมืองตามนิตินัย

แตะมือกับเครือข่ายการเมืองเขี้ยวลากดิน สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แตกเป็นกลุ่มสามมิตร เดินเกม ต่อสายดึง-ดูดนักเลือกตั้ง ทุกสารทิศเอามาเป็นพวก

หวังผลถึงการได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 หรือ 3 แต่ที่ตั้งเป้าจะได้แต้มที่สุด คือ จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะ 7 หมื่นคะแนนในระบบเขตเลือกตั้ง จะมาแปลงเป็นที่นั่ง ส.ส.ในปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

ตามคิวการเมือง ครั้งแรก “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “กลุ่มสามมิตร” จะสับสวิตช์มาเป็นขั้วเดียวกันในช่วงปลาย ส.ค. แต่การเคลียร์เก้าอี้ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ไม่ลงตัว จึงเลื่อนการเปิดตัวมากลางเดือน ก.ย.

จนแล้วจนรอดกลางเดือน ก.ย. กลุ่มสามมิตรกับพลังประชารัฐก็ยังรวมขั้วกันไม่ได้ กระทั่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและ คสช.จำต้องออกคำสั่ง 13/2561 “คลายล็อก” การเมือง

ทำให้กำหนดการทางการเมืองมีล็อก วัน ว. เวลา น. ที่ต้องปฏิบัติชัดเจน แต่พรรคพลังประชารัฐยังไม่จดจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมาย มีสถานะเป็นแค่ จองชื่อพรรคไว้ และได้ใบรับรอง พ.ก. 7/2 ให้สามารถยื่นคำขอจดจัดตั้งพรรคได้เท่านั้น

เช่นเดียวกับอีก 118 กลุ่มการเมือง ที่ยังไม่มีสถานะความเป็นพรรค ปัญหาตามกฎหมายอาจเกิดขึ้นตาม ดังที่ “แสวง บุญมี” รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กลุ่มการเมืองที่ยังไม่ได้ยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วัน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 97 (3)

ถ้าการเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 วันสุดท้ายของ 90 วัน คือ วันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยพรรคเก่าจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับกลุ่มการเมืองที่จดจองชื่อพรรคการเมืองยังไม่ยื่นขอจัดตั้งพรรค จะยังหาสมาชิกไม่ได้ เพราะจะเริ่มสมัครสมาชิกได้เมื่อเป็นพรรคการเมืองแล้ว จึงขอให้มายื่นจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เกิน 27 ก.ย. 2561 เพราะ กกต.ใช้เวลา 45-60 วัน ในการพิจารณารับรอง

ขีดเส้นใต้ระยะเวลาปลอดภัยสำหรับการเป็นพรรคการเมือง ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 26 พ.ย.

ข้อมูลลึกแต่ไม่ลับจากวงประชุม กกต. ที่เตรียมความพร้อมในการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ได้ยก scenario ทางการเมืองขึ้นมาถกกันอย่างเคร่งเครียดว่า ในวงประชุมอาจมีพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใหม่ หลายพรรคอ้างเหตุขัดข้องต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสาขาพรรค 4 ภาคไม่ทัน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง เนื่องจากจะต้องมีสมาชิกพรรคในการตั้งสาขาพรรคภาคละ 500 คนขึ้นไป หากรวมกันทั้ง 4 ภาค ต้องมีสมาชิกพรรคถึง 2 พันคน

รวมถึงยังมีอีก 118 กลุ่มการเมือง ที่ยังไม่มีสถานะเป็นพรรค หากลงเลือกตั้งอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในคำสั่ง 13/2561 ไม่ทันก่อนการเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 เป็นเหตุขอให้ที่ประชุมโหวตเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งกันใหม่อีกครั้ง

สอดรับกับบริบทการเมืองล่าสุดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้สัมภาษณ์อนาคตของตนเองในมุมมองใหม่

“สำหรับสิ่งที่หลาย ๆ คนอยากจะให้ผมตอบในเรื่องงานการเมือง ผมก็ตอบได้ว่าในขณะนี้ ผมสนใจงานการเมือง แต่การที่ผมจะตัดสินใจอย่างไร จะสนับสนุนใคร มันเป็นเรื่องอีกระยะหนึ่ง ซึ่งผมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง”

“แต่วันนี้ผมสนใจการเมือง เพราะผมสนใจในสิ่งที่ผมทำลงไปว่า ไปถึงไหน อย่างไร วันข้างหน้าจะได้รับการสืบสานต่อไปหรือไม่ ผมจะติดตามรับฟังจากบรรดากลุ่มการเมือง พรรคการเมือง นักการเมืองต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้”

“เพราะฉะนั้น ผมขอใช้คำแรกนี้ได้ว่า ผมสนใจงานการเมือง เพราะผมรักประเทศชาติของผม ก็คงเป็นเช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ”

พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่พร้อมเปิดตัว พลังประชารัฐยังไม่พร้อมเป็นพรรคการเมือง วงประชุม กกต. 28 ก.ย.นี้อาจมีเซอร์ไพรส์