ภูมิใจไทย แทงกั๊กร่วม พปชร. “เสี่ยหนู” เปิดเจรจาทุกพรรค รับเป็นเจ้าภาพขั้วตัวแปร

ภายหลังการเก็บตัว – ละลายพฤติกรรมควบคู่กับการปฐมนิเทศผู้สมัคร ส.ส.ภูมิใจไทย ร่วมกับแกนนำ – ผู้บริหารพรรค กว่า 2 วันเต็ม ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเลือกไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

ชัดที่สุดคือ ที่ประชุมพรรคมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค มีสิทธิขาดรับคำเชิญ – ตอบข้อเสนอเข้าร่วมรัฐบาลกับฝ่ายไหน โดยออกแถลงการณ์พรรค 11 ข้อ เป็นข้อสรุปทั้งหมด

1.การประชุมวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา ทั้งในฐานะสมาชิกรัฐสภา และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. มีการแก้ไขปรับเปลี่ยน เป็นจำนวนมาก จึงต้องมาเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้ทุกคน โดยหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

2.การเตรียมความพร้อมยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ ส.ส.ทุกคนต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน

3.เปิดโอกาสให้ ส.ส.ทุกคนได้แสดงความจำนงค์ที่จะทำงานในคณะกรรมาธิการใด เพื่อที่พรรคจะได้ดำเนินการให้ตามความเหมาะสม ความสามารถและตามความถนัดของแต่ละคน

Advertisment

4.การประชุมวันนี้ ส.ส.ภูมิใจไทย ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีสาระสำคัญคือ ให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาและกัญชงในฐานะพืชเศรษฐกิจและทางการแพทย์ได้ตามนโยบายพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ประกาศไว้กับประชาชนที่จะเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรกที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

5.การเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้ถ่ายทอดเสียงของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์การเมืองและความคาดหวังต่อการทำงานของพรรคภูมิใจไทยและ ส.ส.แต่ละคนให้หัวหน้าพรคและผู้บริหารพรรครับฟังอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน เกษตรกรที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

6.การพิจารณาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 5 พรรคภูมิใจไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นแกนนำรวบรวมเสียงสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและเห็นด้วยกับการที่พรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็นลำดับไป เริ่มจากพรรคที่ 1 ถ้าไม่ได้ ก็เป็นสิทธิของพรรคที่ 2 และพรรคที่ 3 พรรคที่ 4 ตามลำดับ

7.พรรคภูมิใจไทย มีจุดยืนชัดเจนมาแต่ต้น ที่จะไม่สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุม ส.ส.มีมติยืนยันจุดยืนนี้

Advertisment

8.ที่ประชุม ส.ส.พรรคภูมิใจไทย มีมติมอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีสิทธิขาดในการรับคำเชิญข้อเสนอ และ พิจารณาเงื่อนไขการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว

9.ขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเชิญพรรคภูมิใจไทยร่วมจัดตั้งรัฐบาล อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอตัวเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลรอฟังมติของพรรคภูมิใจไทยในวันนี้

10.พรรคภูมิใจไทย เปิดกว้างที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับทุกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ตรงกันและมีแนวทางการทำงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้ 1.เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ไม่สร้างความขัดแย้งของคนในชาติ 3.รับนโยบายพรรคภูมิใจไทยเป็นนโยบายรัฐบาล 4. รัฐบาลมีเสถียรภาพบริหารประเทศได้

11.พรรคการเมืองที่อาสาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและประสงค์จะชวนพรรคภูมิใจไทยร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขอเรียนเชิญที่พรรคภูมิใจไทย พรรคภูมิใจไทยยินดีที่จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทั้งในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ส.ส.ของพรรคได้แสดงความเห็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีความเห็นที่หลากหลาย บางส่วนต้องการให้รัฐบาลทำงานอย่างต่อเนื่อง บางส่วนเห็นว่าพรรคภูมิใจไทย น่าจะมีบทบาทในการทำให้การเมืองไทยมีความชัดเจน หลังการแสดงความเห็นก็มีมติมอบหมายให้ นายอนุทิน   ไปดำเนินการในการจัดตั้งรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการทางการเมือง เพราะขณะนี้มีความสับสน และคลุมเครือ ทั้งนี้ พรรคได้ย้ำถึงจุดยืน 4 ข้อ มาตลอด คือ การเทิดทูนสถาบัน การจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นต้องไม่สร้างความขัดแย้งให้คนในชาติ การจัดตั้งรัฐบาลหากพรรคภูมิใจไทยไปร่วม จะต้องรับนโยบายของพรรคไปเป็นนโยบายของรัฐบาล และรัฐบาลที่จะจัดตั้งต้องมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศได้ คือต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

“วันนี้สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการประสานงานอย่างเป็นทางการ จากพรรคการเมืองใดๆในการจัดตั้งรัฐบาล สมาชิกพรรคจึงมีมติ มอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับพรรคการเมืองที่ยังไม่มีมติชัดเจน ว่าจะเลือกไปร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองข้างใด โดยนายอนุทิน จะเชิญพรรคเหล่านั้นมาหารือภายใน 2 – 3 วันนี้ เพื่อให้เกิดมติที่ชัดเจนทางการเมือง และความชัดเจนต่อประชาชน”

“เราจะทำให้เกิดความชัดเจนใน 2 – 3 วันนี้ โดยหัวหน้าพรรคฯจะเป็นผู้ดำเนินการพูดคุยกับพรรคที่ยังไม่มีมติ ซึ่งหากได้แนวทางที่ตรงกัน เราจะดำเนินการทางการเมืองต่อไป  ต้องรอ เพราะวันนี้หัวหน้าพรรคฯ คงเริ่มติดต่อประสานงาน คงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ แต่อาจเป็นโทรศัพท์สอบถาม เพราะเราเป็นเพียงผู้ประสานงานไม่ใช่แกนกลาง และรอดูว่าพรรคการเมืองอื่นจะมาหารือกันเมื่อไหร่ อย่างไร ยืนยันว่า ทุกเรื่องจะทำอย่างเปิดเผย และเป็นทางการ ภายใน 2 วันหลังจากนี้”

“เราไม่ได้ต้องการให้เกิดความชัดเจน เพราะประชาชนกำลังตั้งคำถามว่า สรุปแล้วแต่ละพรรคการเมืองมีแนวทางเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร ถ้าดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา พบว่าครั้งนี้มีความแตกต่าง เพราะในอดีตหลังจากมีการเลือกตั้งจะดำเนินการอย่างเป็นทางการ เจรจาเสร็จแล้วก็แถลงข่าว แต่วันนี้ไม่มีความชัดเจน มีแค่การแถลงผ่านสื่อแต่ไม่ได้มีการประสานงานอย่างเป็นทางการ”