19 พรรคตรึงกำลัง โหวตนายก “บิ๊กตู่” หวัง 254 เสียง เข็นรัฐบาลปริ่มน้ำ

รายงานพิเศษ

 

การจัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนกลาง – “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯอีกสมัย เส้นทางไม่ได้ปูพรมแดง-ระหว่างบรรทัดเต็มไปด้วยพงหนาม

การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี “กระทรวงเกรดเอ” ที่มี พปชร. เป็นพรรคแกนนำเทียบเชิญ “พรรคร่วมรัฐบาล” ทั้งในที่ลับ-ที่แจ้ง ยืดเยื้อนานกว่า 2 เดือน ถึงวันนี้ยัง “ไม่ได้ข้อสรุป”

จากทุบโต๊ะ-กอด 4 เก้าอี้ “กระทรวงเกรดทอง” โควตาของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในทำเนียบ และ “ผู้มีบารมีนอกพรรค” ถึงการยื่น “คำขาด-ขอคุม” โควตารัฐมนตรี-สแกนชื่อ “เจ้ากระทรวง” ด้วยตัวเอง ในฐานะ “ว่าที่นายกฯลำดับที่ 30”

ทำให้การประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.กับกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) วงแตก-เลื่อนลง “มติพรรค” ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) “ดีดตัว” ออกจากสมการ “นายกฯเสียงข้างน้อย” เล่นเกมตามน้ำพรรคเก่าแก่

ชิงโหวตนายกฯ

ยิ่งการออกมาให้สัมภาษณ์ของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รองหัวหน้า พปชร. จนกลายเป็นพาดหัวข่าว-กินความไปถึงการ “ชิงโหวตนายกฯ” เป็นสัญญาณ “ดีลล่ม” ตอกย้ำการเจรจาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกับ “พรรคเก่า” ไม่ลงตัว

การต้องกลับไปนับ 1 กันใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะกับ ปชป. เป็นการ “เล่นเกมเสี่ยง” ในช่วง 7 วันอันตราย ก่อนถึงวันสุก-ดิบ โหวตเลือกนายกฯลำดับที่ 30

เพราะหาก ปชป.- ภท. พร้อมใจกัน “กอดอก” ไม่ยกมือโหวตส่ง พล.อ.ประยุทธ์ เข้าทำเนียบอีกคำรบ จนต้องอาศัย “บริการเสริม” จาก ส.ว. 250 คน จะกลายเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ทันที

ตามไทม์ไลน์ ภายหลังโปรดเกล้าฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา-ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ “ชวน หลีกภัย” จะนัดสมาชิกรัฐสภาล่วงหน้า 3 วัน เพื่อลงมติเลือกนายก ฯ โดยการลงคะแนนแบบขานชื่อ-เปิดเผย

บันได 4 ขั้นโหวตนายกฯ 

โดยขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และบทเฉพาะกาลนั้น เป็นไปตามมาตรา 159 คือ 1.ให้เลือกบุคคลที่เป็นนายกฯในบัญชีของพรรคการเมือง ที่มี ส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภา (พรรคที่มี ส.ส. 25 คนขึ้นไป) และต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภา หรือ 50 คน

2.มติที่สภาเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกฯ ต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่รัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) คือ 376 เสียงขึ้นไป

3.ถ้าโหวตเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ ต้องนำมาสู่การเลือกนายกฯคนนอกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 โดยให้สมาชิกทั้งสองสภาเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง 376 เสียง เพื่อยื่นญัตติงดเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง และต้องใช้เสียง 500 เสียง จากทั้ง 2 สภา เพื่ออนุมัติให้เลือกนายกฯคนนอกได้

4.เข้าสู่การโหวตนายกฯ ตามมาตรา 159 โดยลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่รัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) คือ 376 เสียงขึ้นไป

5 พรรค 7 แคนดิเดตนายกฯ

สำหรับ “แคนดิเดตนายกฯลำดับที่ 30” ที่มีโอกาสเสนอชื่อ “เข้าชิง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ในบัญชีพรรคการเมือง มาตรา 88 ประกอบด้วย 1.พรรคเพื่อไทย (พท.) 136 เสียง ลำดับที่ 1 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลำดับที่ 2 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และลำดับที่ 3 นายชัยเกษม นิติสิริ

2.พปชร. 116 เสียง มี “พล.อ.ประยุทธ์” ชื่อเดียว-นอนมา

3.พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 81 เสียง แม้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวขบวน จะถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญระงับการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติต้องห้าม ส.ส. กรณีถือหุ้นสื่อ แต่ศักดิ์-สิทธิ์ “แคนดิเดตนายกฯ” ยังครบองค์ประกอบ

4.ปชป. 53 เสียง แม้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคจะถือธงนำ “แพ้เลือกตั้ง” และประกาศลุกออกจากเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 7 แต่ยังมีชื่อส่ง “เข้าประกวด”

และ 5.ภท. 51 เสียง ส่ง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ขึ้นบัญชี “นายกฯตาอยู่”

“บิ๊กตู่” ตัดเชือก “ชัชชาติ”

ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าใกล้เก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารมากที่สุด มีแต้มต่อแคนดิเดตนายกฯคนอื่นหลายช่วงตัว เพราะมีเสียงของสภาสูง 250 ส.ว.ในมือ-ไม่แตกแถว (หากไม่มีสัญญาณพิเศษ) จึงต้องการเสียงจาก “สภาล่าง” เพียง 126 เสียงเท่านั้นก็จะ “เกินกึ่งหนึ่ง” ของทั้ง 2 สภา คือ 376 ต่อ 750 เสียง

พลิกบัญชีนายกฯ ฝั่ง พท. มี 3 ชื่อ 1.คุณหญิงสุดารัตน์ 2.ชัชชาติ 3.ชัยเกษม ส่วนอนาคตใหม่มีชื่อ “ธนาธร” หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตคนเดียว

ก่อนการโหวตนายกฯ “ธนาธร” แห่งอนาคตใหม่ แม้ประกาศตัวพร้อมเป็นนายกฯ แต่เมื่อถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง จากปมถือหุ้นสื่อ

แกนนำ พท. “หนักใจ” ว่า “ธนาธร” อยู่ใน “จุดเสี่ยง” ทางการเมืองมากเกินไป แกนนำบางคนยังทำนายว่า “ธนาธร” อาจกลายเป็นจุดศูนย์กลางความขัดแย้งรอบใหม่แทน “ทักษิณ ชินวัตร” แถมยังต้องเดิมพันคดีต่างอีก ๆ หลายคดี หวยอาจล็อกมาที่บุคคลใน พท.

สำหรับแคนดิเดตในพท. “คุณหญิงสุดารัตน์” ประกาศตัวตั้งแต่ไก่โห่ว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกฯ ทั้งในพรรคและต่อสาธารณะ จึงขอไม่รับเป็นตัวเลือกไปแข่งในสภา เหลือแค่ “ชัชชาติ-ชัยเกษม”

อีกทั้งในการประชุมลับของแกนนำพรรคร่วม 7 พรรค ก็ยอมให้ใช้ชื่อนายกฯจากบัญชี พท.ไปแข่งในสภา

จึงมีข่าวว่า พท.ผลักดัน “ชัชชาติ” ลงแข่งนายกฯ กับ “ขั้วหนุนลุงตู่” แม้ที่สุดแล้วพันธมิตร 7 พรรคอาจแพ้โหวตในสภา แต่อาจเป็นผลดีให้ชื่อ “ชัชชาติ” ติดกระแสไปจนถึงศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นสิงหาคมนี้ ซึ่ง พท.สั่งทีม กทม.+ชัชชาติ เตรียมพร้อมล่วงหน้าแล้ว

ข่าวตอนแรก “พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ ฝ่าย 7 พรรค 245 เสียง

ทว่ากลายเป็นข่าวที่โคมลอยในวงสนทนาการเมือง เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ในพรรคจะต้องมีอย่างน้อย 25 คนจึงจะสามารถชิงตำแหน่งนายกฯได้ ดังนั้น “พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์” จึงไม่มีคุณสมบัติตั้งแต่ต้น เพราะมี ส.ส.แค่ 10 คน

ใน 7 พรรค จึงมีแค่ 2 พรรค คือ พท.-อนค.เท่านั้น ที่มีสิทธิชิงเก้าอี้นายกฯ

เช็กกำลังพรรคหนุน-ต้านบิ๊กตู่ 

ขณะที่ขุมกำลัง-เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ของ พปชร. 116 เสียง บวกกับ “พรรคร่วม” 17 พรรค ที่เป็น “ของตาย”- “ปิดดีล” ได้สำเร็จ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 เสียง

พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และ “พรรคเสียงเดียว” 11 พรรค รวม 150 เสียง เมื่อรวมกับ ส.ว. 250 เสียง เพียงพอที่ พล.อ.ประยุทธ์จะคัมแบ็กเก้าอี้นายกฯ แต่จะเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” แม้จะรัดคองูเห่าได้ 30 ตัว แต่เสียงก็ยังไม่โผล่พ้นน้ำ 251 เสียง

ดังนั้นพรรคร่วมที่ยัง “จบไม่ลง”- เขี้ยวลากดิน อย่าง ปชป. 53 เสียง กับ ภท. 51 เสียง ที่ต้องต่อรอง-ซื้อใจเก้าอี้รัฐมนตรีอีกหลายยก ไม่นับ “คำถามพ่วง” จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจที่มีเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน-คะแนนนิยมทางการเมืองเป็นเดิมพัน อาทิ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ คมนาคม จึงต้องวัดใจกันนัดต่อนัดกลางสภา แต่ถ้า”ปิดดีล” ได้ จะพลิกเป็น “รัฐบาลเสียงข้างมาก” 254 เสียงทันที

ฟากที่เรียกขั้วฝั่งตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” 7 พรรค นำโดย พท. อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย เศรษฐกิจใหม่ ประชาชาติ และเพื่อชาติก่อตัวกันแน่น 245 เสียง

แม้อาจต้องระแวง “งูเห่า” บ้าง แต่ขั้นตอนการโหวตนายกฯ ต้องโหวตด้วยการ “ขานชื่อ” ดังนั้น “ภูมิธรรม” ถึงกับออกตัวมั่นใจว่าไม่มีใครกล้าแตก “ไม่มีงูเห่า ที่นี่มีแต่พังพอน”

ขั้วตัวแปร-นายกฯคนนอก

ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร-อำนาจต่อรองมหาศาลตกอยู่ในกำมือพรรคขนาด 51-53 เสียง ทำให้ ปชป.-ภท. มีโอกาส “พลิกเกม” เป็น “รัฐบาลขั้วที่สาม” ได้ทุกเมื่อ

รวมถึงเดดล็อกรัฐบาลใหม่ จนไม่สามารถเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ จนนำไปสู่การผ่าทางตัน “นายกฯคนนอกตามรัฐธรรมนูญ” มาตรา 272 ซึ่งพร้อมที่จะถูกเขี่ยลูก-ยื่นญัตติรัฐบาลแห่งชาติกลางสภาได้ทุกเมื่อ

ไม่นับตำนาน “วีรบุรุษประชาธิปไตย” เมื่อปี 35 ที่กลับมาหลอกหลอน สลับชื่อนายกฯ จาก “พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์” เป็น “อานันท์ ปันยารชุน” ในนาทีสุดท้าย กลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำ

เมื่อปฏิทินการเมือง-โรดแมปรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ภายในเดือนมิถุนายน 62 อาจ”ลากยาวออกไป” ประเมินจากเหตุการณ์สภาป่วน-ตีรวน-ดึงเกมการเลือกประธาน-รองประธานสภา

โดยมีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีที่ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ”- การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “ตัวประกัน” โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์-คสช.อยู่โยงจนกว่าจะมีนายก ฯ-รัฐบาลชุดใหม่