“ปิยบุตร” ชี้ยุบทษช.ไม่ดีต่อปชต. ทำสังคมแคลงใจ

เมื่อเวลา 18.45 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่พรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อ่านแถลงการณ์เรื่อง ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ว่า อนาคตใหม่มีความเห็นดังนี้ 1.ในรัฐเสรีประชาธิปไตย บุคคลมีอุดมการณ์เดียวกันรวมกันตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ จากการเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก พรรคการเมืองจึงถือเป็นสถาบันสำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคจะกระทำได้ต่อเมื่อ มีเหตุต้องรักษาไว้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น 2.ตลอด13ปีที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง ยุบพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย ต่อศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ จนสังคมไทยเดินมาจนถึงทางที่ไม่อาจข้อหายุติได้

3.การยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง 17 วัน ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ประการแรก ถือเป็นการตัดโอกาสไม่ให้พรรคได้ลงแข่งขัน ทำลายเจตจำนงที่อยากเลือกพรรคที่ถูกยุบ ประการที่สอง ประชาชนจะเสียความเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนั้นมีความเสรีเป็นธรรม โดยเฉพาะพรรคที่ถูกยุบนั้นคือพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. 4. ในรัฐเสรีประชาธิปไตยพรรคการเมืองต้องมีความชอบธรรม 2 ประการคือ จากฐานที่มาของอำนาจรัฐ ที่ประชาชนเลือกส.ส. และจัดตั้งรัฐบาล และจากความชอบธรรมจากการจำกัดการใช้อำนาจ ได้แก่ ไม่ให้ประชาชนถูกอำนาจรัฐล่วงละเมิด อนาคตใหม่ยืนยันว่า รัฐเสรีประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบ แต่ก็ไม่อาจยอมรับการตรวจสอบอย่างตามอำเภอใจ จากกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ผ่านการใช้กฎหมายเปนเครื่องมือ ไม่ได้ทำเกิดการแก้ปัญหา

เพราะจะทำให้การใช้อำนาจ ถูกตั้งคำถาม ฝ่ายหนึ่งมองว่า รัฐบาลเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบ อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า องค์กรตุลาการและองค์กรอิสระต้องการทำลายเสียงข้างมาก นำมาซึ่งการเมืองแตกขั้ว จนสังคมไทยไม่อาจหาฉันทามติได้ อนาคตใหม่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างดุลยภาพ ระหว่างสถานาบันการเมืองต่างๆใหม่ เคารพเสียงข้างมากคุ้มครองเสียงข้างน้อย สร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตุลาการ องค์กรอิสระ ตามแบบประชาธิปไตยสากล ไม่ให้ตกเป็น เครื่องมือกวาดล้างทางการเมือง และขอเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช. พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะวางกลไกสืบผ่านกฎหมายผ่านรัฐธรรมนูญไว้ แต่ก็ต้านประชาชนไม่ได้ 24 มีนาคม จับปากกาฆ่าเผด็จการ ยุติวงจรรัฐประหาร เปิดฉากการเมืองแบบใหม่ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

เมื่อถามถึงกรณีการยุบพรรค มีโทษตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคทษช. และนิยามคำว่า”ปฏิปักษ์”ตามคำวินิจฉัย นายปิยบุตร กล่าวว่า การยุบพรรคต้องทำเฉพาะกรณีตามที่อ่านแถลงการณ์ไป ซึ่งการยุบพรรคเหมือนยุบไปแค่ร่างกาย แต่ยุบความคิดไม่ได้ 13 ปียุบพรรคเสียงข้างมาก 2 ครั้ง ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งในเมื่อความคิดยังอยู่เราจึงเห็นว่าปัญหายังไม่จบ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคตั้งแต่แรก โทษตัดสิทธิ 10 ปีนั้นถือว่า รุนแรงมาก ในฐานะอดีตอาจารย์สอนนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่โดนยุบพรรคฐานปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นพรรคที่ล้มล้างการปกครองจริงๆ หรือสนับสนุนอำนาจที่ไม่ได้มาตามระบบ ซึ่งวิญญูชนคงพิจารณาได้เองว่า คำว่า ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ควรกินความกว้างเพียงใด

เมื่อถามว่า การยุบพรรคทษช.คือเครื่องมือของการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งสำคัญมาก นี่คือหมุดหมายสำคัญที่เราจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การยุบทษช.ที่อยู่ในฝ่ายต้านคสช.กำลังส่งสัญญาณที่ไม่ดี เพราะหลายคนก็คงเคยเห็นแล้ว ในการเลือกตั้งกัมพูชา ที่มีการยุบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์