“สุดารัตน์” ออกโรง จี้ “บิ๊กตู่” คุมการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม “คดีโอ๊ค”

“คุณหญิงหน่อย” จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจงปมย้ายรองอธิบดี ดีเอสไอ โยงสอบคดี “โอ๊ค” พร้อมขอนายก ควบคุมการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 7 กันยายน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เพื่อร้องทุกข์คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่สั่งย้าย พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ โดยระบุว่าสาเหตุที่ถูกสั่งย้ายว่าเป็นเพราะไม่ยอมแจ้งข้อหารับของโจร และฟอกเงิน ต่อนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าตรวจสอบแล้วพยานหลักฐานไม่เพียงพอ อีกทั้งคดีได้หมดอายุความแล้ว แต่ข้าราชการระดับบิ๊กของดีเอสไอ ไม่ยินยอมและสั่งการให้ฟ้องคดีไปก่อน แล้วค่อยให้ผู้ต้องหาแก้ต่างเอาเอง ว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่เอกสารคำร้องทุกข์ของรองอธิบดีดีเอสไอนั้น ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำเรื่องให้เกิดความกระจ่างและชัดเจน ว่าเหตุใดรัฐบาลจึงปล่อยให้มีการใช้อำนาจบีบบังคับเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอซึ่งถือเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ให้จัดการแจ้งข้อกล่าวหากับนายพานทองแท้ให้ได้ ถึงแม้ว่าผลของการพิจารณาของคณะผู้สอบสวนจะสรุปว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา แต่กลับมีผู้มีอำนาจที่สูงกว่าไปบีบบังคับให้มีการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อนให้ได้ โดยอ้างว่าระบบยุติธรรมไทย ในส่วนของคดีอาญา เป็นระบบกล่าวหา ไม่ใช่ระบบการไต่สวน ให้จำเลยไปแก้ข้อกล่าวหาเอาเอง และเมื่อคณะผู้สอบสวนไม่ยอมทำตาม เพราะผิดประมวลกฎหมายอาญา ม. 157และ ม. 200 ก็ถูกลงโทษให้ย้ายออกจากตำแหน่ง ซึ่งกรณีนี้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้ขจัดฝ่ายตรงข้าม เพราะคดีนี้เกิดมานานกว่า 10 ปีหากผิดจริงเชื่อว่า จะต้องถูกดำเนินคดีตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 แล้ว คงไม่ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานขนาดนี้ การกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายตาม ม.157 และ ม.200 อย่างชัดเจน

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ที่สำคัญคือการใช้อำนาจไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการกำจัดคู่แข่งหรือผู้ที่เห็นต่างถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องไม่เพิกเฉยต่อการกระทำเช่นนี้ ที่ถือว่าเป็นการทำลายระบบยุติธรรม เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือในระบบยุติธรรมของประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติอย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นจากการลงทุนของต่างชาติที่หดหายไป ส่งผลเสียต่อระบบ และต่อเศรษฐกิจโดยรวมในขณะนี้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นยังเป็นการทำลายความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ สร้างความแตกแยกให้เราลึกลงไปอีกจากการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมดังที่ปรากฏภาพในปัจจุบันว่าฝ่ายหนึ่งจะผิดตลอด แต่อีกฝ่ายหนึ่งถูกเสมอ

“ถ้ายังปล่อยให้มีการอำนาจ เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมต่อไปสิ่งที่ คสช. เคยประกาศเป้าหมายในการทำรัฐประหารว่าต้องการเข้ามาเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ก็จะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อยึดอำนาจเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงใจที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อคนในชาติอย่างแท้จริง” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์