“จาตุรนต์” สานต่อ “ไทยรักไทย” ปักธง “ไทยรักษาชาติ” ปลดกับดักเผด็จการ เกาะขบวนเศรษฐกิจยุคใหม่

เพราะอิทธิฤทธิ์รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธ์ ทำให้พรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เขตมากอย่างพรรคเพื่อไทย กลับจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ทำให้ต้องแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย

พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จึงถูกปลุกปั้นมา “แก้กับดัก” รัฐธรรมนูญมีชัย และเป็นครั้งแรกที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ประกาศ “ธง” ของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) หลังจากถอดเสื้อคลุมเพื่อไทย เข้ามาสวมเสื้อตัวใหม่ ทษช.

เขาวาง Position ของ ทษช.บนสนามเลือกตั้ง ให้เข้ารูป – เข้ารอย มากกว่าเป็นพรรคที่รวมเครือญาติ และ เครือข่าย “ชินวัตร” จูเนียร์

“จาตุรนต์” ชี้ทิศทาง ทษช. จากนี้ไปว่า 1. เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย 2. เป็นพรรคที่พาคนไทยไม่ตกยุคในภาวะความผันผวนของเทคโนโลยี

“ทษช. เกิดขึ้นในสถานการณ์โลกที่กำลังผันผวนอย่างมาก บทบาทของประเทศมหาอำนาจกำลังเปลี่ยนไป มีสงครามการค้าเกิดขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น มีดิจิทัลอีโคโนมี ประเทศไทยไม่อาจตกขบวน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ประโยชน์ ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดีจะมีผลกระทบอย่างมาก จะทำให้คนจำนวนมากตกงาน หางานใหม่ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องการปรับตัวรับกับสถานการณ์”

Advertisment

“แต่ประเทศไทยกลับต้องจมอยู่กับทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เราผ่านการยึดอำนาจ วางกฎกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และทำให้เกิดความเสียหายทางการเมือง ความไม่เป้นที่ยอมรับนานาชาติ เราได้รัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารประเทศ แก้ปัญหาของประชาชนได้ ผ่านไป 4 – 5 ปี ประชาชนรู้สึกไม่มีรายได้ ไม่มีเงินในกระเป๋า เสียหายทั้งการเมือง และเศรษฐกิจ”

“ในขณะที่ประชาชนบอกว่าถึงเวลาเลือกตั้ง เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น แต่กลับมีการสืบทอดอำนาจ คสช.เพื่อให้มีรัฐบาลแบบเดิมต่อไป หมายความว่าประเทศจะเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนไปอีกนาน ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศ แม้อนุมัติมากแต่การลงทุนจริงๆ มีน้อย การที่ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง คิดสร้างสรรค์อะไรก็ไม่ได้ มีส่วนร่วมน้อย การตรวจสอบน้อย ทำให้เกิดคอรัปชั่น เกิดการรวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งการสืบทอดในช่วงนี้เห็นได้ชัด ผ่านการใช้งบประมาณ การดึงคน ใช้อำนาจแทรกแซง กกต. รวมถึงการตั้งพรรคการเมือง”

“ถ้ายับยั้งการสืบทอดอำนาจนี้ไม่ได้ พล.อ.ประยทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ นอกจากประชาชนไม่มีเงินในกระเป๋าแล้วอาจมีหนี้เพิ่มขึ้น ถ้าหยุดสืบทดอำนาจได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย”

ดังนั้น นโยบายที่ ทษช.จะขับเคลื่อนคือ

Advertisment

– หยุดสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องดำเนินการแก้ไขแน่นอน

– นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รายได้ของประชาชน จะเป็นแกนของนโยบาย พร้อมทั้ง การใช้เทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนในเศรษฐกิจสมัยใหม่ รวบรวมผู้รู้ผู้สนใจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับประเทศของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตร

“ทษช.มีบุคลากรรุ่นใหม่ มีคนมีวิสัยทัศน์มาร่วม เป็นบุคคลที่ทรงความหมาย จะช่วยคิดนโยบายก้าวไปถึงคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจ เศรษฐกิจแบบใหม่ ธุรกิจแบบใหม่ การใช้เทคโนโลยีไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน”

“จาตุรนต์” เคยเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในช่วงไทยรักไทยต้องเผชิญวิกฤติการณ์ยุบพรรคเมื่อปี 2550 เมื่อเขามาอยู่ใต้ชายคาพรรคเพื่อไทย เขาเป็นประธานการจัดทำนโยบายของพรรคเพื่อไทย และเมื่อเขาต้องมาลงเสาเข็ม วางรากฐานให้ ทษช. เขาจึงนำความเป็น “เชื้อสาย” ของไทยรักไทย – เพื่อไทย มาปรับใช้กับ ทษช.เพื่อสร้างนโยบายจากคนรากหญ้าไปยังคนระดับบน

“ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเมื่อดูไปในผู้บริหาร แกนนำ ผู้ที่เสนอตัวมาเป็นสมัครจำนวนมาก พบว่า ทษช.มีความเป็นเชื้อสายไทยรักไทย ที่ประชาชนทั้งประเทศคุ้นเคย บริหารประเทศแล้วมีเงินในกระเป๋า มีนโยบายที่ดี นำนโยบายไปปฏิบัติได้จริง โดยมาจาก เพื่อไทย พลังประชาชนบ้าง และผมคืออดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ความรู้ ประสบการณ์การทำนโยบายก็สามารถรวบวมขึ้นได้ที่นี่ วัฒนธรรมการคิดนโยบาย การเข้าใจความสำคัญของนโยบาย การรับฟังความเห็นประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายก็อยู่ที่นี่”

“เมื่อรวมประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ คนมีวิสัยทัศน์ เข้าด้วยกัน สามารถสร้างนโยบายที่แก้ปัญหาประเทศได้โดยรวม เป็นประโยชน์กับคนทุกระดับ เป็นประโยชน์กับนักธุรกิจใหญ่ นักธุรกิจระดับกลาง ระดับเล็ก เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ระดับสูง ไปจนรากหญ้า หรือจากรากหญ้าไประดับสูง ทุกระดับ นักการเมืองที่นี่มีประสบการณ์ในการทำอย่างนี้มาแล้ว”

ทว่า เกมแก้กับดักรัฐธรรมนูญมีชัย ที่พรรคในเครือข่าย “ทักษิณ ชินวัตร” แตกตัวออกมาจาก เพื่อไทย กลายเป็น ทษช. เพื่อชาติ ประชาชาติ แทบทุกพรรคมักหยิบฉวยความสำเร็จของไทยรักไทย มาใช้หาเสียง อาจจะกลายเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ตัดแต้มกันเองในสนามเลือกตั้ง จตุรนต์ แย้งว่า

“ไม่…. เราจะหาวิธีไม่ทับซ้อน ความจริงคือความจริง นโยบายหลายอย่างทำไมคล้ายๆ ตระกูลไทยรักไทยก็เป็นอย่างนั้น ผมเป็นประธานนโยบายของเพื่อไทย สิ่งที่ต้องคิดไม่ใช่มาคิดว่าทำอย่างไรให้เหมือนเพื่อไทย แต่ต้องทำอย่างไรให้แตกต่าง ส่วนที่ร่วมก็ต้องมีเยอะเป็นธรรมดา เพราะผมเป็นไทยรักไทยฉบับดั้งเดิม คือความเป็นจริง”

“แต่จุดที่จะเสริมคือ คนรุ่นใหม่ คนหลากหลายอาชีพเข้ามาให้มีพลังมากขึ้นจะทำอย่างไร ให้ครอบคลุมหลากหลาย นี่คือสิ่งที่ต้องคิดให้ครอบคลุมกว้างขวางในส่วนคนที่คิดว่า อยู่ในสายไทยรักไทยจะไปถึงเขาไหม คนที่จะเข้ามาหลายวัย”

เขาเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ทษช.มีลุ้น… กลุ่มเป้าหมายที่คว้าคะแนนคือ “คนทั้งประเทศ…คนทุกระดับ เพราะนโยบายหลักๆ ของเราเป็นนโยบายแก้ปัญหาประเทศทั้งประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมโดยรวม”

“ลงสมัครเลือกตั้งคราวนี้ไม่รู้หรอกว่าใครจะได้เป็น ส.ส.หรือไม่ได้เป็น พรรคพลังประชารัฐเอาตัวนักการเมืองใหม่ๆ ไป แต่นักการเมืองเหล่านี้เคยแพ้ระนาวกราวรูด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ทษช.จะไม่ชนะนักการเมืองเก่าๆ บ้าง พรรคการเมืองที่มีฐานแข็งที่ ทษช.จะไปสู้ด้วย สภาพก็มีปัญหามากขึ้น ความศรัทธาลด คนอาจถามหาของใหม่ๆ เพียงแต่ ทษช.เป็นของใหม่ๆ ที่สามารถให้คนมั่นใจว่านโยบายสำคัญที่เคยชอบไทยรักไทย…เราก็มี”

ส่วนข้อสมมติฐานว่า เพื่อไทย..จะส่ง ส.ส.เขต ส่วน ทษช.จะเป็นพรรคเก็บบัญชีรายชื่อ “จตุรนต์” กล่าวว่า พรรคจะส่งผู้สมัครตามธรรมชาติ เราเป็นพรรคใหม่ พร้อมแค่ไหนก็ส่งแค่นั้น แต่ตัวผู้สมัครจะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่ใช่จะเอาใครมาลงก็ได้ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นประชาชนจะว่าเราได้