เทียบ TOR ส.ป.ก. 4-01 แผ่นดินทอง-โฉนดสีฟ้า

แฟ้มภาพ

ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 กว่า 30 ล้านไร่ กลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ในช่วงพรรคการเมืองต่างงัดนโยบาย “ขายฝัน-มัดใจ” vote ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

พปชร.ชูนโยบายเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.ให้เป็น “ทำเลทองคำ” โดยผลักดันให้เห็นภายใน “รัฐบาลชุดปัจจุบัน” โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

“สุชาติ ตันเจริญ-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” สองแกนนำกลุ่มสามมิตร ออกมา “ประสานเสียง” ว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์นายทุน ก่อนจะ “เปิดพิมพ์เขียว” 1.เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นชื่อ ส.ป.ก. 2.สามารถ “เปลี่ยนมือได้” แต่มีเงื่อนไขไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือนายทุน

3.ผู้ได้รับการจัดสรรครอบครองเพียง “ใบสลักสิทธิ์” ที่เปลี่ยนมือได้เท่านั้น 4.นำไปเป็นหลักทรัพย์กู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ได้ 5.จำแนกที่ดินเป็นประเภทต่าง ๆ ตามสภาพพื้นที่จริง-กำหนดอัตราภาษีและค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม 6.ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกอย่างเด็ดขาด 7.พัฒนากองทุน ส.ป.ก.ให้สอดรับบทบาทใหม่

8.กองทุน ส.ป.ก.จัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติ-ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนปี 2554 สำหรับรายใหม่ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงจะสามารถเปลี่ยนมือได้ 9.ตรวจสอบที่ดินที่ถือครองโดยนายทุนมาจัดสรรให้เกษตรกรตัวจริง

“นโยบายนี้ไม่ได้นำเสนอขึ้นมาเพื่อหวังผลหาเสียง แต่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินตัวเอง และทำให้ไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในที่ห่างไกล” สุริยะ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคอีสานระบุ

ขณะที่นโยบาย “โฉนดสีฟ้า-โฉนดชุมชน” ของ ปชป. ที่มี “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” อดีต ส.ส.ตรัง ปชป. เป็นผู้คิดค้น เพื่อ 1.ยกระดับ “โฉนดชุมชน” ด้วยการออกร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อความมั่นคงของเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 2.การยกระดับ ส.ป.ก.เพื่อเพิ่มความมั่นคงและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

3.ตกทอดถึงลูกหลานได้ 4.ยกระดับกระบวนการแปลงเอกสารครอบครองทั้ง ส.ค.1 น.ส.3 และเร่ง-สะสางโฉนดค้างท่อ เช่น “โฉนดทันใจ” 5.เดินหน้า “ธนาคารที่ดิน”

“จะยกระดับ ส.ป.ก.4-01 ให้สามารถใช้เป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงินได้ ไม่ใช่แค่ ธ.ก.ส. และยังใช้เป็นหลักประกันในชั้นศาลได้ด้วย แต่ที่ดินจะขายเปลี่ยนมือไม่ได้ ที่จะทำได้คือการเช่าทำประโยชน์ได้”

“แต่ของ พปชร.คือทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า และสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ในที่สุดแล้วจะทำให้ที่ดินเหล่านั้นจะตกไปอยู่ในมือของนายทุน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี”

ใครเอื้อ-ไม่เอื้อนายทุนเงินหนา ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสิน