สวน “บิ๊กแดง” ยันประชาชนเข้าชื่อถอดถอน ผบ.ทบ. มีกฎหมายรองรับ

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.กล่าวในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกถึงการล่ารายชื่อ ผ่านเว็บไซต์ Change.org ถอดถอนว่า “ขอให้ปล่อยไปเถอะ เพราะผมโดนมาเยอะแล้ว และผมก็ไม่ใช่นักการเมือง และในทางกฎหมายผมก็ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้” ต่อมาโฆษกและรองโฆษกกองทัพบกได้ร่วมกันแถลงเมื่อวันที่ 4 เมษาที่ผ่านมาว่า กิจกรรมของชาวโซเชียลดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ ไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นแค่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในแง่ของความรู้สึก เป็นเพียงการปลุกกระแสที่คาดหวังว่าให้เป็นอย่างโน้น อย่างนั้น ไม่ใช่วิธีที่คนไทยควรจะเป็นนั้น

“การแถลงในลักษณะนี้ ส่อให้เห็นถึงความไม่เข้าใจบริบทของกฎหมายของ ผบ.ทบ.ทีมโฆษกกองทัพบก เพราะการล่ารายชื่อหรือเข้าชื่อถอดถอนกฎหมายไม่ได้กำหนดให้สามารถทำได้แต่เฉพาะนักการเมืองอย่างเดียว แต่ทำได้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน รวมทั้งตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็เป็นสิทธิของประชาชน มีกฎหมายรองรับ คือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234 (2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 มาตรา 28 (2) และมาตรา 32 (1) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใด กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ ประชาชนสามารถร้องเรียนเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนหรือไต่สวนได้ เพื่อนำไปสู่การเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ซึ่งหมายถึง การโยกย้าย ผบ.ทบ.ออกจากตำแหน่งก็ได้” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ผบ.ทบ.ต้องยอมรับความจริงว่าได้ใช้วาทกรรมที่อาจสร้างความไม่พอใจของประชาชนบางส่วนในสังคมมาหลายครั้ง ทั้งที่วาทกรรมเหล่านั้น อาจไม่ใช่หน้าที่ในตำแหน่งราชการของ ผบ.ทบ. ตามที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 และ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม 2552 บัญญัติ ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะล่ารายชื่อเพื่อนำไปสู่การถอดถอนได้

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์