ดีเบต ปชป. เดือด! ปม จุดยืน-อุดมการณ์ “มาร์ค” ลั่น “อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ต้องไม่เปลี่ยน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัด “ดีเบต 61 ประชาธิปัตย์ คนไทยได้อะไร ?” โดยมีบางคำถาม-บางช่วง-บางตอน เกิดการวิวาทะระหว่างผู้สมัครรับการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคหมายเลข 1 คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครรับการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคหมายเลข 2 ก่อนที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ผู้สมัครรับการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคหมายเลข 2 จะออกมาห้ามทัพ

คำถามข้อที่ 8 : สโลแกนการหาเสียงของผู้สมัครทั้ง 3 คน จะทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร ?

นพ.วรงค์ : ประเด็นที่ต้องการเปลี่ยนประชาธิปัตย์มี 5 เรื่อง ได้แก่ 1.เสรีประชาธิปไตยเป็นเสรีภาพที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบ มีการรวมหัวเอาเปรียบคนจน มีการผูกขาด รวยกระจุก จนกระจาย

“ผมจะเปลี่ยนเป็นแนวคิด ประชาธิปไตย สวัสดิการ เน้นการดูแลคนด้อยโอกาส ให้คนด้อยโอกาสอยุ่ร่วมกับคนที่มีฐานะอย่างเท่าเทียมกันและเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน”

2.นโยบาย ต้องกำหนดนโยบายที่ประชาชนกินได้ จับต้องได้ 3.ทำงานเป็นทีมเพื่อสร้างเอกภาพของพรรคได้ดีกว่า 4.กระจายอำนาจไปยังสาขา และ 5.ทำให้ประชาธิปัตย์สัมผัสได้กับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออกและกรุงเทพ ฯ

“ให้เขารู้สึกว่า เรากล้าคิด กล้าทำ คิดเร็ว ทำเร็ว ให้เขารู้สึกว่า เราเป็นนักทำ ไม่ใช่นักนำเสนอ”

นายอภิสิทธิ์ : คำขวัญ หรือ สโลแกน คือ มุ่งมั่นอุดมการณ์ มุ่งหน้าอนาคตไทย มุ่งหน้าอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่จะทำการเมืองเสรี บริสุทธิ์ การกระจายอำนาจ ความศักดิ์ของกฎหมาย การส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีแต่เป็นธรรม เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะเป็นหลักในการทำงานให้กับประชาชน และมุ่งหน้าอนาคตไทย คือ การยอมรับว่าอนาคตขณะนี้มีความท้าทายอย่างไร เทคโนโลยี สังคมสูงวัย โลกาภิวัฒน์ เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ ผมมีคำตอบในเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด

“ผมขอสงวนสิทธิ์ที่จะอธิบายเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะเป็นประกาศของอุดมการณ์ของพรรคเขียนชัดเจน ว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคในแนวเสรีนิยมประชาธิปไตย ย่อหน้าที่ 3 พรรคเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี สนับสนุนการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม พรรคเชื่อว่ารัฐควรแทรกแซงในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันการผูกขาด ตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม”

“เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ในด้านการเมือง การปกครอง การผูกขาดไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเสรีนิยม เสรีนิยม คือ การแข่งขั้น เพราะฉะนั้นต้องไม่สับสนระหว่างเรื่องอุดมการณ์ในด้านการเมือง การปกครอง กับ เรื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเสรีนิยมประชาธิปไตยสนับสนุนการแข่งขันและไม่สนับสนุนการผูกขาด ไม่สนับสนุนความเหลื่อมล้ำ”

“สวัสดิการเป็นนโยบาย ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมืองเพราะเสรีนิยมประชาธิปไตย กับ สังคมนิยมประชาธิปไตย ล้วนใช้สวัสดิการทั้งสิ้น ความแตกต่าง คือ สังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐผูกขาดเรื่องการจัดสวัสดิการให้และเก็บภาษีสูงหน่อย เสรีนิยมประชาธิปไตย ยอมรับระบบสวัสดิการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินออมและอาจจะเสริมด้วยสิ่งที่รัฐให้เปล่า เช่น เบี้ยยังชีพ หรือ เรียนฟรีเพราะฉะนั้นสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้ขัดกับเสรีนิยมประชาธิปไตย อุดมการณ์ประชาธิปไตยของประชาธิปัตย์ต้องไม่เปลี่ยน”

นพ.วรงค์ : ขออ้างเอกสารอ้างอิง ในห้องช่วยเปิดวิกิพีเดีย เรื่อง เสรีนิยมประชาธิปไตย เสรีประชาธิปไตยเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 18 ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเกิดคำถาม เพราะเสรีนิยมเน้นความเป็นเสรีและให้สิทธิเสรีภาพกับปัจเจก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาของเสรีนิยมจึงเกิดขึ้น ถ้าการอยู่ของคนไม่เท่าเทียมกันในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาประชาธิปไตย เสรีนิยมไม่มีปัญหา แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไปนานเข้า ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นสูงขึ้น จึงนำมาซึ่งการผูกขาด เพราะความเป็นเสรี เชื่อมั่นในกลไกตลาด ระบบ market mechanism (กลไกตลาด) เกิดการผูกขาด ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก รวยกระจุก จนกระจาย”

“เสรีนิยมเป็นปัญหาที่ทำให้รวยกระจุก จนกระจาย เราต้องการให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก มีสิทธิ มีเงินในกระเป๋าและใช้ชีวิตกับคนชั้นกลางได้ ดังนั้น จึงต้องเอารัฐสวัสดิการไปช่วย”

นายอภิสิทธิ์ : ขอย้ำนะครับ 2 เรื่องนี้ไม่ได้ขัดกันเลย สวัสดิการเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย

นายอลงกรณ์ : ชาวบ้านจะได้พรรคการเมืองที่เป็นของชาวบ้านอย่างแท้จริง ได้พรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ สุจริตและยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ชาวบ้านจะได้ระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีการผูกขาด เป็นบ่อเกิดของความยากจน เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ชาวบ้านจะได้กฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียว ไม่ใช่สองมาตรฐาน ชาวบ้านจะได้ตำรวจที่เข้าหาประชาชนไม่ใช่เข้าหาผู้ให้ตำแหน่ง

“ก่อนประชาธิปัตย์จะสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศ ต้องสร้างจุดเปลี่ยนของพรรค ผมพร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อจะเปลี่ยนและทำทันที เดินหน้าทำทันที”

“ถ้าเรามัวคิดต่างในเรื่องอดีต เราจะเสียอนาคตของพรรค ถูกทั้งคู่ แต่ว่า เรื่องของอุดมการณ์พรรคเปลี่ยนไม่ได้เด็ดขาด 72 ต้องยืนหยัด แต่ต้องหาวิธีการแนวใหม่ ๆ ต้องไปตามโลก”

“แน่นอนว่า ไม่มีระบบเสรีนิยมที่ไม่มีเรื่องรัฐสวัสดิการสอดแทรกอยู่ แต่ถ้ามากเกินไป เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ก็มีสัดส่วนของความเป็นสังคมนิยม เก็บภาษีมาก”