แก้รัฐธรรมนูญ-กฎเลือกตั้งพิสดาร เมกะดีล “นักเลือกตั้งอาชีพ”

ดีลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นเงื่อนไขต่อรองสำคัญ เข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์นอกเหนือจากต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี 7 กระทรวง ต้องได้จากพรรคพลังประชารัฐ

เพราะนักเลือกตั้งอาชีพได้สัมผัสอิทธิฤทธิ์รัฐธรรมนูญ 2560 กันถ้วนหน้า

กติกาเลือกตั้งให้ฝ่ายแพ้กลายเป็นฝ่ายรัฐบาล ส่วนฝ่ายชนะได้เสียงข้างมากอันดับหนึ่งกลับเป็นฝ่ายค้าน

สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เปิดช่องให้พรรคเล็กนับสิบพรรค เข้าร่วมเป็นผู้ทรงเกียรติ รวมตัวต่อรองร่วมรัฐบาลผสมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 19 พรรค

และทำให้ฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งในระบบเขต กลายเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ในระบบปาร์ตี้ลิสต์

เงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่มีเสียงค้านจากฝ่ายนักเลือกตั้งทุกขั้ว

ทว่าจับอาการ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่นายกฯ ขั้วพลังประชารัฐ ออกอาการเด้งเชือกหลบทันควัน ว่าไม่ใช่เงื่อนไขต่อรองร่วมรัฐบาล

แต่แย้มเป็นนัยว่า “เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายบ้าง ก็เป็นเรื่องของรัฐสภา”

ท่ามกลางข่าวสะพัดในวันโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเหตุผลที่ไม่ลงตัวกับชื่อ “นายชวน หลีกภัย” ที่จะเป็นประธานสภา และเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งนั้น เพราะเกรงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีอำนาจต่อรองมากเกินไป อาจเข้ามาคุมเกมแก้รัฐธรรมนูญ อันเป็นของรักของหวงของ คสช. อันเป็นกลไกการเปลี่ยนผ่านอำนาจของ คสช.

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจเสียงพรรคการเมืองที่ประกาศชัดถ้อยชัดคำ-แก้รัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้ง มีแค่ 3 พรรค

1.พรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง แต่ยังไม่ลงรายละเอียด โดย “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคป้ายแดงระบุว่า “การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้จะต้องมีฝ่ายค้านร่วมด้วย เราจะไปสรุปเองฝ่ายเดียวไม่ได้ว่าจะแก้ประเด็นใด ต้องใช้เวลาในการพูดคุย ถ้าเห็นตรงกันว่า ข้อไหนที่มันมีปัญหา ก็ตรงนั้น”

แต่มีรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า เหตุต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

2.พรรคเพื่อไทย 137 เสียง “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรค กล่าวเหตุผลว่า เรื่องแรกต้องแก้ ส.ว. 250 ไม่มีสิทธิโหวตนายกฯ และกติกาเลือกตั้งไม่ให้สับสนแบบทุกวันนี้ แต่ยังไม่คิดเยอะ เพราะถ้าคิดเยอะแล้วจะยาว เพื่อไทยยังไม่ต้องแก้ทั้งฉบับ เอาแค่เฉพาะหน้าก่อน ถ้าทำทั้งฉบับจะยากเกินไป แต่เพื่อคลายปม ถ้าแก้แล้วเชื่อว่าหลังเลือกตั้งการตั้งรัฐบาลจะเดินหน้าทันที ไม่ใช่มานั่งรอตั้งรัฐบาลแบบนี้

คำถามคำโตว่า นักการเมืองในฟากพรรคพลังประชารัฐจะยอมให้แก้หรือไม่ “ภูมิธรรม” ตอบสวนว่า “พลังประชารัฐถ้าเจอสถานการณ์ที่เป็นอยู่แบบนี้ จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เดี๋ยวเขาก็อยากแก้ เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นนักการเมืองเห็นด้วยกันหมด”

3.พรรคอนาคตใหม่ 81 เสียง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค บรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญไว้ใน 3 ข้อของ MOU ร่วมรัฐบาล มีเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในนั้น

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของอนาคตใหม่ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน-จัดการมรดกบาปของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นประกาศคำสั่ง, แผนปฏิรูปหรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยปลดมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ให้ความคุ้มกันบรรดาประกาศและการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน

ส่วนพรรค “ตัวแปร” อื่น ๆ ยังตอบไม่ชัดถ้อยชัดคำ เช่น ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง “วราวุธ ศิลปอาชา” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เหมือนในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญก็เหมือนบ้าน ถ้าเราสร้างบ้านมาแล้วหลังคารั่ว กระจกไม่ดี ก็ควรจะต้องซ่อมหรือปรับปรุงกันไป อะไรที่ดีก็ควรเก็บไว้”

ส่วนพรรค 51 เสียง “ภูมิใจไทย” ของ อนุทิน ชาญวีรกูล เคยระบุในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2562 เปรียบเทียบกับการผลักดันนโยบายกัญชาเสรีกับการแก้รัฐธรรมนูญว่า การผลักดันนโยบายน่าจะผลักดันได้เร็วกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคภูมิใจไทยเข้าสภาเพื่อทำงาน ไม่ได้มีปัญหาอย่างมีนัยกับรัฐธรรมนูญ จนรู้สึกว่าจะทำงานไม่ได้

พลิกด่านหินแก้รัฐธรรมนูญ พบว่ามี 4 ขั้น 1.การแก้ไขจะต้องเริ่มจากคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (100 คนขึ้นไป)

2.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะต้องใช้เสียง “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของรัฐสภา (ส.ส. 500 คน + 250 ส.ว. = 750) คือ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้ ส.ว.จะต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง

3.การพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ในการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก

4.ในโหวตวาระ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 376 เสียง และจะต้องมีเสียง ส.ส.จากทุกพรรคในสภาเข้ามาร่วมโหวตแก้ไข แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านต้องเห็นชอบด้วย ถ้าขาดพรรคใดพรรคหนึ่งไปอาจทำให้ญัตติล่ม

เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญยังยากยิ่งกว่ายาก ดีลของพรรคประชาธิปัตย์จะสำเร็จได้

ต้องให้ ส.ว. 250 ที่มาจาก คสช.เปิดทาง และทุกพรรคต้องสนับสนุน