ทนายแผ่นดิน ขึ้นบัลลังก์โจทก์ มัดตราสัง ข้อต่อสู้ “ยิ่งลักษณ์”

คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าวเดินทางมาถึงฉากสุดท้าย

คือฉากคำพิพากษา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะจำเลย

และสิ่งหนึ่งที่จะมีผลต่อคำพิพากษา คือ “คำแถลงปิดคดีด้วยลายลักษณ์อักษร” ของอัยการในฐานะฝ่ายโจทก์

“ประชาชาติธุรกิจ” แกะทุกปม ทุกประเด็น บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ โหมโรงก่อนถึงวันพิพากษา 25 ส.ค.นี้

นายกฯต้องรับผิดชอบ

คำแถลงปิดคดีอัยการระบุว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 ในการกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินและสั่งการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของ ครม.ก็ได้ และมีอำนาจสั่งสอบสวน มีหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง

ในระหว่างนี้จำเลยยังคงมีหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีอำนาจตามคำสั่งที่ 153/2554 และที่สำคัญ คือ มีหน้าที่ติดตาม กำกับ ดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการและโครงการที่อนุมัติ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงเป็นเจ้าพนักงาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีหน้าที่ปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ และมีหน้าที่ป้องกันผลความเสียหายหรือป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้นด้วย

ไม่ได้ลักไก่ยัดข้อกล่าวหา

ขณะเดียวกันประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อสู้ว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องในฐานความผิดเพิ่มเกินกว่าฐานความผิด ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.นั้น อัยการแก้ข้อกล่าวหาว่า “เมื่อพิจารณาจากสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ทั้งหมดแล้ว นอกจาก ป.ป.ช.ได้ชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า มีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว”

“และยังปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 อีกด้วย เห็นได้จากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ระบุว่า”

“ในการดำเนินโครงการ ปรากฏว่าได้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิ์เกษตรกร โกงความชื้น โกงตาชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง ในส่วนของการระบายข้าวที่รับจำนำมีการใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย เกิดระบบนายหน้าค้าข้าว ไม่เปิดประมูลข้าวอย่างเปิดเผย การทุจริตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐและภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมาก…”

“ตามที่มีมติ ป.ป.ช.ครั้งที่ 585-53/2557 เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2557 ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง ว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

ทุจริตจีทูจีหัวใจคดีจำนำข้าว

ประเด็นต่อมา หลังจากยื่นฟ้องคดีแล้ว อัยการสูงสุดชอบที่อ้างสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กรณีกล่าวหา นายบุญทรง (เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์) กับพวก (คดีจีทูจี) มาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีหรือไม่นั้น มูลความผิดอันเป็น “หัวใจสำคัญ” ของคดี คือ การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นที่ยุติว่า ไม่มีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐจริง ประกอบกับในชั้นรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์ คณะทำงานร่วมได้ขอพยานหลักฐานดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อประกอบสำนวนด้วย

อาชญากรรม “White-collar”

คำแถลงปิดคดีอัยการ ระบุต่อไปว่า ที่สำคัญไปกว่านั้น ตามรูปคดีแล้ว ถือว่าการกระทำความผิดอาญาในคดีนี้เป็นอาชญากรรมประเภท “White-collar crime” ต่างจาก “street crime” ทั่วไป เช่น คดีลักวิ่งชิงปล้นโดยสิ้นเชิงเพราะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ผลแห่งการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กำหนดนโยบายที่ผิดพลาดนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างในหลายมิติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนตามมาเป็นระยะ ๆ ในหลายด้าน

ไม่สนท้วงติงแม้ทุจริต

ส่วนข้อกล่าวหาที่ชี้ว่า “ยิ่งลักษณ์” ละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริต อัยการ ระบุว่า “การทุจริตการระบายข้าวรัฐต่อรัฐ คือ หัวใจสำคัญของการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะถือเป็นคำตอบสุดท้ายของกระบวนการกระทำความผิดในคดีนี้ก็ว่าได้ การไต่สวนของศาลที่ผ่านมาฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ หาได้ปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัดจริงจังดังที่กล่าวอ้างไม่ ทั้งหลังจากมีการเตือนท้วงติงอย่างหนักหน่วงแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังปล่อยให้มีการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐต่อไปอีก 4 สัญญา รวมปริมาณข้าวสูงถึง 14 ล้านตัน ซึ่งนับว่ามีพิรุธน่าสงสัยยิ่งนัก ถือเป็นการผิดมาตรฐานของวิญญูชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ที่โดนเตือนท้วงติงอย่างหนักขนาดนั้นแล้วยังหลับหูหลับตาไม่สนใจ”

“ประเด็นเรื่องการตรวจสอบข้าวที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อสู้ว่า ได้ส่งการให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ในขณะนั้น ตรวจสอบแล้ว แต่จากปากคำของนายนิวัฒน์พยานจำเลย ว่า จำเลยได้สั่งการให้เข้มงวดกับสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐแต่ไม่ได้สั่งการให้ตรวจสอบย้อนหลังไปถึง 8 สัญญาที่ทำไปก่อนหน้านี้”

“และยิ่งไปกว่านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อสู้ว่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นประธานตรวจสอบทุจริตและสั่งการให้ตรวจสอบการทุจริตจีทูจีด้วย แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงจากการเบิกความของ ร.ต.อ.เฉลิม ว่า ไม่เกี่ยวกันกับการตรวจสอบทุจริตจีทูจี”

“ทักษิณ” เบื้องหลังจำนำข้าว ?

“จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนทั้งหมด การกระทำความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามคำฟ้องโจทก์นั้น จึงฟังเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากต้องฟังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. เป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ปฏิบัติราชการ ได้ใช้นโยบายรับจำนำข้าวอันเป็นนโยบายประชานิยมหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2554 ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณพี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์วิดีโอลิงก์หรือโฟนอินมาจากต่างประเทศ จนเป็นผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล”

“หลังจากนั้น จำเลยได้เร่งรัดดำเนินนโยบาย และก่อนเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2554 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มีพฤติการณ์เร่งขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐจำนวน 2 สัญญาอย่างรีบร้อนผิดปกติ…และต่อมาได้ทำสัญญาจีทูจีโดยทุจริตเพิ่มอีก 6 ฉบับ รวมเป็น 8 ฉบับ ปริมาณรวม 20 กว่าล้านตัน และไม่ปรากฏว่ามีข้าวส่งออกไปยังรัฐบาลจีนแต่อย่างใด โดยมีบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวกและนายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร ซึ่งเป็นพวกพ้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง…

ถือเป็นพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมากมายมหาศาล จนเกินสมควรรับได้”

ให้ศาลลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง

“พนักงานอัยการฯ ผู้แทนโจทก์ ขอให้ศาลได้โปรดพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไป”

“หากนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังลอยตัวอยู่เหนือปัญหา โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติ ฝ่ายบริหารไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ก็จะกลายเป็นว่านายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศ ครม. ข้าราชการระดับสูง หรือผู้นำองค์กร จะบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ ไม่ต้องรับผิดในผลใด ๆ ของการบริหารหรือการปฏิบัติงานของตนเองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง นับเป็นเรื่องอันตรายต่อชาติบ้านเมืองยิ่งนัก”

อดีตนายกฯ จะยืนหยัดสู้หรือหนี 25 ส.ค.นี้…ลุ้น

 

โฟนอิน “ทักษิณ” จุดเริ่มต้นจำนำข้าว

จุดเริ่มต้น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จุดเริ่มต้นนโยบายจำนำข้าว

มาจากการโฟนอินของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯผู้พี่ ในงานเปิดตัวนโยบายพรรคเพื่อไทย เมื่อ 23 เม.ย. 2554 ภายใต้ชื่อ “เพื่อไทย พร้อมบริหารประเทศ ขอคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคนอีกครั้ง” ที่ หอประชุม ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

ในหลายนโยบายที่ “ทักษิณ” เปิดตัวในวันนั้น กลายเป็นนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา

“ทักษิณ” กล่าวถึงนโยบายจำนำข้าวว่า การเพิ่มรายได้จากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ข้าวเปลือกในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท นโยบายนี้จะเป็นนโยบายสำคัญ ที่จะมีระบบการบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรในเชิงรุก เป็นผู้กำหนดราคาสินค้าเกษตรหลักในตลาดโลก โดยจะนำเครื่องมือทั้งด้านการเงิน การตลาด และอื่น ๆ เข้ามาบริหารจัดการอย่างครบวงจร

วันนั้น “ทักษิณ” ยังย้ำอีกว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย จะต้องได้เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรค

“พี่น้องถามแล้วจะเอาใครเป็นนายกฯ ผมตอบว่าดูตอนไปยื่นสมัคร ส.ส.สัดส่วนเบอร์หนึ่ง…ใช่เลย”

แล้ววันที่ 16 พ.ค. 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยก็เลือก “ยิ่งลักษณ์” ให้เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1

“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ คนที่ 26 น้องเขย “ทักษิณ” เอ่ยถึงน้องสะใภ้ที่ชื่อ “ยิ่งลักษณ์” ว่า

“ท่านนายกฯ (ยิ่งลักษณ์) ไม่สนใจทางการเมืองนะ ถามว่าท่านมีแววไหม ตอบว่าท่านไม่มีแววหรอก แต่ท่านเป็นคนตั้งใจทำงาน เช่น ถ้าคิดช่วยพี่ชาย ท่านก็ช่วยด้วยความตั้งใจ เอาจริงเอาจัง ทำให้ท่านมีความรู้และประสบการณ์ แต่ว่าทางการเมืองท่านปฏิเสธเสมอ ไม่ยุ่งการเมือง”

ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” กล่าวตอนเปิดตัวชิงเก้าอี้นายกฯ ในนามพรรคเพื่อไทยว่า

“เหตุปฏิวัติในปี 2549 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดิฉันเข้าใจและเรียนรู้ธรรมชาติของการเมืองเป็นอย่างดี ผ่านไปกว่า 5 ปีประชาชนทุกคนยังคิดถึงพี่ชาย และคิดถึงนโยบายเก่า ๆ ที่เคยทำในอดีต รวมถึงให้ความอบอุ่นและเมตตากับครอบครัวดิฉัน จึงรู้สึกว่าครอบครัวของดิฉันเป็นหนี้ประชาชน ถือเป็นเหตุผลใหญ่ที่ตัดสินใจทำงานการเมือง”

“ดิฉันไม่ได้เข้ามาเล่นการเมือง แต่อยากเสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชน และอยากเห็นประเทศมองข้ามความขัดแย้งก่อนจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ส่งสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมสร้างความปรองดอง และไม่คิดจะแก้แค้น แต่จะแก้ไข”

ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกฯ โดยใช้เวลาเพียง 49 วัน ปูพรมแดงสู่การเป็นผู้บัญชาการประเทศ

แล้วโครงการจำนำข้าวก็พาให้นายกฯ 49 วันเข้าสู่แดนอันตราย