“ชูศักดิ์” ชี้ กกต.ตั้งโจทย์ผิด ยึดสูตรตามความเห็น กรธ.แต่ไม่ยึดรัฐธรรมนูญ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรตำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ว่า กกต.จะใช้สูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า  ประเด็นนี้เห็นว่าหากอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 อย่างเป็นขั้นตอนจะไม่มีข้อความส่วนใดขัดหรือแย้งกันเลย แต่ที่กกต.เห็นว่ามีปัญหานั้นเป็นเพราะ กกต.ไม่ได้ยึดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเป็นหลักแต่ไปเอาตามวิธีการที่สำนักงาน กกต.เสนอ ซึ่งอ้างว่าเป็นไปตามความเห็นของ กรธ.เมื่อ กกต.ตั้งโจทก์แบบนี้ การคำนวณจึงผิดตั้งแต่ต้น แล้วก็ไปโทษว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตรงนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เมื่อกฎหมายให้ยึดจำนวนคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคนเป็นหลักแล้วนำไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคเพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น

 

ตารางคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคเพื่อไทย

ตามมาตรา 128(2)แล้วเอาจำนวน ส.ส.พึงมีนั้นไปลบ ส.ส.เขตของพรรคนั้น ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา 128(3) เมื่อถึงตรงนี้ ต้องเข้าใจว่า หากพรรคใดมีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน(ต่ำกว่า 71,065 คะแนน) พรรคนั้นก็ไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมีมาตั้งแต่ต้น จึงถูกตัดตอนตั้งแต่ม.128(2)แล้ว หลังจากนั้นการคำนวณต่อไปจะคิดเฉพาะพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมีเท่านั้น โดยม.128(4)ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามผลลัพธ์ตามมาตรา 128(3) หมายถึงจัดสรรให้พรรคที่มีสิทธิจะได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น แต่เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งไม่มี ส.ส.พึงมีและไม่ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามม.128(4) ทั้งนี้ในการจัดสรรนั้นถ้าพรรคใดมีส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่า ส.ส.ที่พึงมีก็จะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์ แล้วเอาส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคที่มีส.ส.เขตต่ำกว่า ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี เมื่อพรรคเหล่านั้นไม่มีทั้งส.ส.เขตและส.ส.พึงมี ก็ไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร โดยไม่ต้องไปพิจารณาว่าจะทำให้พรรคนั้นมีส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีหรือไม่ เพราะเขาไม่มีส.ส.พึงมีมาแต่แรก

ส่วนการจัดสรรตามม.128(7)กรณีจัดสรรแล้วมีสส.บัญชีรายชื่อเกิน 150 คนกฎหมายให้คำนวณปรับส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ตามวิธีการที่กำหนดและในกรณีนี้กฎหมายก็เขียนชัดว่าเมื่อคำนวณตาม(5)แล้วมีส.ส.เกิน ให้ทำอย่างไร เช่นกันพรรคที่คะแนนต่ำกว่า71,065 คะแนนไม่อยู่ในข่ายได้รับจัดสรรตาม(5)และไม่มีจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับจึงไม่อาจนำมาคำนวณตาม(7)ได้เช่นกัน ดังนั้นหากตีความกฎหมายตรงไปตรงมาจึงไม่เห็นว่าจะมีปัญหาตรงไหน และเมื่อคำนวณจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคทีมีส.ส.พึงมีและจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับตาม128(7)แล้วผลคำนวณก็ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน  ไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ กกต.อ้างเลย

“เรื่องที่กกต.จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่าปัญหาที่กกต.อ้างดูเหมือนกับการจะขอคำอธิบายข้อกฎหมายกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กกต.มีอำนาจในส่วนนี้อยู่แล้วแต่กกต.ยังไม่ได้ใช้อำนาจของตนเอง หากใช้อำนาจตามที่มีอยู่และพิจารณาไปตาม กฎหมายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวล โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าอาจยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่าศาลเคยวางหลักว่าไม่มีหน้าที่มาอธิบายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูจากคำแถลงดูเหมือนกกต.จะตั้งประเด็น กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญด้วยแต่ก็ไม่เห็นประเด็นว่ามาตราใหนขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูคำร้องอย่างละเอียดกันอีกที นอกจากนี้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรที่กกต.จะปล่อยให้ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ กกต.เป็นผู้ใช้ กฎหมายเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายจึงมีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยตีความก.ม.และการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่ควรชี้นำโดยอ้างสูตรคำนวณที่มีการเสนอต่อกกต.แต่ควรอ้างวิธีการคำนวณตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นสำคัญ” นายชูศักดิ์ กล่าว