“ประยุทธ์” เทเมกะโปรเจ็กต์ “ประชานิยม” เชื่อมโคราช-ประเทศเพื่อนบ้าน-อีอีซี

คณะรัฐมนตรี นอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดนครราชสีมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปูพรม-ดาวกระจายเต็มพื้นที่

“บิ๊กตู่” ปักธง ชิงพื้นที่-คะแนนนิยมทางการเมืองตัดหน้านักการเมือง

การย่ำหัวเมืองแถบอีสานครั้งนี้ เน้นการสื่อสารแบบถึงเนื้อ-ถึงตัวประชาชน เพื่อรับฟังปัญหา-ความต้องการในพื้นที่ และ “วัดเรตติ้ง” นโยบาย-โครงการของรัฐบาลในช่วง 3 ปีรัฐบาล

ที่สำคัญพื้นที่ “โคราช” ยังมีภูมิทัศน์ทางการเมืองให้รัฐบาล คสช.ต้องลงไปทำงานเชิงรุก ด้วยเพราะเป็นจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งมากเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ

จึงมีความหลากหลายทางการเมืองค่อนข้างสูง แบ่งพื้นที่เป็นหลายขั้วการเมือง

หนึ่ง เป็นฐานที่มั่นของพรรคชาติพัฒนาของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” จึงมี ส.ส.ระดับหัวหน้าพรรค คือ “วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” อดีต รมว.อุตสาหกรรม และ “ประเสริฐ บุญชัยสุข” รมว.อุตสาหกรรมอีกรายที่อยู่ในชายคาพรรค

หนึ่ง เป็นพื้นที่ของมวลชนเสื้อแดง-ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่การเลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 เพื่อไทยกวาดไปอีก 8 ที่นั่ง และยังเคยเป็นพื้นที่ของพรรคภูมิใจไทย ที่กวาดไป 3 ที่นั่ง ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2554 เช่นกัน โดยมี “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” เป็นหัวหอก แต่บัดนี้ “บุญจง” ถอยฉากออกจากพรรคสีน้ำเงินไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน “ชีวิตวัยเยาว์” ของ “ด.ช.ประยุทธ์” ตัดสายสะดือในค่ายทหารเมืองย่าโม ผูกพันกับโคราช ทำให้เดินทางไป จ.นครราชสีมาถึง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2558 เดินทางไปประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้อนุมัติงบฯให้ จ.นครราชสีมา 931 ล้านบาท ดำเนินโครงการ 7 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลบัวใหญ่, โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ ในเขตพื้นที่นำร่องระยะสั้น

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2559 ตรวจราชการการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมอนุมัติโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ บริเวณลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง กรอบวงเงิน 1,669 ล้านบาท

และครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 21-22 ส.ค.2560 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา หอบสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เส้นกรุงเทพฯ-โคราช ไปเซ็นต่อหน้าชาวโคราช เป็นการย่ำเมืองประตูอีสานเป็นคำรบที่สาม

นอกจากโครงการรากหญ้าที่ พล.อ.ประยุทธ์โปรยไว้ทุกครั้งที่เยือนโคราชแล้ว ยังมีโครงการ “เมกะโปรเจ็กต์” ที่ก่อสร้างใน “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ได้แก่ โครงการความร่วมมือไทย-จีน เฟสแรก ก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ก่อนจะขยายไปหนองคาย ทะลุลาว ไปจีน ในเฟสสอง

โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,855 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 7 เส้นทางตามแผนรถไฟทางคู่

โครงการมอเตอร์เวย์ “เชื่อมกรุงเทพฯ-โคราช” สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 8.46 หมื่นล้านบาท เปิดให้บริการปี 2563

โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (ด้านเหนือ) ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 290 วงเงิน 1,470,000,000 บาท

โครงการก่อสร้างทางหลวงสนับสนุนการขนส่งแบบต่อเนื่อง สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอน 2 (ด้านใต้) วงเงิน 1,114,900,000 บาท

ยังมีแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน-ใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยง กทม. และพื้นที่ EEC เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของภาค

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า “การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม รัฐบาลเร่งดำเนินการในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนชาวอีสานให้ได้รับความสะดวกในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพที่เหมาะสม ต้องทำให้ในแต่ละพื้นที่มีความเท่าเทียมกันกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสในอาชีพ ลดช่องว่างรายได้ และกระจายรายได้ที่เป็นธรรม”

จบจากทริป-ทัวร์บ้านเกิดแล้ว ได้คะแนนนิยมทางการเมืองไปอีกหลายขุม