พริษฐ์ : หัวขบวนนอกสภา ชูธงมติมหาชน 27 ล้านเสียงแก้ รธน.ทั้งฉบับ

ไอติม ยันแนวคิด ผู้ตรวจการกองทัพ
แฟ้มภาพ

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ปิยะ สารสุวรรณ

การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-พรรคพลังประชารัฐของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “พรรคแตก” 3 เจเนอเรชั่นในพรรคเก่าแก่ 7 ทศวรรษ ต่างไปคนละทิศละทาง

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษกับ “ไอติม”-พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกแกนนำคนรุ่นใหม่ NEWDEM ที่วันนี้หลงเหลือเพียงแต่ความทรงจำสีจาง

แม้ “ไอติม” ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค-ตัดขาดจากประชาธิปัตย์ แต่ไม่ไร้อุดมการณ์ ภายใต้ “กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า”

บันได 3 ขั้นแก้รัฐธรรมนูญ

ไอติม-พวก ใช้เวลา 3 เดือนภายหลังจากไร้สังกัดพรรคศึกษารัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย-ต่างประเทศ ตกผลึกเป็น 3 ข้อเสนอ เป็นบันได 3 ขั้นในการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บันไดขั้นที่ 1 รูปแบบ รัฐธรรมนูญที่ดีควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย-สั้น รัฐธรรมนูญที่สั้นและอยู่นานเป็นร้อยปี เช่น สหรัฐอเมริกาบันไดขั้นที่ 2 กระบวนการหาฉันทามติ ควรหาจุดร่วม ไม่หาจุดต่าง เรียกว่าการเลือกแบบอนุมัติ-approval voting จะทำให้สังคมไม่แบ่งแยก approval voting คือ การถามคำถามมากกว่า 1 ข้อเสนอ หรือการถามว่าเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญมากกว่า 1 ร่าง หรือทุกร่างได้ ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ หนึ่ง เป็นการหาเสียงในเชิงบวก การหาเสียงแบบโจมตีจะน้อยลง สอง การมีมากกว่า 1 ร่างจะทำให้คนออกมาใช้สิทธิมากขึ้น

“ทำไมเราไม่มี 3 ร่าง 1 ร่างรัฐบาล 2 ร่างของฝ่ายค้าน และ 3 ร่างของภาคประชาสังคม ถ้ารัฐบาลเห็นว่า ไม่ควรแก้ไขก็เสนอร่างปัจจุบันมาได้ สอง ร่างอดีต-ร่างของผู้มีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างปัจจุบัน-ร่างของตัวแทนภาคการเมืองปัจจุบัน และร่างอนาคต-ร่างของตัวแทนคนรุ่นใหม่”

แก้ที่มา-อำนาจ ส.ว. 250 คน

บันไดขั้นที่ 3 เนื้อหา ปรับระบบรัฐสภาให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร เพราะหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยปรับเข้าสู่สภาเดี่ยวมีเพียง 2 จาก 31 ประเทศที่วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง คือ อังกฤษ และตรินิแดดแอนด์โตเบโกแต่มีอำนาจน้อยมาก

ข้อดี ประการแรก ประหยัดงบประมาณอย่างน้อย 1,300 ล้านบาทต่อปี ประการที่สอง ลดระยะเวลาการออกกฎหมายให้ทันกับเทคโนโลยี

ส่วนข้อกังวล-ทางออกของการไม่มี ส.ว. ข้อแรก เพิ่มบทบาทผู้เชี่ยวชาญภาควิชาชีพในคณะกรรมาธิการ ข้อสอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเป็นตัวแทนและนำไปสู่การกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง

ข้อที่สาม การเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ มาตรการปกป้องคนกล้าเปิดโปง เพิ่มสิทธิให้ประชาชนยื่นญัตติเสนอ-ถอดถอนกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อแก้ปัญหาการถ่วงดุลกับ ส.ส. ท้ายสุดอำนาจถ่วงดุลจะตกอยู่กับประชาชน 60 ล้านคนที่พร้อมตรวจสอบการทำงานรัฐบาล

ขอคืน 1 สิทธิ 1 เสียง

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญ “ฉบับแก้ยาก” ต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง เพื่อปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การเปิดฉากแก้รัฐธรรมนูญโดยการโละ ส.ว. 250 คน ลดอำนาจสภาสูงที่ “พล.อ.ประยุทธ์” คัดมากับมือ อาจทำให้แพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก เนื้อหาที่ขัดกับคุณค่าประชาธิปไตยและหลัก 1 สิทธิ 1 เสียงมากที่สุด คือ วุฒิสภา หลักประชาธิปไตยที่สำคัญ คือ อำนาจและที่มาต้องสอดคล้องกัน

“ประเทศไทยบิดเบือนตรงที่ ส.ว.มีอำนาจมาก ถึงขั้นเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และที่มาไม่ใช่แค่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แม้แต่การแต่งตั้งก็ไม่มีความโปร่งใส ขัดกันแห่งผลประโยชน์”

การ move เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอติม-กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าจะทำให้ผู้มีอำนาจ-ส.ส. และ ส.ว. เล็งเห็นถึงปลายทางว่าจะนำไปสู่กระบวนการฉันทามติของคนทุกฝ่าย ลดความขัดแย้ง โครงสร้างประเทศเป็นประชาธิปไตยและสอดคล้องกับปัญหาใหม่ของโลกอนาคต

“ไอติม” ตระหนักดีว่า พลังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ การเคลื่อนไหวของกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าจึงไม่ใช่เพียงคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 11 ล้านคน แต่รวมถึง 16 ล้านคนที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ไม่ใช่นิวเดม-ไม่ใช่เสื้อแดง

ย้อนกลับไปถึงที่มา-ที่ไปของ “กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า” จากการรวมตัวกันของคนหลากหลายอาชีพ 10-20 คน ซึ่งทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมถึงทหารอาชีพไอติม-อดีตแกนนำกลุ่ม NEWDEM ยืนยันว่า กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ไม่ใช่กลุ่ม NEWDEM เพราะ “กฎเหล็ก” คือ เป็นกลางทางการเมือง-ความหลากหลาย

“คนที่เป็นอดีต NEWDEM มีเพียงผมและนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์”

เหตุผลของไอติม-กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าการเป็น 1 ใน 28 องค์กร-เครือข่ายรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) การเข้าร่วมเพราะอยากเห็นประเทศกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยและอยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“เรื่องรัฐธรรมนูญควรเป็นประเด็นที่ทุกคนควรหยุดยึดติดและสละสีเสื้อได้แล้ว ไม่ว่าคุณจะโหวตพรรคการเมืองใดสามารถมาร่วมกันเพื่อหาฉันทามติได้”

ไม่กลับ ปชป.-พรรคใหม่

นับตั้งแต่ “ไอติม” เดินก้าวเท้าออกจากพรรค-หันหลังให้ประชาธิปัตย์ทันทีที่พรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาชีพนักการเมืองในสายตาของคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเขายังไม่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะกับอนาคตทางการเมืองในสีเสื้อประชาธิปัตย์

“ผมลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคชัดเจนแล้ว เมื่อพรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล เหตุผลแรก อุดมการณ์ของผมกับของพรรคแตกต่างกัน เหตุผลที่สอง การรักษาคำพูดก่อนการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอยู่บนหลักการที่ลึกซึ้งพอที่ทำให้ผมเดินออกมา”

“ท้ายที่สุดต้องเคารพคนที่เลือกเรา เพราะคำพูดที่เราให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง หลังจากวันนั้นผมก็ไม่กลับเข้าพรรคอีกเลย”

“ผมรู้สึกว่า อยู่ร่วมพรรคกันไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองควรจะเป็นพื้นที่รวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่เมื่ออุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ต้องแยกทางกัน ไม่ได้มีปัญหาส่วนบุคคลกับใคร”

คำถามถึงการออกจากพรรคไม่สำคัญเท่าคำตอบจะกลับเข้าประชาธิปัตย์อีกหรือไม่ “ไอติม” ไม่ลังเลที่จะตอบ “ถ้าผมคิดว่าผมจะกลับเข้าไป ผมคงไม่ออกมาตั้งแต่ต้น ไม่มีความคิดที่จะกลับเข้าไป ผมออกจากพรรคโดยที่ไม่มีเจตนาว่าจะกลับเข้าไป”

ส่วนความคิดตั้งพรรคการเมืองใหม่ “ไอติม” คิดอยู่ตลอดเวลา ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ ข้อแรก ต้องสร้างพรรคที่เป็นพลังใหม่ในการเมืองไทยและต้องตั้งพรรคเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เป็นพรรคที่ต้องการมี ส.ส. 1-2 คน

ข้อสอง ต้องมีนโยบายชัดเจนเพื่อพูดถึงปัญหาใหญ่ในอีก 10 ปีข้างหน้าและข้อสาม ก้าวแรกบุคลากรต้องมีอุดมการณ์ตรงกันและต้องมีความเชี่ยวชาญและตัวแทนในหลากหลายมิติ

ส่องนักการเมืองรุ่นใหญ่-เล็ก

“ไอติม” อายุงานการเมือง 1 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวกับประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ ให้เขาประเมินนักการเมืองรุ่นใหญ่-รุ่นเล็กในเชิงหลักการ ทั้ง “ชวน หลีกภัย-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”

เขาเลี่ยงที่จะแตะตัวบุคคลพูดในเชิงมุมมอง-ความกังวลของ “คนรุ่นใหม่” ถึง “คนรุ่นใหญ่” ในสังคมไทย คือ เรื่องช่องว่างของอายุระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เพราะการวิจัย-สถิติการเลือกตั้งทั้งใน-ต่างประเทศสัดส่วนของคนอายุมากที่เลือกพรรคอุดมการณ์อนุรักษนิยมจะสูงกว่าซึ่งเป็นเรื่องปกติ

“แต่ผมมองว่า ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่ความคิดเห็นแตกต่างกันตรงนี้จะนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น ถ้าไม่พยายามจูนความเข้าใจของคนสองรุ่นจะทำให้เพิ่มความแตกแยกในสังคม”

“ไอติม” ยกตัวอย่างสิ่งเล็ก ๆ ที่อาจไม่เล็กและสะท้อนปรากฏการณ์ “บ้านแตก” ในสังคมไทย เช่น เรื่องภาษา ในโลกโซเชียลมีเดียบางทีเวลาคนรุ่นใหม่แสดงความคิดเห็นอะไรและคนรุ่นก่อนไม่เห็นด้วย บางคนอาจจะใช้คำว่า “เด็กเมื่อวานซืน” บ้าง ใช้คำว่า “อ่อนประสบการณ์” บ้าง

กลับกันเวลาคนรุ่นก่อนที่แสดงความเห็นเรื่องอะไรแล้วคนรุ่นใหม่ไม่เห็นด้วย เราจะเห็นคำว่า “ไดโนเสาร์”

“ผมคิดว่า ภาษาแบบนี้ต้องหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้ว ประเทศจะก้าวหน้าได้คนทุกรุ่นต้องไปด้วยกัน บางเรื่องควรเป็นคนรุ่นใหม่ที่ควรลุกขึ้นมานำ แต่ต้องนำพาคนทุกรุ่นไปพร้อมกัน”

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามถึงมุมมองในฐานะ “คนรุ่นใหม่” ต่อบุคคลที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ “ไอติม” เลี่ยงที่จะเจาะจงตัวบุคคล-ตอบในเชิงอุดมการณ์ ว่า มี 2 ปัจจัย หนึ่ง การมีอุดมการณ์ที่หนักแน่น และสอง เสมอต้นเสมอปลาย เช่น มาร์กาเรต แทตเชอร์ และโทนี่ แบลร์

“มาร์กาเรต แทตเชอร์ คงเส้นคงวาและหนักแน่นในอุดมการณ์ และโทนี่ แบลร์ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลในพรรคตัวเองให้พรรคกลับมาเป็นทางเลือก”

“ไม่มีอุดมการณ์ไหนผิดหรือถูก บางคนอาจอยากเห็นประเทศนี้เป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น เป็นเสรีนิยมมากขึ้น เป็นทุนนิยมมากขึ้น แต่ท้ายที่สุด ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องมีอุดมการณ์ชัดเจนและเสมอต้นเสมอปลาย แทบจะเดาออกเลยว่า ผู้นำคนนี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับปัญหานี้”

“แต่บางคน ผมไม่ขอเอ่ยชื่อ พลังจะหายทันทีเมื่อเขาผิดคำพูด ความไม่คงเส้นคงวาทำให้คนขาดความมั่นใจ”

นักการเมืองต้นแบบ

“ไอติม” ดึงข้อดีของนักการเมืองไทยมาเป็นต้นแบบ role model

“คุณอภิสิทธิ์ เป็นคนที่มีความรู้รอบด้าน รู้ลึกและรู้ลึกซึ้ง คุณชวน แสดงให้เห็นว่าการเป็นนักการเมืองไม่ได้เป็นอาชีพที่จะต้องโก้หรู ไม่ควรได้สิทธิพิเศษนอกเหนือจากอาชีพอื่น”

“คุณชัชชาติ ทำให้เห็นว่า การทำงานการเมืองเชิงบวกเป็นไปได้และไม่มีใครสงสัยในจุดยืน คุณธนาธรชัดเจนในอุดมการณ์ เสมอต้นเสมอปลาย”

ในฐานะคนรุ่นใหม่ “ไอติม” เป็นกระจกส่องธนาธร 1 ปีที่ผ่านมา ว่า เป็นปรากฏการณ์การทำให้คนรุ่นใหม่สนใจและตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น