ป.ป.ช.แจง ดัชนีโปร่งใสไทยแย่ลง อ้าง ผลจากความไม่ชัดเจนในการเลือกตั้ง ขาดเสรีภาพ

ป.ป.ช.เผย ดัชนีความโปร่งใสไทยแย่ลง จากความไม่ชัดเจนในการเลือกตั้ง ขาดเสรีภาพ ไม่มีถ่วงดุลอำนาจ ยัน เพิ่มมาตรการรับมือทุจริต เช่น คุ้มเข้มระบายข้าวจีทูจี

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 ปรากฏว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน ซึ่งประเทศที่ได้อันดับความโปร่งใสสูงสุดคือเดนมาร์ก ได้ 88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สำหรับไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ ทั้งนี้ จากปี 2017 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 96 ได้ 37 คะแนน

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2018 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง 1.ด้านพัฒนาการจัดการสถาบันระหว่างประเทศ 2.ด้านการให้คำปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ 3.ด้านความหลากหลายของโครงการประชาธิปไตย ซึ่งพิจารณาจากการถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้งนี้ที่คะแนนลดลง น่าจะเป็นเพราะปีที่ผ่านมาสังคมโลกมองว่าไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทำให้การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรมยังไม่ชัดเจน

นายวรวิทย์ กล่าวว่า เพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคม ต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต โดยรัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบและมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต

นายวรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อมีคดีเกิดขึ้นจะมีการศึกษาเพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก หรือวางมาตรการเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ มาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบจีทูจี, มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ, มาตรการเพื่อวางเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ตลอดจนการป้องกันการทุจริต โดยใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่จะเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรกของปี 2562

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์