กกต. ขีดเส้นวันเลือกตั้งใหม่ เปิดทางพลังประชารัฐ “ชนะฟาวล์”

29 ตุลาคม 2561 เป็นวันที่พรรคพลังประชารัฐ บิดกุญแจสตาร์ตเครื่องเป็นครั้งแรก พร้อมพลขับเป็น 4 รัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบด้วย “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค

“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค และ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค

มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เป็น “ที่ปรึกษา…เครื่องรางทางใจ” ขับเคลื่อน “พลังประชารัฐ” ไปสู่การเลือกตั้งปี 2562

นับจากนี้ พรรคพลังประชารัฐต้องไปยื่นเอกสารขอจดจัดตั้งพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้รับรองการเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ เพื่อมีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

แต่ใช่ว่าเส้นทางพรรคพลังประชารัฐจะราบเรียบ เพราะยังมีเงื่อนไขเวลาตามกฎหมาย ที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐหลังพิงฝา ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

Advertisment

บนสมมุติฐานว่า หากเส้นทางการเลือกตั้งยังอยู่ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 การจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ครบทั้ง 350 เขตได้นั้น ผู้สมัครเลือกตั้งจะต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

“แสวง บุญมี” รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงในวงประชุม กกต.กับพรรคการเมืองเมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ถ้า 24 ก.พ. 2562 เป็นวันเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติคุณสมบัติของผู้สมัครว่า จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวติดต่อกัน 90 วันจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคการเมืองใหม่ที่ต้องการจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 350 เขต จะต้องมีความเป็นพรรคการเมืองไม่เกิน 26 พ.ย.”

“ถ้าความเป็นพรรคการเมืองเกิดขึ้นหลัง 26 พ.ย.เป็นต้นไป สมาชิกพรรคที่ไม่ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะสังกัดพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน”

“พรรคพลังประชารัฐ” จึงมีความเสี่ยงที่จะส่งผู้สมัครเลือกตั้ง 350 เขตไม่ทัน หาก กกต.รับรองความเป็นพรรคการเมืองช้ากว่า 26 พ.ย. เช่นเดียวกับ 119 กลุ่มการเมือง

Advertisment

เป็นเหตุให้ในวงประชุม กกต.เมื่อ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา มีพรรคขนาดเล็กต่างชูมือขอให้ กกต.ชงเรื่องไปยัง คสช.เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งจาก 24 ก.พ. 2562 ออกไปเดือน พ.ค. 2562 แต่ กกต.ให้เสนอไปยัง คสช.ที่จะนัดพบกับพรรคการเมืองในอนาคตอันใกล้

แหล่งข่าว กกต.ประเมินทางออกของพรรคพลังประชารัฐแบบง่ายที่สุด 2 ทาง

ทางแรก กกต.เร่งรับรองความเป็นพรรคการเมืองให้ทันในกลางเดือน พ.ย.ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะต้องส่งชื่อของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองจำนวน 500 คน ส่งไปให้ 9 หน่วยงานตรวจสอบ อาทิ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กรมราชทัณฑ์ สำนักงาน ก.พ. ศาลยุติธรรม ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลานานทางสอง คสช.เลื่อนเลือกตั้งออกไปจาก 24 ก.พ. 2562 จะปลอดภัยกับพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด

เพราะตามสถิติที่ กกต.ใช้เวลารับรองความเป็นพรรคการเมืองอยู่ที่ 90 วันขึ้นไป

“ปิยะบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เอ่ยปากดักทางไว้ว่า คำนวณเวลาการยื่นเอกสารจดแจ้งจัดตั้งพรรคของพรรคอนาคตใหม่ กว่า กกต.จะรับรองต้องรอถึง 97 วัน หลังจากยื่นเอกสารการประชุมครั้งแรก ดังนั้น ขอให้จับตาดูว่า กกต.จะใช้เวลากี่วันที่ กกต.จะรับรองจดจัดตั้งพรรค

เช่นเดียวกับพรรคประชาชนปฏิรูปของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่ยื่นเรื่องขอตั้งพรรคไปตั้งแต่เดือน มิ.ย. และเพิ่งได้รับการรับรองความเป็นพรรค พร้อมกับพรรคอนาคตใหม่ ใช้เวลาเกือบ 100 วัน

อย่างไรก็ตาม “แสวง บุญมี” รองเลขาฯ กกต. ชี้แจงกรอบการอนุมัติความเป็นพรรคการเมืองของ กกต.ว่า กกต.เร่งอยู่แล้ว โดยมีกรอบเวลา 45-60 วัน เป็นเวลามาตรฐาน อย่างเก่งก็ใช้เวลา 45 วัน

ด้านความเห็นของหัวหน้าพรรค “อุตตม” กล่าวถึงเส้นตาย 90 วันว่า ทุกอย่างจะทำทัน ส่งผู้สมัครครบ 350 เขต

เช่นเดียวกับ “สนธิรัตน์” กล่าวว่า เราเข้าใจข้อจำกัดของกฎหมายดี แต่การเป็นพรรคการเมืองกฎหมายว่าต้องทำให้ทันก็ต้องทำให้ทัน เพื่อให้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562

หากยึดไทม์ไลน์เลือกตั้ง กกต.ขีดเส้นวันที่ 24 ก.พ. พลังประชารัฐจะส่ง ส.ส.ไม่ทัน และเสี่ยงแพ้ฟาวล์ทันที