“ต้านเผด็จการ” อุดมการณ์ ปชป. มรดก 73 ปีที่ “จุรินทร์” ต้องแบก

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ปชป.

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” นั่งเก้าอี้ “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” คนที่ 8

นับจากหัวหน้าพรรคคนแรก “ควง อภัยวงศ์” ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2489-15 มี.ค. 2511

คนที่สอง “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” ที่ดำรงตำแหน่งแทน “ควง” เมื่อปี 2511-26 พ.ค. 2522 หลังนายควงถึงแก่อสัญกรรม

คนที่สาม “ถนัด คอมันตร์” เป็นหัวหน้าพรรคเมื่อ 26 พ.ค. 2522-3 เม.ย. 2525

คนที่สี่ “พิชัย รัตตกุล” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเมื่อ 3 เม.ย. 2525-26 ม.ค. 2534

คนที่ห้า “ชวน หลีกภัย” เป็นหัวหน้าพรรคเมื่อ 26 ม.ค. 2534-4 พ.ค. 2546

คนที่หก “บัญญัติ บรรทัดฐาน” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเมื่อ 20 เม.ย. 2546-8 ก.พ. 2548

คนที่เจ็ด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นหัวหน้าพรรคตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2548-24 มี.ค. 2562

การตัดสินใจอนาคตการเมืองว่าจะเข้าร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ คือ first mission ของ “หัวหน้าจุรินทร์”

“จุรินทร์” ลั่นวาจาไว้ก่อนได้รับตำแหน่งว่า “ถ้าผมได้รับโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะหยิบยื่นโอกาสให้กับทุกคนที่ตั้งใจทำงาน ทุ่มเท เพื่อประชาธิปัตย์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝ่ายไหนหรือเป็นเด็กของใคร เป็นคำมั่นที่ให้ไว้เบื้องต้น มีหลายคนถามถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคจะมีอะไรเปลี่ยนหรือไม่ ปชป.ถึงเวลาต้องเปลี่ยน แต่ไม่ใช่สักแต่จะต้องเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรดีก็ต้องรักษาไว้ อะไรสมควรเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน”

คำเน้นย้ำของ “จุรินทร์” คือ “อุดมการณ์ระบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องไม่เปลี่ยน อุดมการณ์ทำเพื่อประชาชนต้องไม่เปลี่ยน พรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 7 คน หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ก็ไม่มีสิทธิอยู่นอกเหนืออุดมการณ์ที่เรายึดมั่น”

สอดส่อง “อุดมการณ์” ประชาธิปัตย์ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง เมื่อ 6 เม.ย. 2489 สมัยที่ “ควง อภัยวงศ์” เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกที่สืบต่อกันมา ปรากฏอยู่ในคำประกาศอุดมการณ์ของพรรค ที่เผยแพร่อยู่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 14 ก.พ. 2562

1.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์ 2.พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน

3.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลักกฎหมาย และเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4.พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใด ๆ 5.พรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความใกล้ชิดขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

6.พรรคมีจุดประสงค์ที่จะให้คนไทยมีที่ทำกิน ที่อยู่และอาชีพ และจะเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่มิได้ละเลยที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม 7.พรรคเชื่อว่า การแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น ในกิจการที่เห็นว่าการแทรกแซงจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค

8.พรรคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งการศึกษา, ศาสนา, สาธารณสุขและสาธารณูปการ, ศิลปะ, วรรณกรรม, จารีตประเพณี, ธรรมเนียมอันดีของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน

9.พรรคเชื่อว่า การป้องกันประเทศนั้น ต้องอาศัยการก่อให้เกิดความร่วมมือพร้อมเพรียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ และจะต้องให้มีการบำรุงกำลังหลัก คือ กองทัพให้ทันสมัย ทั้งคุณภาพและปริมาณเท่าที่จะ
เหมาะสมแก่แผนการทางยุทธศาสตร์ และนโยบายทางการเมือง 10.พรรคจะส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างประเทศ

และทั้ง 10 ข้อ ยังปรากฏอยู่ในประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง “เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคและข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 ปีที่แล้ว 31 ม.ค. 2551 ในยุคหัวหน้าคนที่ 7-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ข้อสำคัญที่ “จุรินทร์” และคณะบริหารชุดใหม่ต้องคิดทบทวนก่อนกำหนดทิศทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ปรากฏชัดยิ่งกว่าชัดข้อ 4 “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใด ๆ” 

หากคำอธิบายยังไม่เพียงพอ ต้องย้อนกลับไปตรวจสอบ “นโยบายพรรค” ยุคหัวหน้าพรรคคนที่ 2 “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” เมื่อครั้งจดทะเบียนตั้งพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. 2511

“พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายในอันที่จะดำเนินการเมืองโดยวิถีทางอันบริสุทธิ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติและประชาชน อาศัยหลักกฎหมายและเหตุผล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังให้มีความนิยมนับถือตลอดจนเสียสละเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยเหตุดังกล่าว”

“พรรคนี้จึงเป็นศัตรูต่อระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด ๆ และไม่สนับสนุนวิธีการแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการของรัฐบาลใด”

คำว่า “เสียสละเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย” เป็นอุดมการณ์-นโยบาย เป็น “มรดก” ที่สืบต่อกันมา และ “จุรินทร์” หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ต้องกอดไว้หากจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

คลิกอ่านเพิ่มเติม… ประชาธิปัตย์ พรรคพลิกเกม ไขกุญแจนายกคนนอก