“ดอน” โล่ง ศาลรธน.ชี้ภรรยาโอนหุ้นเหลือไม่เกิน5%ตามกำหนด ขอเดินหน้าทำงานลั่นไม่รับตำแหน่งหลังเลือกตั้ง

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการะทรวงการต่างประเทศ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 โดยเห็นว่า โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 264 วรรคสอง กำหนดการเป็นรัฐมนตรีและตำแหน่งรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว โดยไม่ได้ยกเว้นกรณีมาตรา 187 ที่กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจํานวนที่กฎหมายบัญญัติ กรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์ จากหุ้นที่ถือครองต่อไปให้ประธาน ป.ป.ช.ภายใน 30 วันแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยรัฐมนตรีจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ไม่ว่าในทางใดไม่ได้ ซึ่งนายดอน เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558 จึงเป็นรัฐมนตรีอยู่ในครม. มาก่อนที่ รัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้ ก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 เพราะบทบัญญัติดังกล่าว รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ต้องการให้เป็นหลักประกันให้รัฐมนตรีในครม. มุ่งมั่นบริหารประเทศโดยสุจริต ถือเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดกับผลประโยชน์สาธารณะ เป็นมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่ต้องการให้รัฐมนตรีมุ่มมั่นบริหารบ้านเมืองด้วยความสุจริต

นอกจากนี้ การจำกัดสิทธิการถือหุ้นของรัฐมนตรีตามมาตรา 187 ไม่ได้เด็ดขาด สิทธิของคู่สมรสและบุตรยังมีอยู่ เป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 ซึ่งการที่นายดอน จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 นั้น เคยมีคำวินิจฉัยที่ 20/2544 วางหลักการไว้ว่า การเป็นรัฐมนตรีในครม.ที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ยังคงเป็นรัฐมนตรีในครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปจะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง รัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้วันที่ 6 เมษายน 2560 จึงต้องถือว่านายดอน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีและต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 จึงเป็นวันที่ 6 เมษายน 2560

ส่วนประเด็นการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของภรรยานายดอน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแล้วฟังได้ว่า เดิมคู่สมรสของนายดอน ถือหุ้นในบริษัทปานะวงศ์ จำกัด จำนวน 7,200 หุ้น และในวันที่ 10 เมษายน 2560 คู่สมรสได้มีหนังสือแจ้งโอนหุ้น จำนวน 4,800 หุ้นให้นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรของนายดอน โดยทำหนังสือสัญญาโอนหุ้น ลงวันที่ 27 เมษายน 2560 ทำให้คู่สมรสถือหุ้นคงเหลือ 2,400 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 4 ขณะที่หุ้นในบริษัทปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด คู่สมรสของนายดอน เดิมถือหุ้นอยู่ 3,500 หุ้น มีหนังสือประสงค์โอนหุ้น 2,700 หุ้นให้นายเพื่อน โดยทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นในวันที่ 30 เมษายน 2560 ทำให้คู่สมรสของนายดอน ถือหุ้นคงเหลือ 800 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 4 ซึ่งเมื่อพิจารณาการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ที่มีการอนุมัติการโอนหุ้นในวันที่ 27 เมษายนและวันที่ 30 เมษายน ตามลำดับ แล้วเห็นว่า การโอนหุ้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 จึงฟังได้ว่า คู่สมรสของนายดอน ได้โอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย และคงเหลือหุ้นในแต่ละบริษัทไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ ตามที่พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4 กำหนด ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสของนายดอน ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ถูกต้องแล้ว ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

นายดอนกล่าวภายหลังเข้ารับฟังคำวินิจฉัยของศาลว่า ถือว่าเรื่องยุติแล้ว หลังจากนี้ต้องกลับไปทำงานด้วยสมาธิที่เต็มที่เนื่องจากยังมีงานสำคัญรออยู่อีกมาก ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าใช้เวลา 6 เดือน ในการเตรียมเอกสารเพื่อประกอบคำชี้แจงต่อศาล โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไทยจะเป็นประธานอาเซียน ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ส่วนบทบาททางการเมืองหลังจากนี้ขอยืนยันว่า จะไม่เข้าไปอยู่ในสังกัดของพรรคการเมืองใด และไม่สมัครสมาชิกพรรคใด ในประเทศนี้มีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ พูดให้ชัดคือหลังการเลือกตั้งจะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆในทางการเมือง แต่ถ้าจะมานั่งพูดคุยปรึกษาหารือในเรื่องการต่างประเทศ ซึ่งตนมีความถนัดก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ และยอมรับเหตุผลของการตัดสินใจมาจากปัญหาด้านสุขภาพ ไอมานาน 6 เดือนยังไม่หายเลย

ส่วนข้อเรียกร้องให้มีองค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั้น นายดอนกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งเป็นกิจการภายในของประเทศ แต่ละประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องให้ต่างชาติเข้ามาจับตามอง โดยประชาชนแต่ละประเทศมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่า สามารถสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประเทศตัวเองได้ดีกว่าคนต่างชาติ นอกจากนี้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น การดูแลปกครองตัวเองที่ยังต้องให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์จึงไม่เป็นมงคลของการเริ่มต้นใหม่ โดยที่ผ่านมาการเลือกตั้งที่ถูกต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์จะเกิดกับประเทศที่มีปัญหาไม่ดี สำหรับไทยเป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรี คงไม่อยากถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหา

“รัฐบาลปัจจุบันมาจากการรัฐประหารที่มีความแตกต่างจากรัฐประหารทั่วโลกเพราะไม่มีการห้าม ริดรอนสิทธิความเป็นอยู่และไม่ได้ทำอะไรเกินเลยจนกระทบความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ มีทูตบางประเทศมาคุยกับผม ยกมาตรา 112 มาสอบถามว่าทำไมต้องมีกฎหมายริดรอนการแสดงความเห็น ผมก็ได้ถามกลับไปว่าประเทศของท่านไม่มีมาตรการหรือข้อบังคับเฉพาะเรื่องหรืออย่างไร ในประเทศไทยมาตรา 112 นั้นคนไทยรับรู้กันดี หากลองนับจำนวนคนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะพบว่ามีแค่หยิบมือเดียวแล้วจะเป็นปัญหาได้อย่างไร ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ส่วนมาตรการพิเศษต่างๆที่ออกมาทำเพื่อประโยชน์บ้านเมืองความสงบเรียบร้อย ข้อห้ามการชุมนุมทางการเมืองก็เพื่อให้บ้านเมืองสามารถเดินต่อไปได้ ในเรื่องความคิดความเห็นสามารถแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ในช่วง 4ปี ที่ผ่านมาไม่ได้มีข้อห้าม” นายดอนกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์