“พรเพชร” อยู่โยงฝ่ายนิติบัญญัติ 10 ปี คุมเกม 250 ส.ว.ลากตั้ง โหวตนายกฯ   

“พรเพชร วิชิตชลชัย” ครองเก้าอี้ประธานวุฒิสภาแบบนอนมา – ชื่อเดียว

แม้ช่วง 48 ชั่วโมงก่อนโหวต จะมีแรงกระเพื่อมในกลุ่ม ส.ว.บางกลุ่มปล่อยข่าวเตะสกัด “พรเพชร” อยากให้มีการเปิดแข่งขันชิงเก้าอี้ประมุขสภาสูง

แต่บรรทัดสุดท้ายก่อนโหวตทุกอย่างนิ่งนาย “สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” ส.ว.ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลุกขึ้นเสนอชื่อ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ไร้คู่แข่ง – ไม่ต้องมีการนับคะแนน

ส่วนรองประธาน ส.ว.2 คน “สุวพันธุ์” ลุกขึ้นเสนอชื่อรองประธาน ส.ว.คนที่ 1 คือ “พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร” อดีต สนช. เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.12) กับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนรองประธาน ส.ว.คนที่ 2 เสนอชื่อ นายศุภชัย สมเจริญ  อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งสองตำแหน่งไม่มีชื่อ ส.ว.คนอื่นลงแข่ง

เท่ากับว่า “พรเพชร” จะได้นั่งเก้าอี้ 1 ในฝ่ายประมุขนิติบัญญัติยาวต่อเนื่องถึง 10 ปี

หลังจากเขาเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2557 และในฐานะประธานวุฒิสภา ซึ่งมีวาระอีก 5 ปี

“พรเพชร” จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จุฬาลงกรณ์หมหาวิทยาลัย ปี 2515 และจบเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาในปีเดียวกัน  ได้ทุนรัฐบาลไปเรียนปริญญาโท Master of Laws Harvard University, USA ปี 2518

เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 41 มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. สุพจน์  ไข่มุก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พล.อ.วินัย ภัทธิยะกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

ตำแหน่งสำคัญๆ เส้นทางสายตุลาการของ “พรเพชร” อาทิ  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคดีเด็กและเยาวชน จังหวัดนครสวรรค์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์  ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4  ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 9

ร่วมองค์คณะตัดสินคดีทักษิณ

“พรเพชร” เป็นหนึ่งในผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ร่วมพิจารณาคดีทุจริตกล้ายาง

เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต  เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยสำคัญในคดี

สวมหมวกผู้ตรวจฯ ชงเลือกตั้งโมฆะ

“พรเพชร” เคยตัดสินใจลงชิงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่พลาดหวังจึงมาสมัครเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน จนได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา ให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน แทนนายประวิช รัตนเพียร ด้วยเสียง 105 ต่อ 4 เสียง เมื่อ 18 พ.ย. 2556 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 8 ธันวาคม 2556

ผลงานของ “พรเพชร” ในการนั่งผู้ตรวจการแผ่นดินราว 6 เดือน คือการเป็นตัวแทนขึ้นให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงเรื่องให้เลือกตั้ง 2 ก.พ.2557  เป็นโมฆะเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2557

“พรเพชร” ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า  ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เพราะหลายหน่วยเลือกตั้งมีการเลือกตั้งที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้หลักกฎหมายที่ใช้นับคะแนนเสียงเลือกตั้งก่อให้เกิดการไม่สุจริต การเลือกตั้งดำเนินการได้ไม่ครบทุกเขต และการเลือกตั้งซ่อมสำเร็จลุล่วงเพียงเล็กน้อย ยังมีปัญหาที่มองไม่เห็นว่าจะสำเร็จได้ตาม 180 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้ออกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อออกแล้วประธานกกต.ออกมาเตือนว่าการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งออกก่อนการเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ อาจจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น

“ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องคำถึง เช่น การเลือกตั้งเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรง มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย จะนำไปสู่คดีความเยอะแยะ หากไม่ตัดไฟเสียตอนนี้ คงมีแต่รัฐบาลรักษาการ ทำงานด้วยความลำบาก ทำงานด้วยความเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมายตลอดเวลา อาจจะมีคำถามว่ากกต.จะจัดการเลือกตั้งให้เสร็จได้ แต่ผมคิดว่าไม่มีหลักประกันว่าจะสำเร็จ จึงเสนอว่าเป็นวิกฤตการเมือง การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญที่สุด เป็นปัญหาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องวิเคราะห์ถึงสิทธิทางกฎหมาย”

แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ เพราะ กกต.ไม่สามารถจัดเลือกตั้งให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

แท็กทีม คสช.นั่งกุนซือกฎหมาย “บิ๊กตู่”

จากนั้นอีก 2 เดือน ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้นก็ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ภายใต้ชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ว่ากันว่า “พรเพชร”ได้เข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 48 มาตรา ตั้งแต่ต้นจนจบ ก่อนที่คณะของ  มีชัย ฤชุพันธุ์ พ่วง วิษณุ เครืองาม ที่ประจำการอยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเข้ามาช่วยตบแต่งจนเสร็จ ในวันเปิดตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราว “พรเพชร” ก็นั่งอยู่ข้างๆ วิษณุ เครืองาม ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

นับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในฐานะ “กุนซือ” กฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์”

และเขาก็ก้าวขึ้นมาคุมเกมนิติบัญญัติ ในฐานะประธาน สนช.แบบนอนมา ไม่มีใครขวาง ทำงานจนครบวาระ 5 ปี

ผลงาน สนช.ที่ลืมไม่ลงภายใต้การกำกับของ “พรเพชร” ได้เสนอให้มี “คำถามพ่วง” ถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งพร้อมกับการลงประชามติ รับ-ไม่รับ รัฐธรรมนูญ 2560

“ในระหว่าง 5 ปีแรก. นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็น. ผู้พิจารณาให้ความเห็นขอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ส่งผลให้ ส.ว.250 คน มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ ใน 5 ปีแรก ทำให้ ส.ว.สามารถร่วมโหวตนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งได้ถึง 2 สมัย

คุมโหวตนายกฯ ให้ได้รัฐบาลที่ดี   

สนช.ในยุค “พรเพชร” กลายเป็น key player ทางการเมืองสำคัญ ที่ปั้นให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิโหวต “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐหวนคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง

“ยอมรับว่าใช่…แต่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า สนช.รับเรื่องเหล่านี้ตามที่รัฐบาลส่งมา การปรับปรุงในบางเรื่อง.. เช่น บทบาทของ ส.ว. เราเห็นว่า ส.ว.ต้องมีบทบาท มิเช่นนั้น แผนการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญจะเดินต่อไปไม่ได้ จึงต้องให้ ส.ว.มีบทบาทมากขึ้น มีการแก้ไขในบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกฯได้ ก็เพื่อที่จะไปดูแลว่าจะได้รัฐบาลที่ดี แต่ทำไปด้วยความมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีรอยต่อ เชื่อมต่อที่ไปได้โดยไม่ถูกพับฐาน ไม่ได้ขาดสะบั้น เดินไปแล้วยุติ”

“ส่วนจะปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯรอบสองหรือไม่…ถูกมองได้อย่างนั้น แต่จะเห็นว่าไม่ได้สะดวก เหตุผลยังไม่เพียงพอ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ต้องการให้มี ส.ว.เปลี่ยนผ่าน ให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปดำเนินการต่อไป” พรเพชร กล่าวกับประชาชาติธุรกิจ

ย้อนไปเมื่อ 21 ส.ค.2557 “พรเพชร” ในฐานะประธาน สนช.คุมเกมโหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ คนที่ 29 ด้วยเสียงแทบจะเอกฉันท์ 191 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3  (ประธานและรองประธานสนช. 3 คนงดออกเสียง) จาก สนช.ที่เข้าร่วมประชุม 194 คน ลาป่วย 3 คน

และในปี 2562 “พรเพชร” ในฐานะประธาน ส.ว. จะเป็นผู้นำกำลัง ส.ว.250  ร่วมชี้ชะตานายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง

ถ้าหากไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น และ “พรเพชร” อยู่ครบวาระ ส.ว.5 ปี เขาจะคุมเกมโหวตนายกฯ อีกหลายครั้ง หากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพอยู่ไม่ครบเทอม

รวมระยะเวลาในเส้นทางนิติบัญญัติทั้งหมด 10 ปี

…………….

 เปิดวิสัยทัศน์ “พรเพชร”

นายพรเพชร แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม ส.ว.ว่า “ส.ว.ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก แตกต่างจาก ส.ว.ที่มีอยู่เดิม ผมได้ศึกษาหมดแล้ว และเตรียมพร้อมที่จะทำให้วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลให้ประสบความสำเร็จ 5 ปีแรกมุ่งปฏิรูปประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติที่แน่นอน ผมเมื่อมารับตำแหน่ง ผมจะต้องทำตามวัตถุประสงค์ตามรัฐธรรมนูญให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”

“เพราะสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง มี คสช. เพราะมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ และ สนช.ทำเรื่อยมาจนถึงวุฒิสภา การที่ทำเรื่องนี้รัฐธรรมนูญให้เครื่องมือมา คือ การที่วุฒิสภาพิจารณาร่วมกับ สภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป นี่แหละคือหัวใจ ที่ต้องเข้าใจและดำเนินการ การทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวใจหลักของ ส.ว  อย่างไรก็ตาม มีทฤษฎีต่างๆ มากมาย ต้องทันเล่ห์ทันเกม แต่สำคัญที่สุดต้องจริงใจทำงานร่วมกับ ส.ส.เพื่อบรรลุเป้าหมายตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องกังวล ผมต้องทำให้ได้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการโหวตนายกฯ เพราะสมาชิกคงสนใจหน้าที่หลักมากกว่า ขอจบด้วยการกราบขอกำลังใจจากสมาชิกทุกท่าน และการสนับสนุน”