“วิษณุ” ยกพระราชนิพนธ์ ร.6 โต้ ฝ่ายค้าน พาดพิง “ทนายหน้าทำเนียบ”

การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 26 ก.ค.62 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิดของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย-ผู้อภิปราย ว่า นายวิษณุเป็นทนายหน้าหอว่า มีประเด็นที่ท่านพาดพิงมาถึงกระผม ผมจะไม่ชี้แจงในเรื่องพาดพิง แต่ผมจะชี้แจงในส่วนที่ท่านน่าจะเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อน

“ที่จริงมันเป็นเรื่องส่วนตัวของผม ใครจะตำหนิติเตียนอย่างไรก็ไม่ได้ว่ากัน คงยึดหลักรัชกาลที่ 6 ครับ ทรงรับสั่งว่า ‘ถึงล้อก็ล้อเพียง กละเยี่ยงวิธีสหาย…ชมเราก็แทงคิว ผิวะฉิวก็ซอร์รี่’”

นายวิษณุกล่าวว่า แต่บังเอิญคำอธิบายของท่านนั้นไปพาดพิงเรื่องอื่นเข้าอีก ซึ่งท่านก็ไม่ได้ตำหนิติเตียนอะไรนะครับ เพราะว่ามีคนพูดอย่างนั้นจริง ๆ บอกว่าผมทำตัวเป็นทนายหน้าหอให้กับรัฐบาล ทนายหน้าทำเนียบรัฐบาล

“ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีและถูกตั้งสมญาว่าฝ่ายกฎหมาย จะแน่นิ่ง ซื่อบื้อ เงียบ เขาถามอะไรไม่ตอบคงจะไม่ได้ และไม่เคยวิ่งแส่เข้าไปหาผู้สื่อข่าวและไปตอบหรือไปถาม หรือ ไปออกโทรทัศน์ ไปชี้แจงอะไรเลยทั้งสิ้น แม้จะมีคำเชิญทุกวัน แต่เพราะก้าวเท้าขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า หรือที่ทำงานเมื่อไหร่ ผู้สื่อข่าว 20-30 คน ยืนรอทุกวัน ผมหนีไปบันไดหลังเขาก็อ้อมมาดักรอ ผมขึ้นบันไดหน้าเขาก็ดักรอ”

นายวิษณุกล่าวต่อว่า “และเขาก็บอกว่า อาจารย์ขอความรู้ ไม่ต้องการความเห็น เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้ให้ความเห็นเลยในแต่ละวัน ผมคงจะผิดมั้งครับที่ความรู้ก็ดันไปให้เขา ในเมื่อเขาลงทุนเรียกอาจารย์ ผมก็บ้ายอผมก็ตอบไปสิครับ”

Advertisment

นายวิษณุกล่าวว่า เขาก็ถามก็หมายว่ายังไง กฎหมายว่ายังไง ผมก็ว่ากฎหมายว่ายังไงผมก็จะบอก แล้วอาจารย์เห็นอย่างไง ผมบอกว่าต้องเข้าใจนะว่าเป็นความเห็นของผม ผมอาจจะตอบผิด และแน่นอนก็เคยผิดด้วย แต่ว่าเมื่อมันเป็นความเห็น ผมก็รับผิดชอบในส่วนนี้เอง เพราะฉะนั้น เมื่อเขามาถามเรื่องคุณสมบัติก็ดี ถามรัฐมนตรีเป็นนั่นเป็นนี่ก็ดี รัฐมนตรีเป็นอะไรก็ตามที ผมได้ยกกฎหมายขึ้นมาทุกครั้ง แน่นอนถูกหู ไม่ถูกหู ถูกใจ ไม่ถูกใจใคร ก็ว่ากันไป หลายอย่างทุกวัน

นายวิษณุยังตอบคำถามกรณีนายสุทินอภิปรายเรื่องแต่งตั้ง ส.ว.ของ คสช.ให้ใครตรวจสอบไม่ได้ ว่า เมื่อมีคนมาถามความเห็น ผมก็ตอบไปอย่างนั้น ว่า คงจะตรวจสอบ (คสช.) ไม่ได้ ถามว่า แล้วทำไม ผมก็บอกว่า เมื่อ (คสช.) ไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน มันจะไปตรวจสอบได้ยังไง

“เขาถามว่า สภาตรวจสอบได้ไหม ผมก็บอกไปว่า สภามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญก็คือ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หนึ่ง คุมโดยตั้งกระทู้ สอง เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ สาม คุมโดยการอภิปรายทั่วไป ในเมื่อคสช.ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแล้วสภาจะไปคุมได้อย่างไร องค์กรอื่นผมก็ไม่แน่ใจว่าจะไปคุมได้อย่างไร”

นายวิษณุกล่าวว่า ต่อมาอีก 21 วันต่อมา มีคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า จะตรวจสอบการสรรหาวุฒิสภาของคสช.ได้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. เกือบเดือนหลังจากที่ผมได้พูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการตรวจสอบเช่นนั้น เพราะว่าคำสั่งในการสรรหาวุฒิสภา ไม่ใช่กฎ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถไปตรวจสอบได้ ผมก็ตอบไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถูกผิดมันเป็นเรื่องที่ไปเกิดขึ้นเพราะเหตุอื่น

Advertisment

“หลัง ๆ ผมก็ชักกลัวแล้วเหมือนกัน ว่า การออกความเห็นหรือไปพูดอะไรไป แล้วบังเอิญมันไปถูกขึ้นมา ก็จะบอกว่ารู้เห็นสมคบตามทฤษฎีสมคบคิดกันอีก และถ้าตอบผิดก็เสียงรังวัด หน้าแตก หน้าแหก แต่ทุกอย่างเราก็อยู่กันอย่างกัลยาณมิตรในทำเนียบรัฐบาล แล้วผมไม่เคยไปพูดอะไรที่ไหนนอกบันไดตึกทำเนียบรัฐบาล พูดกันเพราะว่าผู้สื่อข่าวมาถาม”

“ใครจะว่าผมเป็นทนายหน้าหอ หน้าทำเนียบอะไรก็ตามที ผมเป็นนักกฎหมาย และเขาตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี สมญาฝ่ายกฎหมาย ผมมีหน้าที่ต่อตัวเอง ต่อรัฐบาลที่เป็นผู้บังคับบัญชา และหน้าที่ต่อประชาชนเมื่อเข้ามาถามและให้ความรู้ก็ต้องให้ความรู้ไป ผมทำหน้าที่อย่างนี้มาตลอด ทำหน้าที่ทำนองนี้มา 8 นายกรัฐมนตรี 12 รัฐบาล แล้วถ้าหากว่า กระล่อน เลวทราม ต่ำช้า กลับกลอก ก็คงไม่ตั้งให้ผมเป็นต่อเนื่องมาตลอดอย่างนั้นหรอก บางครั้ง ผมเป็นรัฐบาลที่มีฝ่ายค้านอยู่เต็มสภา ต่อมาฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นรัฐบาล จากรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้าน เราก็อยู่อย่างนี้ครับ”

นอกจากนี้นายวิษณุยังชี้แจงนายสุทินกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ว่า ท่านประธานที่เคารพ เรื่อง คสช.นั้นที่จริง เขาพูดนิดเดียวเท่านั้น แต่บังเอิญประหนึ่งไปพูดเป็นหลักเอาไว้ ได้มีการพูดทำนอง ว่า ทำไมจะไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตั้งบริหารราชการแผ่นดินด้วยซ้ำไป ก็ทำท่าแลซ้าย แลซ้ายจะหาพระบรมราชโองการนั้น

ท่านครับ คสช.ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ย้ำนะครับว่า 22 พ.ค.57 แล้ว 16.30 น. ออกโทรทัศน์ได้ยินกันทั้งประเทศ ว่า เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หลังจากนั้น อีก 2 วันต่อมา หลังจากวันที่ 24 พ.ค.57 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ คสช.มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็มีคนบอกว่า ก็นี่ไง ไหนบอกว่าไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

อย่าลืมนะครับ ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 จน 22 มิ.ย. จน 22 ก.ค. 2 เดือนนั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญ และไม่มีรัฐบาล ก็เลยเกิดช่องว่างว่า ใครบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเหตุฉะนี้ จึงมีประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 24 พ.ค.57 อุดช่องว่างนั้น ว่า ให้ คสช.นั้นมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

“แต่เมื่อถึงวันที่ 22 ก.ค. อีก 2 เดือนต่อมา มีการออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับที่มีมาตรา 44 นั่นแหละครับ ได้กำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้น และมาตรา 19 ก็บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน นั่นแปลว่า คสช.สิ้นสุดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว แต่เกิดอำนาจของคณะรัฐมนตรีขึ้นแทน”

คสช.อยู่ตามที่มาตรา 44 ให้อยู่ต่อไป และอยู่ไปโดยมีอำนาจออกคำสั่ง และรับรองว่าคำสั่งนั้นให้มีอำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ถ้าจะบอกว่า ก็นี่ไงยังมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินอยู่

“ใครครับที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่โดยมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการอยู่ในมือได้ มันอยู่เหนือกว่าการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว”

ฉะนั้น ผมจึงใช้ประโยคเดียวเท่านั้น ว่า คงจะให้ใครไปตรวจสอบไม่ได้ โดยเฉพาะให้สภาตรวจสอบนั้นคงจะไม่ได้ คนอื่นตรวจสอบผมยังนึกไม่ออกอยู่เหมือนกัน นี่คือความเป็นมาเป็นไปทั้งหมด