ประชาธิปัตย์-อภิสิทธิ์ ฝ่าอำนาจพิเศษ พลิกเกมแก้รัฐธรรมนูญ กู้วิกฤตพรรคแตก

รูดม่านปิดฉากบนเส้นทางนักการเมืองอาชีพของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายหลังประกาศลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อยืนยันจุดยืน ก่อนนำทัพแพ้เลือกตั้ง 62 กลายเป็น “พรรคต่ำร้อย”

“มาถึงวันนี้ ผมก็เหลือทางเดียว ที่จะรักษาเกียรติภูมิ ไม่ใช่เฉพาะของผม แต่เกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า ‘สจฺ จํ เว อมตา วาจา’ ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบต่อคำพูด”

27 ปีบนถนนสายการเมืองของ “อภิสิทธิ์” มีทั้งขมคอ-หวานลิ้น เพราะนำพรรคแพ้เลือกตั้ง 3 ครั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้าน 2 ครั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 1 ครั้ง

การประกาศยุติบทบาททางการเมืองของ “อภิสิทธิ์” เป็นการ “วางมือถาวร” หรือ “หยุดไปต่อ” บนสนามเลือกตั้ง-เวทีรัฐสภาเพื่อกลับมาแก้มืออีกครั้ง

“ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักสังเกตการณ์ทางการเมืองวิเคราะห์การลาออกของนายอภิสิทธิ์-บทบาทพรรคเก่าแก่หลังจากนี้

“การลาออกจากตำแหน่งเป็นระลอก ตั้งแต่หัวหน้าพรรค จนมาถึง ส.ส. น่าจะชัดเจนแล้วว่า คุณอภิสิทธิ์คงจะค่อย ๆ ลดบทบาท เหลือเพียงบทบาทสมาชิกพรรค หรือยุติบทบาทภายในพรรคแทบจะสิ้นเชิง โดยเฉพาะบทบาทผู้นำทางการเมือง”

แม้การประกาศล้างมือในอ่างทองคำของ “อภิสิทธิ์” ก่อนเวลาอันควร อาจเพื่อรอเวลา “กลับมาอีกครั้ง” แต่ “ศิโรตม์” ไม่เห็น “ข้อมูลเชิงประจักษ์” เห็นเพียงสัญญาณการลาออกทุกตำแหน่งภายในพรรค เหลือเพียงสมาชิกพรรค

“คุณอภิสิทธิ์คงไม่ได้คิดที่จะกลับมามีบทบาททางการเมืองอะไรอีก ถ้าจะมีอย่างมากก็เพียงแค่อยู่กับพรรคแบบไม่มีตำแหน่ง ไม่ได้เป็นผู้นำทางการเมืองนอกพรรค แต่การแลนดิ้งของคุณอภิสิทธิ์ลงมาเร็ว คนคงคิดว่าเป็นการลงแบบมีแผน”

“การเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ในที่สุดพบว่าพรรคที่ตัวเองเป็นหัวหน้ามีมติตรงข้ามกับตัวเอง ในแง่การนำ คุณอภิสิทธิ์คงประเมินว่า ตัวเองได้สูญเสียการนำในพรรคไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถกลับมานำใครได้แล้ว”

การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของอภิสิทธิ์จาก “ปัจจัยภายนอกพรรค” ที่เข้ามาแทรกซึม-กัดกร่อนจนเกิดความแตกแยกภายในพรรค รอวันล่มสลาย-ถูกยึด อาจทำให้อภิสิทธิ์ตัดสินใจกลับมาได้ยากขึ้น

“ปชป.อยู่ในสถานการณ์พิเศษ คือ มีความแตกแยกภายในพรรคสูง เป็นความแตกแยกที่มีการเมืองภายนอกพรรคเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างรุนแรง ทั้งที่เป็นพรรคการเมืองด้วยกันและการเมืองนอกพรรค ทหารการเมือง ยิ่งทำให้คุณอภิสิทธิ์ไม่กลับมามีบทบาทผู้นำทางการเมืองอีก”

ความหวังที่นายอภิสิทธิ์จะ “คัมแบ็ก” เหมือน “ชวน หลีกภัย” ที่กลายเป็นผู้แบกอนาคตพรรคในฐานะ “ผู้นำทางนิติบัญญัติ” อาจจะไม่ง่ายดายนัก

“คุณชวนไม่ได้ลงมาแบบบอบช้ำเหมือนคุณอภิสิทธิ์ คุณอภิสิทธิ์ลงมาแบบพรรคทั้งพรรคมีมติตรงข้ามกับที่คุณอภิสิทธิ์ทำ และคุณชวนลงมาในขณะที่พรรคไม่ได้แพ้เลือกตั้งอย่างหนักหน่วงแบบที่คุณอภิสิทธิ์ลงแบบบอบช้ำหลายเรื่อง ล่าสุดแพ้พังพินาศมาก ต่อให้อยากกลับมาก็ไม่เหลือหน้าตักทางการเมืองให้กลับมาได้อีกแล้ว”

ในทางกลับกันเป็นการก้าวขึ้นสู่ปีที่ 73 ของพรรค ภายใต้การนำของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคคนที่ 8 บนความยากลำบาก ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัย

การไร้เสียง-ไร้ตัวตนบนเวทีสภาผู้แทนราษฎรของ 53 ส.ส. ในระหว่างการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นความเปลี่ยนแปลงแรก ใน “ด้านลบ” เพื่อ “รักษามารยาทพรรคร่วม” มีเพียงบทบาทของ “ชวน” บนบัลลังก์ฝ่ายนิติบัญญัติ

ขณะที่บทบาท ปชป. ต่อไปที่ต้องกอบกู้ศรัทธายังรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์และต้องใช้เวลา เพราะต้นทุนทางการเมืองติดลบ-ความน่าเชื่อถือบกพร่องจากการตัดสินใจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์

“หาก ปชป.ไม่สามารถทำให้ประชาชนเห็นว่า ปชป.แตกต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคจะทำงานอย่างอิสระได้มากกว่าการเป็นหางเครื่อง หรือ องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์ ปชป.จะยิ่งสูญเสียความน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก หลังจากสูญเสียการนำทางการเมืองไปแล้วอย่างสมบูรณ์”

ธงนำ “ผืนสุดท้าย” ที่มีเหลืออยู่ของ ปชป.ขณะนี้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ-เงื่อนไขการร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เพื่อปลุกขึ้นจากความตกต่ำ

“ต้องมีความกล้าหาญในทางการเมือง ต้องประกาศให้ชัดว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นใหญ่ เช่น อำนาจ ส.ว. ต้องทำทุกวิถีทางให้สังคมเห็นว่า การร่วมรัฐบาลนั้นได้กดดัน ต่อรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำตามเงื่อนไข”

แต่การเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ “พรรคแตก-พรรคพัง” ออกเป็น “สองเสี่ยง” ส่งผลต่ออำนาจการต่อรอง จากจำนวนเสียง เท่ากับภูมิใจไทย (ภท.) แต่ความไม่เป็นเอกภาพทำให้ ปชป.อยู่ในสถานะ “ไม่มีอำนาจต่อรอง” อีกต่อไปแล้ว

“ในแง่ความเป็นจริงอำนาจการต่อรองน้อยกว่า ภท.เยอะ เพราะมีความแตกแยกภายในพรรค ส.ส.กลุ่มหนึ่ง พร้อมเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อต่อรองโดยไม่ผ่านหัวหน้าพรรค เมื่อทั้งสองกลุ่มต่างแยกกันเข้าหาผู้มีอำนาจ ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง”